แหล่งที่มา : สำนักงาน ส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
แม้ผู้พิมพ์พินัยกรรมจะไม่ได้ลงชื่อในพินัยกรรมก็ไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายระบุว่าพินัยกรรมนั้นไม่สมบูรณ์หรือเป็นโมฆะแต่อย่างใด การที่จำเลยถึงแก่ความตายก่อนครบกำหนดยื่นคำให้การกรณีย่อมมีเหตุที่จะต้องเลื่อนกำหนดยื่นคำให้การไปเพื่อให้ผู้ที่เข้าเป็นคู่ความแทนได้ยื่นคำให้การภายในเวลาอันสมควรการเพิกถอนคำสั่งขาดนัดยื่นคำให้การของศาลชั้นต้นจึงชอบแล้ว.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องอย่างคนอนาถาว่า โจทก์เป็นบุตรของเจ้ามรดกโดยเจ้ามรดกจดทะเบียนรับรองบุตร จำเลยเป็นภรรยาเจ้ามรดก เมื่อเจ้ามรดกถึงแก่กรรมโดยมิได้ทำพินัยกรรม จำเลยเป็นผู้จัดการมรดก แต่จำเลยมิได้ทำบัญชีทรัพย์สินและได้เบียดบังยักยอกทรัพย์มรดกจำเลยจึงถูกกำจัดมิให้รับมรดก ขอให้พิพากษากำจัดมิให้จำเลยรับมรดก และเพิกถอนการจดทะเบียนโอนที่ดินมรดกที่โอนมาเป็นของจำเลยแต่ผู้เดียว
ระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น จำเลยถึงแก่กรรม ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ทายาทเข้ามาเป็นคู่ความแทนที่จำเลยผู้มรณะ
จำเลยโดยผู้เข้ามาแทนที่จำเลยผู้มรณะให้การว่า เจ้ามรดกไม่เคยจดทะเบียนรับรองโจทก์เป็นบุตร ทรัพย์มรดกทั้งหมดเป็นสินสมรสต้องแบ่งทรัพย์สินระหว่างสามีภรรยาก่อนจำเลยมิได้ยักย้ายเกินกว่าส่วนที่ตนมีสิทธิได้รับ โจทก์เองสมคบกับคนอื่นยักย้ายทรัพย์มรดกจึงตกเป็นบุคคลที่ถูกกำจัดมิให้รับมรดก ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนที่ดินมรดกเพียงกึ่งหนึ่ง ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 1,000 บาท โดยเฉพาะค่าธรรมเนียมศาลที่โจทก์ได้รับยกเว้นให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถานั้นให้จำเลยชำระต่อศาลในนามโจทก์
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยถูกกำจัดมิให้รับที่ดินซึ่งเป็นมรดกอยู่กึ่งหนึ่ง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์และจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่โจทก์ฎีกาว่า การรับมรดกความของนางเสงี่ยม ชลายนคุปต์ และนางสงบ ชยสมบัติ ไม่ถูกต้องเพราะพินัยกรรมตามเอกสารหมาย จ.12 ไม่สมบูรณ์เนื่องจากผู้พิมพ์พินัยกรรมไม่ได้ลงชื่อนั้น ข้อนี้เห็นว่าแม้ผู้พิมพ์พินัยกรรมจะไม่ได้ลงชื่อในพินัยกรรมก็ไม่มีบทกฎหมายแห่งกฎหมายระบุว่า พินัยกรรมนั้นไม่สมบูรณ์หรือเป็นโมฆะแต่อย่างใด นางเสงี่ยมและนางสงบจึงย่อมเข้าเป็นคู่ความแทนที่จำเลยผู้ตายได้ในฐานะเป็นทายาทตามพินัยกรรมได้ที่ฎีกาว่าการเพิกถอนคำสั่งว่าจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การของศาลชั้นต้นไม่ชอบนั้นเห็นว่า โจทก์รับอยู่ว่าจำเลยตายเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน2523 จำเลยรับหมายนัดให้ยื่นคำให้การเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2523จำเลยย่อมยื่นคำให้การได้ถึงวันที่ 19 พฤศจิกายน 2523 การที่จำเลยถึงแก่ความตายก่อนครบกำหนดยื่นคำให้การ กรณีย่อมมีเหตุที่จะต้องเลื่อนกำหนดยื่นคำให้การไปเพื่อให้ผู้ที่เข้าเป็นคู่ความแทนได้ยื่นคำให้การภายในเวลาอันสมควร การเพิกถอนคำสั่งดังกล่าวของศาลชั้นต้นจึงชอบแล้ว ส่วนประเด็นที่ว่าที่ดินพิพาททั้งห้าแปลงตามบัญชีทรัพย์ท้ายฟ้องหมายเลข 2 จะเป็นสินสมรสระหว่างเจ้ามรดกกับจำเลยหรือเป็นที่ดินมรดกทั้งหมดนั้น ได้ความตามใบสำคัญการสมรสเอกสารหมาย ร.1 ในสำนวนคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 11351/2522 ซึ่งโจทก์อ้างว่าจำเลยกับผู้ตายได้สมรสกันเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2483แต่ที่ดินพิพาทตามเอกสาร จ.4, จ.5, จ.6, จ.7 ล้วนแต่เป็นที่ดินที่เจ้ามรดกได้ซื้อหรือรับการยกให้หลังจากการสมรสกับจำเลย คงมีแต่ที่ดินตามเอกสาร จ.8 ซึ่งทางราชการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ให้เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2520 ซึ่งเป็นระยะเวลาหลังการสมรสระหว่างเจ้ามรดกกับจำเลยถึง 36 ปี น่าเชื่อว่าเป็นที่ดินที่เจ้ามรดกและจำเลยได้มาในระหว่างสมรสเช่นกัน ประกอบมีข้อสันนิษฐานของกฎหมายตามมาตรา 1474 วรรคท้าย บัญญัติว่า ถ้ากรณีเป็นที่น่าสงสัยว่าทรัพย์สินอย่างหนึ่งเป็นสินสมรสหรือไม่ ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นสินสมรส ศาลฎีกาฟังว่าที่ดินพิพาทตามเอกสารหมาย จ.8 เป็นสินสมรสเช่นกัน โดยเหตุนี้ที่ดินพิพาททั้งห้าแปลงจึงเป็นมรดกเพียงกึ่งหนึ่งคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ข้อนี้จึงชอบแล้ว ส่วนฎีกาของจำเลยข้อแรกที่ว่า การที่โจทก์ไปโอนที่ดินมรดกโฉนดเลขที่ 12106 ตำบลทับเที่ยงอำเภอเมืองตรัง จังหวัดตรัง เป็นการยักย้ายหรือปิดบังทรัพย์มรดกหรือไม่นั้น คงมีนางเสงี่ยม ชลายนคุปต์ และนางสงบ ชยสมบัติเบิกความลอย ๆ ว่า จำเลยลงชื่อในใบมอบอำนาจซึ่งยังไม่ได้กรอกข้อความมอบให้แก่นายธีรพจน์ จรูญศรี แต่นายธีรพลพยานโจทก์เบิกความยืนยันว่าจำเลยมอบอำนาจให้พี่สาวโจทก์ไปโอนที่ดินดังกล่าวใส่ชื่อโจทก์และพี่น้องของโจทก์รวม 5 คน พิเคราะห์น้ำหนักพยานทั้งสองฝ่ายแล้วเห็นว่า นายธีรพจน์ไม่มีส่วนได้เสียในข้อนี้ ส่วนนางเสงี่ยมนางสงบผู้เข้ามาเป็นคู่ความแทนที่จำเลยเป็นผู้มีส่วนได้เสียในที่ดินพิพาทโดยตรงจึงมีน้ำหนักน้อย ศาลฎีกาฟังว่าการโอนที่ดินตามโฉนดดังกล่าวเป็นไปโดยชอบ การกระทำของโจทก์จึงหาเป็นการปิดบังหรือยักย้ายมรดกไม่ คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ชอบแล้ว ฎีกาโจทก์จำเลยฟังไม่ขึ้นทุกข้อ
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาเป็นพับ”.