แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
โจทก์จำเลยจดทะเบียนหย่า แต่ยังคงอยู่ร่วมเรือนเดียวกันและร่วมกันสร้างเรือนพิพาทอยู่ด้วยกันอีก 1 หลัง ปรับปรุงที่พิพาททำเป็นนาขุดบ่อเลี้ยงปลา ปลูกต้นผลอาสินเยี่ยงสามีภรรยา ต่างฝ่ายไม่มีคู่ครองใหม่พฤติการณ์ดังนี้แสดงว่าการจดทะเบียนหย่าก็โดยเจตนาไม่ประสงค์จะให้มีผลผูกพันกัน จึงใช้บังคับกันไม่ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 118 ทั้งคู่ยังคงเป็นสามีภรรยากันตลอดมา โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่ดินและเรือนพิพาทไม่ได้
ย่อยาว
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยออกไปจากเรือนเลขที่ 80 ซึ่งปลูกสร้างลงในที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ โดยให้โจทก์ชำระค่าเรือนและค่าราคาที่ดินเพิ่มขึ้นรวมเป็นเงิน 52,500 บาทแก่จำเลยศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ และยกฟ้องแย้งจำเลย โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ทางพิจารณาได้ความจากพยานหลักฐานโจทก์และจำเลยว่า เมื่อ พ.ศ. 2506 โจทก์กับจำเลยจดทะเบียนสมรสมีบุตรด้วยกัน 3 คน โจทก์จำเลยมีสินบริคณห์เป็นที่ดินนา 2 แปลง ที่ดินสวนยางพารา 2 แปลง และที่ดินปลูกเรือน 1 แปลง พร้อมด้วยเรือน 1 หลัง อยู่หมู่ที่ 4 ตำบลเขาวิเศษ อำเภอสิเกา จังหวัดตรัง และที่ดินสวนยางเนื้อที่ 30 ไร่อยู่หมู่ที่ 2 ตำบลเขาวิเศษ อำเภอสิเกา จังหวัดตรัง ครั้นวันที่ 18 ธันวาคม 2515โจทก์กับจำเลยจดทะเบียนหย่ากัน ณ ที่ว่าการอำเภอสิเกา จังหวัดตรัง และตกลงบันทึกเกี่ยวกับทรัพย์สินและบุตรไว้ด้านหลังทะเบียนการหย่าว่า ให้โจทก์เป็นผู้อุปการะบุตรทั้งสาม ทรัพย์สินได้มาระหว่างสมรสคือที่ดิน 5 แปลง และเรือน 1 หลังอยู่หมู่ที่ 4 ตำบลสิเกา จังหวัดตรัง ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของบุตรทั้งสามระหว่างบุตรทั้งสามยังไม่บรรลุนิติภาวะให้จำเลยเป็นผู้ปกครองใช้ประโยชน์ได้ทุกประการ ส่วนที่ดินสวนยางอยู่หมู่ที่ 2 ตำบลเขาวิเศษ อำเภอสิเกา จังหวัดตรังให้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ผู้เดียวตามทะเบียนการหย่าเอกสารหมาย จ.1ที่ดินแปลงนี้เองที่ซื้อจากนางประคอง สุริดัง แต่ไม่ยอมโอนให้ โจทก์จึงฟ้องบังคับให้โอน ต่อมาโจทก์จำเลยได้ร่วมกันสร้างเรือนเลขที่ 80 ในที่ดินอยู่หมู่ที่ 2ตำบลเขาวิเศษ อำเภอสิเกา จังหวัดตรัง โจทก์จำเลยและบุตรอยู่ในเรือนดังกล่าวนี้ตลอดมาซึ่งทะเบียนบ้านเลขที่ 80 ก็ระบุชื่อคนอยู่อาศัยเช่นนั้น ตามสำเนาทะเบียนบ้านเลขที่ 80 เอกสารหมาย ล.5 โจทก์และจำเลยร่วมกันก่อสร้างที่ดินดังกล่าวทำเป็นนา ขุดบ่อเลี้ยงปลาและปลูกต้นผลอาสิน อนึ่งไม่ปรากฏว่าก่อนโจทก์จำเลยจดทะเบียนหย่าได้ทะเลาะกัน แม้แต่ทะเลาะกับญาติพี่น้องก็ไม่มี โจทก์นำสืบอ้างว่าการจดทะเบียนหย่าระหว่างโจทก์จำเลยเป็นไปด้วยความสมัครใจทั้งสองฝ่ายสมบูรณ์ตามกฎหมาย การปลูกเรือนเลขที่ 80 และก่อสร้างที่ดินทำเป็นนา ขุดบ่อเลี้ยงปลา ปลูกต้นผลอาสินในที่พิพาทด้วยพูนทรัพย์ของโจทก์แต่ผู้เดียว จำเลยสืบโต้แย้งว่าการจดทะเบียนสมรสระหว่างโจทก์จำเลยเพื่อลวงบุคคลอื่นเป็นโมฆะ จำเลยออกทุนร่วมก่อสร้างเรือนเลขที่ 80 ก่อสร้างที่ดินทำเป็นนา ขุดบ่อเลี้ยงปลา ปลูกต้นผลอาสินในที่พิพาทกับโจทก์ด้วย
พิเคราะห์แล้ว ที่โจทก์ฎีกาว่าการจดทะเบียนหย่าระหว่างโจทก์จำเลยสมบูรณ์ตามกฎหมายนั้น ได้ความจากคำของโจทก์ว่าโจทก์กับจำเลยได้ไปแจ้งให้นายหมี ศรีจันทร์ทอง กำนันท้องที่ทราบถึงเรื่องการหย่าและแบ่งทรัพย์สินตลอดการปกครองบุตร แล้วพากันไปจดทะเบียนหย่า ณ ที่ว่าการอำเภอสิเกาจังหวัดตรัง ด้วยความสมัครใจทั้งสองฝ่ายโดยนายโกวิท สุวรรณพะโยม ปลัดอำเภอ และนางฤดี ชูสุวรรณ นายทะเบียน ต่างลงชื่อเป็นพยานและนายทะเบียนตามลำดับ ในทะเบียนการหย่าตามเอกสารหมาย จ.1 เมื่อหย่ากันแล้วจำเลยไป ๆ มา ๆ ที่เรือนเลขที่ 80 ที่โจทก์ปลูกขึ้นเอง ครั้น พ.ศ. 2521 จำเลยได้เข้ามาอยู่อาศัยในเรือนเลขที่ 80 ประจำ โจทก์จึงได้ออกจากเรือนนั้นไป โจทก์มีนายหมี ศรีจันทร์ทอง นายโกวิท สุวรรณพะโยม และนางฤดี ชูสุวรรณ เป็นพยานเบิกความว่าได้ไกล่เกลี่ยไม่ให้โจทก์กับจำเลยหย่ากัน แต่ไม่เป็นผล เห็นว่านายหมีและนายโกวิทกับนางฤดีพยานโจทก์เป็นเพียงพยานบอกเล่าโดยทราบมาจากโจทก์จำเลยว่าจะหย่ากันหากโจทก์จำเลยแสดงเจตนาลวงในการหย่าด้วยสมรู้กันตามที่จำเลยนำสืบแล้วการที่พยานโจทก์ทั้งสามพยายามไกล่เกลี่ยไม่ให้โจทก์จำเลยหย่ากันย่อมเห็นได้ชัดว่า การไกล่เกลี่ยนั้นไม่เป็นผล ฉะนั้นคำพยานโจทก์ทั้งสามไม่ทำให้พยานหลักฐานโจทก์มีน้ำหนักดีขึ้นแต่ประการใดถ้าพิจารณาตามคำเบิกความของนายหมี ศรีจันทร์ทอง พยานโจทก์ตอนตอบทนายจำเลยที่ว่า หลังจากโจทก์จำเลยหย่ากันแล้ว โจทก์ จำเลยกลับอยู่กินร่วมเรือนหลังเดียวกันตามปกติ เรือนหลังพิพาทโจทก์จำเลยเป็นคนสร้าง ชาวบ้านวิจารณ์กันว่าการหย่าของโจทก์จำเลยนั้นเป็นเรื่องโจทก์หลอกจำเลย นอกจากนี้โจทก์เองก็เบิกความรับว่าจำเลยมีที่ดินเป็นสินเดิมอยู่ด้วย แต่ในบันทึกหลังทะเบียนการหย่าเอกสารหมาย จ.1 ระบุเอาสินเดิมของจำเลยรวมเข้าเป็นสินสมรสด้วย และข้อความในบันทึกคงมีแต่โจทก์มีบุตร 3 คนเท่านั้นที่ได้รับทรัพย์สิน จึงเชื่อตามจำเลยนำสืบว่าโจทก์หลอกให้จำเลยลงชื่อในกระดาษไม่มีข้อความ และเวลาให้ถ้อยคำต่อเจ้าหน้าที่ที่จดทะเบียนโจทก์ให้ถ้อยคำเองการที่จำเลยยอมจดทะเบียนหย่าก็เพราะโจทก์บอกว่าโจทก์มีหนี้สินคนอื่นเกรงเจ้าหนี้ฟ้องยึดเอาทรัพย์สินทั้งหมด เช่นนี้เห็นว่า การแบ่งทรัพย์สินตามที่บันทึกไว้ด้านหลังทะเบียนการหย่าเอกสารหมาย จ.1 มีพิรุธว่ามิได้มีการแบ่งกันจริงจัง ก่อนจดทะเบียนหย่าไม่ปรากฏว่าโจทก์จำเลยทะเลาะกันแต่อย่างใดและหลังจดทะเบียนหย่าแล้วโจทก์จำเลยและบุตรยังอยู่ร่วมเรือนเดียวกันตามปกติตลอดมา และได้ร่วมกันสร้างเรือนเลขที่ 80 อยู่อาศัยด้วยกัน ร่วมกันปรับปรุงที่พิพาททำเป็นนา ขุดบ่อเลี้ยงปลา และปลูกต้นผลอาสินเยี่ยงสามีภรรยาทั่ว ๆ ไป ทั้งไม่ปรากฏว่าโจทก์หรือจำเลยจะมีคู่ครองใหม่พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงว่าการจดทะเบียนหย่าระหว่างโจทก์จำเลยก็โดยเจตนาไม่ประสงค์จะให้มีผลผูกพันกัน จึงใช้บังคับกันไม่ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 118 ดังนั้นโจทก์จำเลยจึงเป็นสามีภรรยากันตลอดมา โจทก์จำเลยจำต้องอยู่กินกันฉันสามีภรรยา ตามรูปคดีจึงไม่มีเหตุให้โจทก์มีสิทธิฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่ดินและเรือนพิพาทได้”
พิพากษายืน