คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 389-390/2505

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีความผิดเกี่ยวพันกัน เป็นอำนาจของศาลที่จะพิจารณาพิพากษารวมกันได้ตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 25 หาจำต้องมีคู่ความฝ่ายใดร้องขอไม่
จำเลยกู้เงินโจทก์ 2 ครั้ง เพื่อนำไปลงทุนรับเหมาก่อสร้างอาคารของกรมตำรวจครั้งแรกกู้ 150,000 บาท จำเลยทำสัญญากู้และออกเช็คล่วงหน้าลงวันที่ 18 พ.ย. 2499 ลงจำนวนเงิน 150,000 บาท ให้โจทก์ไว้ กับทำหนังสือมอบฉันทะให้โจทก์ไปรับเงินค่าก่อสร้างจากกรมตำรวจด้วย ครั้งที่ 2 กู้ 490,000 บาท ทำสัญญากู้และออกเช็คล่วงหน้าลงวันที่ 28 ก.พ. 2500 ลงจำนวนเงิน 490,000 บาท กับทำหนังสือมอบฉันทะมอบให้โจทก์เหมือนอย่างกู้ครั้งแรก ต่อมาวันที่ 26 ก.ย. 2499 โจทก์นำใบมอบฉันทะนั้นไปรับเงินค่าก่อสร้างจากกรมตำรวจเป็นเงิน 249,000 บาท โดยโจทก์มิได้นำเงินนั้นมามอบให้จำเลยหรือเข้าบัญชีของจำเลยในธนาคาร จึงต้องถือว่าเป็นเงินที่จำเลยชำระหนี้ ให้โจทก์ในมูลหนี้เงินกู้ทั้ง 2 ราย และไม่พอชำระหนี้ได้หมดทั้ง 2 ราย เมื่อลูกหนี้ไม่ได้ระบุว่าชำระหนี้รายใด ก็ต้องถือว่า หนี้รายไหนถึงกำหนดก่อน เป็นอันได้เปลื้องไปก่อน ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 328 ดังนั้น หนี้เงินกู้รายแรกซึ่งถึงกำหนดชำระก่อน ก็ต้องถือว่าได้ถูกชำระหนี้หมดสิ้นไปแล้ว จำเลยย่อมมีสิทธิห้ามมิให้ธนาคารจ่ายเงินให้โจทก์ตามเช็คฉบับแรก นั้นได้ ส่วนเงินที่โจทก์รับแทนจำเลยจากกรมตำรวจนั้น เมื่อหักหนี้เงินกู้ทั้ง 2 รายแล้ว จำเลยคงเป็นหนี้โจทก์เพียง 391,000 บาท โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยชำระหนี้ให้เต็มจำนวน 490,000 บาท ตามเช็คฉบับหลังได้ เมื่อโจทก์เอาเช็คฉบับหลังไปขึ้นเงิน เพื่อเอาชำระหนี้ตนเกินกว่าที่ตนมีสิทธิจำเลยย่อมปฏิเสธชำระหนี้ได้ ฉะนั้น การที่จำเลยห้ามมิให้ธนาคารใช้เงินตามเช็คฉบับหลัง จึงไม่ใช่เป็นการห้ามโดยเจตนาทุจริต การที่โจทก์นำเช็ค 2 ฉบับ ดังกล่าวไปขึ้นเงินจากธนาคารไม่ได้ จำเลยจึงไม่มีความผิดตาม พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ มาตรา 3

ย่อยาว

คดี ๒ สำนวนนี้ ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาเป็นรายสำนวน วินิจฉัยว่าจำเลยทั้ง ๒ มีความผิดตามพระราชบัญญัติ ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค มาตรา ๓ ตามที่โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษ
จำเลยทั้ง ๒ อุทธรณ์ทั้ง ๒ สำนวน
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า คดี ๒ สำนวนนี้ ผู้เสียหายและจำเลยเป็นคนเดียวกัน ข้อหาอย่างเดียวกัน และเกี่ยวเนื่องกัน ศาลอุทธรณ์จึงพิจารณาพิพากษารวมกันและวินิจฉัยว่า จำเลยไม่ผิดตามฟ้อง พิพากษากลับให้ยกฟ้อง ทั้ง ๒ สำนวน
นางผกามาศ โจทก์ฎีกาว่า ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาคดี ๒ สำนวนนี้ รวมกันไม่ชอบ และคดีฟังได้ว่าจำเลยผิดตามฟ้อง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่โจทก์ฎีกาว่า ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาคีดสองสำนวนนี้รวมกันเป็นการมิชอบด้วยกระบวนพิจารณาข้อนี้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณษความอาญา มาตรา ๒๕ บัญญัติว่า ศาลซึ่งรับฟ้องคดีเกี่ยวพันกันไว้จะพิจารณาพิพากษารวมกันไปก็ได้ แสดงว่าการพิจารณาพิพากษาคดีรวมกันนั้น เป็นอำนาจของศาล หาจำต้องมีคู่ความฝ่ายใดร้องขอดังฎีกาของโจทก์ไม่ ส่วนข้อที่ว่าคดีสองสำนวนนี้ เกี่ยวพันกันหรือไม่ นั้น ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า เช็คทั้งสองฉบับที่โจทก์แยกฟ้องจำเลยเป็นสองสำนวนนี้ จำเลยได้ออกให้โจทก์ไว้เนื่องจากบริษัทจำเลยได้รับเหมาก่อสร้างอาคารการสื่อสารของกรมตำรวจเป็นเงิน ๑,๙๐๐,๐๐๐ บาท บริษัท จำเลยมีทุนไม่พอ จึงได้กู้เงินนางผกามาศ โจทก์ ครั้งแรก กู้ ๑๕๐,๐๐๐ ครั้งที่ ๒ กู้ ๔๙๐,๐๐๐ บาท การกู้แต่ละครั้งจำเลยออกเช็คล่วงหน้าให้โจทก์ไว้ คือ เช็ค ๒ ฉบับ ที่โจทก์นำมาฟ้องเป็นสองคดีนี้ เช็ค ๒ ฉบับนี้จำเลยจึงออกให้โจทก์เนื่องจากการกู้เงิน เพื่อมารับเหมาก่อสร้างรายเดียวกันนี้เอง ข้อเท็จจริงทั้งสองคดีจึงเกี่ยวพันต่อเนื่องกัน ที่ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษารวมกันมาจึงเป็นการชอบแล้ว
ข้อวินิจฉัย จำเลยผิดตามฟ้องหรือไม่ ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลย กู้เงินนางผกามาศ โจทก์ ๒ ครั้ง เพื่อนำไปลงทุนรับเหมาก่อสร้างอาคารของกรมตำรวจครั้งแรกกู้ ๑๕๐,๐๐๐ บาท จำเลยทำสัญญากู้และออกเช็คล่วงหน้าเลขที่ บี. ๐๐๙๐๗๒ ลงวันที่ ๑๘ พ.ย. ๒๔๙๙ ลงจำนวนเงินเท่ากับที่กู้กับได้ทำ หนังสือมอบฉันทะให้โจทก์ไปรับเงินค่าก่อสร้างจากกรมตำรวจ พร้อมทั้งหนังสือแจ้งต่อกรมตำรวจเรื่องให้นางผกามาศโจทก์รับเงินแทนด้วย ครั้งที่ ๒ กู้ ๔๙๐,๐๐๐ บาท จำเลยออกเช็คล่วงหน้าเลขที่ เอ. ๐๐๕๒๒๘ ลงวันที่ ๒๘ ก.พ. ๒๕๐๐ ทำสัญญากู้และหนังสือมอบฉันทะมอบให้โจทก์เหมือนอย่างกู้ครั้งแรกทุกประการ ต่อมาวันที่ ๒๖ ก.ย. ๒๔๙๙ นางผกามาศโจทก์นำใบมอบฉันทะของจำเลยไปรับเงินค่าก่อสร้างจากกรมตำรวจเป็นเงิน ๒๔๙,๐๐๐ บาท นางผกามาศมิได้นำเงินนั้นมามอบให้จำเลยหรือเข้าบัญชีของจำเลยในธนาคาร จึงต้องถือว่าเป็นเงินที่จำเลยชำระหนี้ ให้นางผกามาศโจทก์ ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า กรณีนี้ มูลหนี้เงินกู้ทั้ง ๒ ราย และไม่พอชำระหนี้ได้หมดทั้ง ๒ ราย เมื่อลูกหนี้ไม่ได้ระบุว่าชำระหนี้รายใด ก็ต้องถือว่า หนี้รายไหนถึงกำหนดก่อน เป็นอันได้เปลื้องไปก่อน ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๓๒๘ โจทก์ไปรับเงินของจำเลยมา ๒๔๙,๐๐๐ บาท ตั้งแต่วันที่ ๒๖ ก.ย. ๙๙ ก่อนหนี้เงินกู้ทั้งสองรายนี้ถึงกำหนดชำระ ฉะนั้น เมื่อหนี้รายแรกเงิน ๑๕๐,๐๐๐ บาท ถึงกำหนดชำระก่อน คือ ถึงกำหนดชำระวันที่ ๑๘ พ.ย. ๒๔๙๙ ก็ต้องถือว่า หนี้รายแรก ๑๕๐,๐๐๐ บาทนี้ได้ถูกชำระหนี้หมดสิ้นไปแล้ว ฯลฯ เมื่อหนี้รายแรกได้ถูกชำระไปหมดสิ้น จำเลยก็มีสิทธิที่จะแจ้งไปยังธนาคารไม่ให้จ่ายเงินให้โจทก์ตามเช็คฉบับจำนวนเงิน ๑๕๐,๐๐๐ บาท เลขที่ บี.๐๐๙๐๗๒นั้นได้ จึงไม่ใช่เป็นการห้ามโดยเจตนาทุจริต การที่โจทก์นำเช็ค ๒ ฉบับ ดังกล่าวไปขึ้นเงินจากธนาคารไม่ได้ จำเลยจึงไม่มีความผิดตาม พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดตาม พระราชบัญญัติ ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค มาตรา ๓ ดังโจทก์ฟ้อง
ส่วนเงินที่โจทก์รับแทนจำเลย ๒๔๙,๐๐๐ บาท เมื่อหักชำระหนี้เงินกู้รายแรกเสีย ๑๕๐,๐๐๐ บาท คงเหลือ ๔๙,๐๐๐ บาท เมื่อหักต้นเงินกู้ครั้งหลัง ๔๙๐,๐๐๐ บาทแล้ว ก็คงเหลือหนี้โจทก์เพียง ๓๙๑,๐๐๐ บาท โจทก์หามีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยชำระหนี้ให้เต็มจำนวน ๔๙๐,๐๐๐ บาท ตามเช็คที่ออกให้โจทก์นั้นไม่ เช็คฉบับหลังย่อมเป็นเช็คไม่ถูกต้องตามมูลหนี้ที่มีต่อกัน การที่โจทก์เอาเช็คจำนวน ๔๙๐,๐๐๐ บาทไปขึ้นเงินเพื่อเอาชำระหนี้ของตนเกินกว่าที่ตนมีสิทธินั้น จำเลยผู้เป็นลูกหนี้ย่อมมีสิทธิที่จะปฏิเสธชำระหนี้นั้นได้ ฉะนั้น การที่จำเลยห้ามมิใช้ธนาคารใช้เงินตามเช็คนั้น จึงไม่ใช่เป็นการห้ามโดยเจตนาทุจริตเมื่อจำเลยชอบที่จะห้ามเช่นนั้นได้ ข้อที่ว่าจำเลยมีเงินไม่พอในบัญชีในขณะนั้นก็ไม่เป็นเหตุให้จำเลยมีความผิดตาม พระราชบัญญัตินี้ได้ดังโจทก์ฟ้อง ทั้งรูปคดีก็ไม่มีทางให้ฟังว่าจำเลยออกเช็คให้โจทก์โดยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คนั้นแต่ประการใด
พิพากษายืน

Share