แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน ให้จำเลยที่ 2 ชำระเงินแก่โจทก์ทั้งสองจำนวน 290,500 บาท พร้อมดอกเบี้ย จำเลยที่ 2ฎีกาว่า ป. มีส่วนประมาทเลินเล่อด้วย จำเลยที่ 2 จึงรับผิดไม่เกินครึ่งหนึ่งของค่าสินไหมทดแทนทั้งหมด ดังนี้ ฎีกาของจำเลยที่ 2 เป็นการโต้แย้งในข้อเท็จจริงและจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นฎีกาไม่เกินสองแสนบาท จึงเป็นฎีกาที่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 ซึ่งแก้ไขโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง(ฉบับที่ 12) พ.ศ. 2534 มาตรา 18 แม้ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกามาศาลฎีกาก็วินิจฉัยฎีกาของจำเลยที่ 2 ไม่ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์โดยสารในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 ด้วยความประมาทเลินเล่อชนรถจักรยานยนต์คันที่จ่าอากาศเอกประพันธ์บุตรของโจทก์ทั้งสองขับสวนทางมาเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายถึงแก่ชีวิตและรถจักรยานยนต์เสียหาย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันใช้ค่าเสียหายจำนวน 400,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ 27 กันยายน 2531 ซึ่งเป็นวันละเมิดเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสองจะชำระเสร็จแก่โจทก์
ระหว่างพิจารณา โจทก์ทั้งสองยื่นคำบอกกล่าวขอถอนฟ้องจำเลยที่ 1 ศาลชั้นต้นอนุญาต และให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 1ออกจากสารบบความ
จำเลยที่ 2 ให้การว่า เหตุที่เกิดขึ้นนั้นเกิดจากความประมาทปราศจากความระมัดระวังของจ่าอากาศเอกประพันธ์แต่เพียงฝ่ายเดียวและค่าเสียหายที่โจทก์เรียกร้องสูงเกินไป
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ชำระเงินจำนวน290,400 บาท พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยต้องกันว่าขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ได้ขับรถยนต์โดยสารเลี้ยวตัดหน้ารถจักรยานยนต์ของจ่าอากาศเอกประพันธ์อย่างกะทันหัน โดยจ่าอากาศเอกประพันธ์ไม่สามารถหยุดรถได้ทันเหตุเกิดขึ้นจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 1 และฟังไม่ได้ว่าเหตุเกิดเพราะความประมาทเลินเล่อของจ่าอากาศเอกประพันธ์ด้วยพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ชำระเงินแก่โจทก์ทั้งสองจำนวน 290,500 บาทพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 27 กันยายน2531 จนกว่าจะชำระเสร็จ จำเลยที่ 2 ฎีกาว่าจ่าอากาศเอกประพันธ์มีส่วนประมาทเลินเล่อด้วย จำเลยที่ 2 จึงรับผิดไม่เกินครึ่งหนึ่งของค่าสินไหมทดแทนทั้งหมด เห็นว่า ฎีกาของจำเลยที่ 2 เป็นการโต้แย้งในข้อเท็จจริงและจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาไม่เกินสองแสนบาทจึงเป็นฎีกาที่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 248 ซึ่งแก้ไขโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 12) พ.ศ. 2534 มาตรา 18แม้ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกามา ศาลฎีกาก็วินิจฉัยฎีกาของจำเลยที่ 2ไม่ได้
พิพากษายกฎีกาจำเลยที่ 2