คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3627/2524

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้โจทก์จะเป็นลูกจ้างพิเศษหรือคนงานจร ทำงานแทนคนงานประจำ แต่เมื่อได้ความว่า ลูกจ้างพิเศษต้องมาทำงานทุกวันสัปดาห์ละ 6 วัน หยุดวันอาทิตย์เช่นเดียวกับลูกจ้างประจำบางวันก็ต้องทำงานล่วงเวลา ประกอบกับเวลาทำงานก็ต้องลงชื่อในสมุดลงเวลาทำงานทุกคน เมื่อมาทำงานได้รับเลี้ยงอาหารกลางวันและมีสิทธิได้รับการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลของจำเลยเช่นเดียวกับลูกจ้างประจำดังนี้ วัตถุประสงค์ที่จ้างก็เพื่อจ้างไว้ทำงานอันมีลักษณะงานเป็นงานประจำนั่นเอง โจทก์จึงเป็นลูกจ้างประจำตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้จ้างโจทก์ทั้ง ๙๕ คนเป็นลูกจ้างประจำของจำเลยเมื่อวันที่ ๒๖ ธันวาคม ๒๕๒๒ จำเลยได้เลิกจ้างโจทก์ทั้ง ๙๕ คน อ้างว่าจำเลยหมดสัญญาเช่ากับกระทรวงอุตสาหกรรมจำเลยไม่จ่ายค่าชดเชยให้โจทก์ตามกฎหมาย ขอให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์ทั้ง ๙๕ คน
จำเลยให้การว่า โจทก์มิได้เป็นลูกจ้างหรือคนงานซึ่งจำเลยจ้างไว้เป็นการประจำ แต่เป็นการจ้างชั่วคราวเพื่อทำงานแทนลูกจ้างหรือคนงานประจำของจำเลยที่ลากิจหรือลาป่วยเป็นครั้งคราวตามความจำเป็น กำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอนและเลิกจ้างตามกำหนดเวลานั้น ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์ ๓๙ คน และยกฟ้องโจทก์อื่น
โจทก์ที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ และจำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า แม้ตามข้อนำสืบของโจทก์และจำเลยจะฟังได้ว่า การจ้างโจทก์ทำงาน จำเลยมีวิธีการแตกต่างไปจากการจ้างลูกจ้างประจำทั่วไปกล่าวคือไม่มีการเขียนใบสมัครพร้อมแสดงหลักฐานต่าง ๆ ในการเข้าทำงาน ไม่ได้ทำสัญญาจ้างเมื่อจะให้โจทก์ทำงานก็ไม่มีคำสั่งให้ทำงานในตำแหน่งใด อัตราเงินเดือนเท่าใด หลังจากทำงานแล้วไม่ได้รับค่าครองชีพ ค่าเล่าเรียนบุตรก็เบิกไม่ได้ ไม่ได้รับเงินโบนัสหรือบำเหน็จ ไม่มีวันหยุดตามประเพณี ลากิจ หรือลาป่วยก็ไม่ได้ค่าจ้าง ต่างไปจากที่จำเลยปฏิบัติต่อลูกจ้างประจำก็ตาม แต่ก็หาใช่สิ่งที่จะชี้แสดงว่าโจทก์ไม่ใช่ลูกจ้างประจำไม่การที่จะวินิจฉัยว่าโจทก์เป็นลูกจ้างประจำหรือไม่นั้น จะต้องวินิจฉัยถึงความสัมพันธ์ระหว่างโจทก์จำเลย ว่ามีลักษณะเป็นไปตามคำนิยามคำว่า “ลูกจ้างประจำ” หรือไม่ ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ ๑๖ เมษายน ๒๕๑๕ ได้ให้คำนิยามคำว่า “ลูกจ้างประจำ” ไว้หมายความว่าลูกจ้างซึ่งนายจ้างตกลงจ้างไว้เป็นการประจำ แม้โจทก์จำเลยจะนำสืบตรงกันว่า จำเลยจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างพิเศษหรือที่เรียกว่าคนงานจรทำงานแทนคนงานประจำที่ไม่มาทำงานในแต่ละวันไม่ว่าด้วยเหตุใด ๆ หรือทำงานแทนคนงานประจำที่ขาดอัตราไป แต่ก็ได้ความว่าลูกจ้างพิเศษต้องมาทำงานทุกวัน สัปดาห์ละ ๖ วันหยุดวันอาทิตย์เช่นเดียวกับลูกจ้างประจำ บางวันก็ต้องทำงานล่วงเวลา เนื่องจากบริษัทจำเลยมีงานต้องใช้คนงานมาก คนงานจ้างพิเศษของหน่วยบรรจุสุราหากมาทำงานก็ได้ทำทุกวัน คนงานของหน่วยล้างขวดทุกคนต้องมาทำงานทุกวัน ประกอบทั้งเวลาทำงานก็ต้องลงชื่อในสมุดลงเวลาทำงานทุกคน เมื่อมาทำงานได้รับเลี้ยงอาหารกลางวันและมีสิทธิได้รับการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลของจำเลยเช่นเดียวกับลูกจ้างประจำ วัตถุประสงค์ที่จ้างก็จ้างไว้ทำงานเป็นประจำนั่นเอง ที่จำเลยอ้างว่าการจ้างลูกจ้างพิเศษทำงานขึ้นอยู่กับการผลิตมากน้อยในแต่ละวันซึ่งไม่แน่นอนนั้น เห็นว่าจำเลยนำสืบให้ศาลเห็นไม่ได้ในข้อนี้ตลอดจนจำนวนคนงานที่ต้องลดลงมีโจทก์คนใดบ้างหรือไม่ที่ต้องหยุดงานเพราะเหตุที่ว่านี้ กลับได้ความว่างานบรรจุและล้างขวด งานปิดฉลาก งานยกสุราหรือขนของที่โจทก์ทำงานอยู่เป็นงานที่ต้องทำเป็นประจำทุกวันต่อเนื่องกันตลอดปีจะขาดเสียมิได้ การทำงานของโจทก์ขึ้นตรงต่อแผนกที่ตนทำอยู่ ลักษณะเป็นงานประจำ ส่วนที่จำเลยอ้างว่าลูกจ้างพิเศษไม่ได้ทำงานครบทุกคนต้องสับเปลี่ยนหมุนเวียนกันหยุดนั้น เห็นว่างานที่ทำมีประจำให้ทุกวันติดต่อกัน แม้จะหมุนเวียนกันหยุด ก็ต้องมาทำงานตามกำหนดเวลาสับเปลี่ยนหมุนเวียนกันนั้น มิใช่งานกระทำชั่วคราวแล้วหยุดเลิกขาดตอนไปนาน ๆ ดังนี้จึงถือได้ว่าโจทก์ทุกคนเป็นลูกจ้างประจำตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน จะมีก็แต่เพียงสิทธิที่ได้รับเพราะการทำงานเท่านั้น ไม่เท่ากับลูกจ้างประจำ แต่ก็เป็นเรื่องระเบียบภายในของจำเลยเองที่จะกำหนดหลักเกณฑ์ขึ้น ฉะนั้น เมื่อโจทก์ทุกคนมีฐานะเป็นลูกจ้างประจำจึงมีสิทธิที่จะได้รับค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานที่ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์ ๕๖ คนนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์ทั้ง ๕๖ คน

Share