แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ป. กู้เบิกเงินเกินบัญชีจากธนาคารโจทก์ร่วม โดยจำนองที่ดิน 7 แปลงเป็นประกันหนี้ และจำนำพืชไร่กับโจทก์ร่วมโดยออกตั๋วสัญญาใช้เงินให้ไว้ ต่อมา ป. ถึงแก่ความตาย จำเลยซึ่งเป็นภรรยา ป. จึงเข้าดำเนินกิจการค้าแทนและได้รับแต่งตั้งจากศาลให้เป็นผู้จัดการมรดกของ ป. โจทก์ร่วมทวงถามหนี้และบอกกล่าวบังคับจำนองกับจำเลย ต่อมาจำเลยโอนขายที่ดินซึ่งจำนอง 2 แปลงให้บุคคลภายนอก และโอนทะเบียนรถยนต์จากชื่อ ป. เป็นชื่อห้างหุ้นส่วนซึ่ง ป. เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ ดังนี้ การที่จำเลยขายที่ดิน 2 แปลง โดยอ้างว่าเพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนทำธุรกิจการค้าเพื่อใช้หนี้ของ ป. และใช้เป็นทุนเลี้ยงดูบุตรของ ป.4 คน นับว่ามีเหตุผลสมควร ทั้งโจทก์ก็ยังมิได้บังคับชำระหนี้จากที่ดินจำนอง จึงยังไม่แน่ชัดว่าไม่เพียงพอชำระหนี้หรือไม่ สำหรับรถยนต์แม้จะโอนทะเบียนเป็นชื่อห้างหุ้นส่วน โจทก์ร่วมก็สามารถบังคับคดีได้ตลอดเวลา นอกจากนี้จำเลยเคยติดต่อให้โจทก์ร่วมขายพืชไร่ที่ ป. จำนำและโอนขายหุ้นของ ป. เพื่อชำระหนี้ แสดงว่าจำเลยมีความสนใจและตั้งใจชำระหนี้ ดังนั้นพฤติการณ์ของจำเลยยังไม่พอฟังว่ามีเจตนาโอนทรัพย์ให้ผู้อื่นเพื่อไม่ให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือบางส่วน จึงไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 350
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 350, 91พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 6)พ.ศ. 2526 มาตรา 4 จำเลยให้การปฏิเสธ ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ โจทก์และโจทก์ร่วมอุทธรณ์ โดยผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงศาลอุทธรณ์พิพากษากลับว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 350 ให้เรียงกระทงลงโทษทุกกรรมที่เป็นกระทงความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จำคุกกระทงละ 6 เดือน รวม 2 กระทงจำคุก 1 ปี จำเลยฎีกา
“ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่า เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2526 นายประชา นิยมสันติได้ทำหนังสือสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีกับโจทก์ร่วมในวงเงินไม่เกิน 5,500,000 บาท ในการกู้เบิกเงินเกินบัญชีดังกล่าวนี้นายประชาได้นำที่ดินมาจำนองเป็นประกันรวม 7 แปลง ราคาประเมินของที่ดินดังกล่าวเมื่อปี พ.ศ. 2519 ประมาณ 7 ล้านบาท และเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2527 นายประชาได้นำสินค้าพืชไร่มาจำนำไว้กับโจทก์ร่วมในวงเงินประมาณ 6 ล้านบาท โดยนายประชาได้ออกตั๋วสัญญาใช้เงินให้โจทก์ร่วมยึดถือไว้ ต่อมาเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม2527 นายประชาถึงแก่ความตาย ขณะนั้นนายประชาเป็นหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี 5,200,000 บาทเศษ และเป็นหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงิน 6,960,000 บาท นางสุมาลีภรรยานายประชาได้ติดต่อให้โจทก์ร่วมจำหน่ายสินค้าพืชไร่ที่นายประชานำไปจำนำโจทก์ร่วมไว้เพื่อนำเงินมาชำระหนี้ เมื่อจำหน่ายแล้วโจทก์ร่วมได้นำมาหักหนี้คงเหลือหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินประมาณ 4,700,000 บาท ครั้นเมื่อเดือนมีนาคม 2528 จำเลยได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการมรดกของนายประชา โจทก์ร่วมจึงมีหนังสือทวงถามให้จำเลยชำระหนี้และบอกกล่าวบังคับจำนองไปยังจำเลย จำเลยได้รับหนังสือดังกล่าวแล้วเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2528 แต่จำเลยไม่ได้ชำระหนี้ทั้งหมดให้แก่โจทก์ร่วม ครั้นเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2528 โจทก์ร่วมจึงฟ้องจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของนายประชาเป็นจำเลยที่ 1 นางสุมาลีเป็นจำเลยที่ 2 และจำเลยในฐานะส่วนตัวเป็นจำเลยที่ 3 ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามชำระหนี้ให้แก่โจทก์ร่วมจำนวน 10,747,117.47บาท โดยให้จำเลยนี้ร่วมรับผิดในวงเงิน 5,709,785.61 บาท ดังปรากฏรายละเอียดตามสำเนาคำพิพากษาของศาลดังกล่าว ฉบับลงวันที่ 24มีนาคม 2529 เอกสารหมาย จ.11 หลังจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาแล้วโจทก์ร่วมได้ตรวจสอบทรัพย์สินของนายประชาปรากฏว่าเมื่อวันที่23 พฤษภาคม 2528 จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของนายประชาได้โอนขายที่ดินโฉนดเลขที่ 905 และ 943 ตำบลน้ำอ้อม อำเภอกันทรลักษ์จังหวัดศรีสะเกษ ของนายประชาให้แก่นางสาวกัลยา ชุติทินในราคา 270,000 บาท และเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2529 จำเลยได้โอนรถยนต์บรรทุกสิบล้อคันหมายเลขทะเบียน 80-0772 ศรีสะเกษ ของนายประชาให้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัดเจริญผลธัญญกิจ ในราคา 50,000บาท จำเลยและนางสุมาลีเป็นภรรยาของนายประชาทั้งสองคน ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยมีว่าจำเลยได้กระทำความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ตามฟ้องโจทก์หรือไม่ ได้ความจากคำเบิกความของนายสิทธิพร มหาสวัสดิ์และนายอุทิศ พินิจคุร พยานโจทก์และโจทก์ร่วมว่า เมื่อนายประชาลูกหนี้ของโจทก์ร่วมถึงแก่ความตายแล้ว ทั้งจำเลยและนางสุมาลีภรรยานายประชาได้ดำเนินกิจการค้าพืชไร่ในนามของห้างหุ้นส่วนจำกัดเจริญผลธัญญกิจ ซึ่งนายประชาเคยเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการตลอดมา แต่ทางโจทก์ร่วมไม่ได้ปล่อยสินเชื่อให้แก่จำเลยและนางสุมาลีเพื่อดำเนินกิจการดังกล่าวแต่อย่างใดอีก นางสุมาลีได้ติดต่อให้โจทก์ร่วมขายพืชไร่ที่นายประชานำไปจำนำไว้เพื่อนำมาหักหนี้ที่นายประชาเป็นหนี้โจทก์ร่วมอยู่ ส่วนจำเลยก็เคยเสนอขอให้นายอุทิศผู้จัดการสาขากันทรลักษ์ของโจทก์ร่วมขายหุ้นของนายประชาในธนาคารโจทก์ร่วมจำนวน 546 หุ้น เพื่อนำมาชำระหนี้ให้แก่โจทก์ร่วมเช่นกัน จากคำเบิกความของพยานโจทก์ทั้งสองดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า ทั้งจำเลยและนางสุมาลีต่างมีความสนใจและตั้งใจที่จะชำระหนี้ของนายประชาให้แก่โจทก์ร่วมอยู่เสมอมาทั้งสองคน และการที่จำเลยและนางสุมาลีดำเนินกิจการค้าพืชไร่อยู่โดยที่โจทก์ร่วมไม่ยอมปล่อยสินเชื่อให้แก่บุคคลทั้งสองดังเช่นที่เคยปล่อยสินเชื่อให้แก่นายประชาขณะที่นายประชายังมีชีวิตอยู่นั้น อาจทำให้บุคคลทั้งสองเกิดข้อขัดข้องในการใช้เงินเป็นทุนหมุนเวียนในการดำเนินกิจการที่บุคคลทั้งสองกำลังดำเนินอยู่ก็ย่อมเป็นได้ ดังนั้นการที่จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของนายประชาอ้างว่าได้ขายที่ดินตามฟ้องโจทก์ไปจำนวน 2 แปลง เพื่อนำไปใช้เป็นทุนหมุนเวียนในการทำธุรกิจการค้า ใช้หนี้ตามเช็คที่นายประชาเคยสั่งจ่ายไว้ และเพื่อนำไปใช้จ่ายในการเลี้ยงดูบุตรของนายประชาจำนวน 4 คน ก็นับได้ว่ามีเหตุผลอันควรรับฟังเป็นอย่างยิ่ง นอกจากนี้ข้อเท็จจริงยังได้ความว่าโจทก์ร่วมยังมีที่ดินที่นายประชานำมาจำนองเป็นประกันหนี้สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีอยู่ถึง 7 แปลงโดยราคาประเมินเมื่อปี พ.ศ. 2519 มีจำนวนถึง 7 ล้านบาท ซึ่งโจทก์ร่วมยังมิได้ดำเนินการบังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินดังกล่าวแต่อย่างใด กรณีจึงยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าทรัพย์สินดังกล่าวมีมูลค่าพอที่จะนำมาชำระหนี้ให้แก่โจทก์ร่วมได้ครบถ้วนหรือไม่ส่วนรถยนต์บรรทุกสิบล้อตามฟ้องนั้น ก็ได้ความจากพยานโจทก์และโจทก์ร่วมว่า จำเลยได้โอนชื่อในทะเบียนจากชื่อนายประชาผู้ตายมาเป็นของห้างหุ้นส่วนจำกัดเจริญผลธัญญกิจ ซึ่งนายประชาเคยเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการอยู่ก่อนตาย และมีจำเลยและนางสุมาลีเป็นหุ้นส่วนร่วมอยู่ด้วย ซึ่งกรณีเช่นนี้โจทก์ร่วมย่อมมีสิทธิติดตามบังคับคดีเอาแก่รถยนต์บรรทุกสิบล้อคันดังกล่าวได้อยู่แล้วพฤติการณ์ของจำเลยดังกล่าวยังไม่พอที่จะให้รับฟังได้ว่าจำเลยมีเจตนาโอนทรัพย์สินตามฟ้องไปให้แก่ผู้อื่นโดยเจตนาเพื่อมิให้โจทก์ร่วมซึ่งเป็นเจ้าหนี้ของนายประชาได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนแต่อย่างใด จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ตามฟ้อง ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังขึ้น และเมื่อศาลฎีกาวินิจฉัยดังนี้แล้วก็ไม่จำเป็นที่จะต้องวินิจฉัยฎีกาข้ออื่นของจำเลยอีก”
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์