แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยว่าจ้างโจทก์ให้ทำงานให้จำเลย เมื่อโจทก์ทำงานเสร็จแล้วจำเลยไม่ชำระค่าจ้างตามสัญญา จำเลยให้การแต่เพียงว่าจำเลยไม่ได้ว่าจ้างโจทก์จึงไม่ต้องรับผิดชำระเงินให้โจทก์ ประเด็นจึงมีว่าจำเลยได้ว่าจ้างโจทก์ให้ทำงานตามฟ้องหรือไม่เท่านั้น เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยว่าจ้างโจทก์จริงและยังไม่ได้ชำระค่าจ้างให้แก่โจทก์ตามฟ้อง โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลย ไม่จำเป็นต้องกำหนดประเด็นว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยหรือไม่ ทั้งไม่จำเป็นต้องกำหนดประเด็นว่าจำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์เป็นเงินมากน้อยเพียงใด เพราะจำเลยไม่ได้ให้การต่อสู้ในเรื่องค่าจ้างว่าไม่ถูกต้องและความจริงเป็นจำนวนเท่าใด
ส. เป็นตัวแทนเชิดของจำเลยจ้างโจทก์ให้ทำงานตามฟ้องก็เสมือนจำเลยเป็นผู้ว่าจ้างโจทก์ จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยว่าจ้างโจทก์ให้ทำงานและนำสืบเรื่องตัวแทนเชิดได้ไม่เป็นการนอกฟ้องนอกประเด็น
การนำสืบเรื่องตัวแทนเชิดไม่ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือในการตั้งตัวแทนเชิด เพราะการเป็นตัวแทนเชิดนั้นมิได้เป็นโดยตั้งแต่งแสดงออกชัดแต่เป็นการตั้งแต่งโดยปริยาย.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยจ้างโจทก์ทาสี ซ่อมแซม ศาลาประชาคมของสำนักงานองค์การบริหารส่วนจังหวัดกระบี่ แล้วไม่ชำระค่าจ้างให้โจทก์ ขอให้จำเลยชำระค่าจ้างพร้อมดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่า ไม่เคยว่าจ้างโจทก์ให้ทำงานตามที่โจทก์ฟ้องไม่เคยค้างค่าแรงงานโจทก์ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินตามฟ้อง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์ฟ้องว่าจำเลยว่าจ้างโจทก์ให้ทำงานให้จำเลย เมื่อโจทก์ทำงานเสร็จแล้ว จำเลยไม่ชำระค่าจ้างให้โจทก์ตามสัญญา จำเลยให้การแต่เพียงว่าจำเลยไม่ได้ว่าจ้างโจทก์ จึงไม่ต้องรับผิดชำระเงินให้โจทก์ ดังนั้นประเด็นที่โต้เถียงจึงมีว่า จำเลยได้ว่าจ้างโจทก์ให้ทำงานตามฟ้องหรือไม่เท่านั้น คดีไม่มีประเด็นว่าจำเลยจะต้องรับผิดชำระค่าจ้างต่อโจทก์เท่าใด เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยได้ว่าจ้างโจทก์จริงจำเลยก็ต้องชำระค่าจ้างให้โจทก์ตามฟ้องเมื่อจำเลยยังไม่ชำระค่าจ้างให้แก่โจทก์โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องให้จำเลยชำระค่าจ้างให้แก่โจทก์ได้ ศาลไม่จำเป็นต้องกำหนดประเด็นว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ดังที่จำเลยฎีกาทั้งไม่จำต้องกำหนดประเด็นว่าจำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์เป็นเงินมากน้อยเพียงใดอีกด้วยเพราะจำเลยให้การในข้อนี้แต่เพียงว่ารายการที่โจทก์อ้างว่า จำเลยค้างค่าจ้างเป็นเท็จ จำเลยไม่ได้ให้การต่อสู้ในเรื่องค่าจ้างว่าไม่ถูกต้อง และความจริงเป็นจำนวนเท่าใด
ส่วนฎีกาข้อ 2 ค. ของจำเลยที่ว่าศาลวินิจฉัยนอกฟ้องนอกประเด็น เพราะโจทก์ฟ้องระบุว่า จำเลยเป็นผู้จ้างโจทก์ แต่ศาลกลับวินิจฉัยว่า นายสมพงษ์ ชูพุทธ บุตรจำเลยซึ่งเป็นตัวแทนเชิดของจำเลยเป็นผู้จ้างโจทก์ จำเลยจึงต้องรับผิดต่อโจทก์นั้นเห็นว่า ศาลชั้นต้นวินิจฉัยข้อเท็จจริงแล้วเชื่อว่า นายสมพงษ์บุตรจำเลยซึ่งเป็นตัวแทนเชิดของจำเลยเป็นคนสั่งจ้างโจทก์ทำงานดังกล่าว ดังนั้นจำเลยจึงต้องรับผิดชำระค่าจ้างให้โจทก์ ศาลฎีกาเห็นว่า เมื่อฟังว่านายสมพงษ์เป็นตัวแทนเชิดของจำเลยจ้างโจทก์ให้ทำงานตามฟ้อง ก็เสมือนจำเลยเป็นผู้ว่าจ้างโจทก์ จำเลยจึงต้องรับผิดต่อโจทก์ โจทก์จึงบรรยายฟ้องว่าจำเลยว่าจ้างโจทก์ให้ทำงานและนำสืบเรื่องตัวแทนเชิดได้ ไม่เป็นการนอกฟ้องนอกประเด็น ทั้งการนำสืบเรื่องตัวแทนเชิดนี้หาต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือในการตั้งตัวแทนเชิดดังที่จำเลยฎีกาไม่ เพราะการเป็นตัวแทนเชิดนั้นมิได้เป็นโดยตั้งแต่งแสดงออกชัดแต่เป็นการตั้งแต่งโดยปริยาย
พิพากษายืน.