แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตาม พ.ร.บ. อาคารชุด พ.ศ. 2522 มิได้กำหนดเวลาร้องขอให้ศาลเพิกถอนมติของที่ประชุมใหญ่เจ้าของร่วม อันผิดระเบียบไว้ เหตุนี้จำต้องวินิจฉัยคดีอาศัยเทียบเคียงกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 4 ในกรณีนี้ได้แก่ ป.พ.พ. มาตรา 1195 ที่ให้การร้องขอให้ศาลเพิกถอนมติของที่ประชุมใหญ่อันผิดระเบียบนั้นต้องร้องขอภายในกำหนดเดือนหนึ่งนับแต่วันลงมตินั้น ซึ่งสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของกฎหมายที่ต้องการให้การจัดการนิติบุคคลอาคารชุดเป็นไปได้โดยรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพตรงตามความประสงค์ของเจ้าของร่วมทั้งหลาย ทั้งกำหนดเวลาดังกล่าวมิใช่กำหนดอายุความที่ใช้บังคับแก่สิทธิเรียกร้อง จะนำกำหนดอายุความทั่วไปสิบปีมาใช้แก่คดีนี้มิได้
ย่อยาว
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้มีคำสั่งเพิกถอนการประชุมเจ้าของร่วมอาคารชุดพัทยาทาวเวอร์ในวันที่ 21 ธันวาคม 2537 และวันที่ 5 มกราคม 2538
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่า คำร้องของผู้ร้องยื่นเกินกำหนดเวลา 1 เดือน นับแต่วันประชุมใหญ่หรือวันลงมติ ขอให้ยกคำร้อง
ผู้คัดค้านขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นยกคำร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คงมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยข้อกฎหมาย ตามฎีกาของผู้ร้องเพียงประเด็นเดียวว่า การยื่นคำร้องขอให้ศาลเพิกถอนมติของที่ประชุมใหญ่เจ้าของร่วม ซึ่งผู้ร้องอ้างว่าผิดระเบียบนั้น เกินกำหนดเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้หรือไม่ เห็นว่าตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ. 2522 มิได้กำหนดเวลาร้องขอให้ศาลเพิกถอนมติของที่ประชุมใหญ่เจ้าของร่วมอันผิดระเบียบไว้ แต่อย่างไรก็ดี พ.ร.บ.ดังกล่าวได้บัญญัติการจัดตั้งนิติบุคคลอาคารชุด และผู้จัดการพร้อมทั้งกำหนดให้มีคณะกรรมการควบคุมการจัดการนิติบุคคลอาคารชุด ซึ่งประกอบด้วยกรรมการที่ได้รับแต่งตั้งโดยมติของที่ประชุมใหญ่เจ้าของร่วม อันมีลักษณะคล้ายคลึงกับวิธีจัดการบริษัทจำกัด เหตุนี้เมื่อ พ.ร.บ. อาคารชุด พ.ศ. 2522 ไม่มีบทบัญญัติที่ว่าด้วยกำหนดระยะเวลาร้องขอให้ศาลเพิกถอนมติของที่ประชุมใหญ่อันผิดระเบียบมาปรับแก่คดีได้ จึงต้องวินิจฉัยคดีอาศัยเทียบบทกฎหมายใกล้เคียงอย่างยิ่ง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 4 ซึ่งกรณีนี้ ได้แก่ มาตรา 1195 แห่ง ป.พ.พ. ที่บัญญัติให้การร้องขอให้ศาลเพิกถอนมติของที่ประชุมใหญ่อันผิดระเบียบนั้นต้องร้องขอภายในกำหนดเดือนหนึ่งนับแต่วันลงมตินั้น ซึ่งสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของกฎหมายที่ต้องการให้การจัดการนิติบุคคลอาคารชุดเป็นไปโดยรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพตรงตามความประสงค์ของเจ้าของร่วมทั้งหลาย ทั้งกำหนดเวลาดังกล่าวมิใช่กำหนดอายุความที่ใช้บังคับแก่สิทธิเรียกร้อง แม้ศาลชั้นต้นจะใช้คำว่า “อายุความ” ในประเด็นที่กำหนดไว้ก็ตาม เหตุนี้จึงจะนำกำหนดอายุความทั่วไปสิบปี มาใช้ปรับแก่คดีนี้ดังที่ผู้ร้องฎีกากล่าวอ้างมิได้
พิพากษายืน