แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เมื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของบริษัท ก. โจทก์ให้จำเลยที่ 1 เช่าโรงงานต้องถือว่าบริษัท ก. เลิกประกอบกิจการโรงงานในวันที่ให้เช่า ตามพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2512 มาตรา 31 วรรคหนึ่ง ซึ่งใช้บังคับในขณะนั้น และในวันเดียวกันนั้นใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานของบริษัท ก. ก็เป็นอันสิ้นอายุลง ตามพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2512 มาตรา 16 เช่นกัน การต่ออายุใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานต้องกระทำโดยผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานและต้องทำการก่อนวันที่ใบอนุญาตสิ้นอายุตามพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2512 มาตรา 17 วรรคหนึ่ง แต่ตามสัญญาเช่ากำหนดให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้ดำเนินการขอต่อใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานในนามของบริษัท ก. และใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานของบริษัท ก. สิ้นอายุลงแล้วในวันทำสัญญาเช่าจำเลยที่ 1 จึงไม่อาจปฏิบัติตามสัญญาเช่าดังกล่าวได้ เพราะขัดต่อบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว ข้อสัญญาเช่าจึงมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายย่อมเป็นโมฆะ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 ทำให้สัญญาเช่าเฉพาะข้อ 8 ตกเป็นโมฆะทั้งสิ้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 173 จำเลยที่ 1 จึงไม่ผิดสัญญา
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของบริษัท ก. ทำสัญญาให้จำเลยที่ 1 เช่าทรัพย์สินของ ก. โดยมีจำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกัน จำเลยที่ 1 ผิดสัญญาเช่า ขอให้บังคับจำเลย จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินจำนวน 50,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่2 มีนาคม 2533 จนถึงวันฟ้องเป็นเงิน 15,154,109.59 บาท และนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1 มิได้ผิดสัญญา เพราะจำเลยที่ 1 ได้ดำเนินการขอต่ออายุใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานและใบอนุญาตประกอบรถยนต์นั่งในนามบริษัทกรรณสูต เจเนอรัล แอสเซมบลี จำกัด แล้ว แต่ไม่สามารถกระทำได้ เพราะตามพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2512 มาตรา 31 กำหนดว่า หากมีการให้เช่าโรงงานให้ถือว่า ผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานเลิกประกอบกิจการโรงงานตั้งแต่วันที่ให้เช่า นอกจากนี้ในการประกอบรถยนต์จำเลยที่ 1 ต้องอาศัยสิทธิของบริษัทกรรณสูต เจเนอรัลแอสเซมบลี จำกัด นำเข้าชิ้นส่วน ซี เค ดี จากต่างประเทศ แต่เมื่อตามกฎหมายให้ถือว่าบริษัทกรรณสูต เจเนอรัล แอสเซมบลี จำกัด เลิกประกอบกิจการโรงงานแล้ว จำเลยที่ 1 จึงไม่สามารถจัดหาและนำเข้าชิ้นส่วน ซี เค ดี ได้ โจทก์ไม่ได้รับความเสียหายและไม่เคยมีหนังสือทวงถามให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าเสียหายแต่อย่างใด ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมเพราะไม่บรรยายให้ชัดแจ้งว่า จำเลยที่ 1 ผิดสัญญาในเรื่องอะไร และจำเลยที่ 1 ทำให้โจทก์เสียหายอย่างไร ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ แต่จำเลยที่ 1ไม่ผิดสัญญาและสัญญาเช่า สัญญาข้อ 7 ไม่มีข้อตกลงว่าจำเลยที่ 1 ต้องชำระค่าเสียหายจำนวน 50,000,000 บาท แก่โจทก์ ส่วนสัญญาข้อ 8 จำเลยที่ 1 ไม่สามารถดำเนินการได้เพราะข้อสัญญาขัดต่อพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2512 มาตรา 31 โจทก์ไม่เคยมีหนังสือทวงถาม จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยแล้ว ข้อเท็จจริงฟังยุติว่า บริษัทกรรณสูต เจเนอรัล แอสเซมบลีจำกัด เป็นผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานและเป็นเจ้าของที่ดินอาคารโรงงานและเครื่องจักรซึ่งตั้งอยู่ที่เลขที่ ก – 27 – 36 การนิคมอุตสาหกรรมบางชัน ถนนสุขาภิบาล 2 แขวงมีนบุรี เขตมีนบุรี กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2530 บริษัทกรรณสูต เจเนอรัล แอสเซมบลี จำกัด ถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด ตามหมายแจ้งคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดเอกสารหมาย จ.1 อำนาจในการจัดการทรัพย์สินจึงอยู่ในอำนาจของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 ต่อมาวันที่ 18 พฤศจิกายน 2531 เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของบริษัทกรรณสูต เจเนอรัล แอสเซมบลีจำกัด ให้จำเลยที่ 1 เช่าทรัพย์ของบริษัทกรรณสูต เจเนอรัล แอสเซมบลี จำกัด ดังกล่าวตามสัญญาเช่าเอกสารหมาย จ.5 จำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันการชำระค่าเช่าและค่าเสียหายที่จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดตามสัญญาเช่าต่อโจทก์ ตามหนังสือสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.8 สัญญาเช่าเอกสารหมาย จ.5 ข้อ 8 กำหนดให้จำเลยที่ 1 ดำเนินการต่ออายุใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานและใบอนุญาตประกอบรถยนต์นั่งในนามของบริษัทกรรณสูต เจเนอรัล แอสเซมบลี จำกัด แต่จำเลยที่ 1 ไม่สามารถดำเนินการได้ตามสัญญา
มีปัญหาข้อกฎหมายวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการเดียวว่า จำเลยที่ 1 ผิดสัญญาเช่า เอกสารหมาย จ.5 ข้อ 8 และจำเลยทั้งสองต้องชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์หรือไม่ เห็นว่า เมื่อโจทก์ให้จำเลยที่ 1 เช่าโรงงานต้องถือว่าบริษัทกรรณสูต เจเนอรัล แอสเซมบลี จำกัด เลิกประกอบกิจการโรงงานในวันที่ให้เช่าคือวันที่ 18 พฤศจิกายน 2531ตามพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2512 มาตรา 31 วรรคหนึ่ง ซึ่งใช้บังคับในขณะนั้น และในวันเดียวกันนั้นใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานของบริษัทกรรณสูต เจเนอรัลแอสเซมบลี จำกัด ก็เป็นอันสิ้นอายุลง ตามพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2512 มาตรา 16 การต่ออายุใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานต้องกระทำโดยผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานและต้องทำการก่อนวันที่ใบอนุญาตสิ้นอายุ ตามพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2512 มาตรา 17 วรรคหนึ่ง แต่สัญญาเช่าเอกสารหมาย จ.5 ข้อ 8 กำหนดให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้ดำเนินการขอต่อใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานในนามของบริษัทกรรณสูตเจเนอรัล แอสเซมบลี จำกัด และใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานของบริษัทกรรณสูตเจเนอรัล แอสเซมบลี จำกัด สิ้นอายุลงแล้วในวันทำสัญญาเช่าเอกสารหมาย จ.5 จำเลยที่ 1 จึงไม่อาจปฏิบัติตามสัญญาเช่าดังกล่าวได้ เพราะขัดต่อบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว ข้อสัญญาเช่าตามเอกสารหมาย จ.5 ข้อ 8 จึงมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายย่อมเป็นโมฆะ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150ทำให้สัญญาเช่าเอกสารหมาย จ.5 เฉพาะข้อ 8 ตกเป็นโมฆะทั้งสิ้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 173 จำเลยที่ 1 จึงไม่ผิดสัญญา จำเลยทั้งสองไม่ต้องชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ