คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2882/2538

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

“คลอง”คือสิ่งอื่นที่คล้าย”คู”จึงอยู่ในบังคับของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1342ที่ต้องขุดห่างแนวเขตที่ดินข้างเคียงหนึ่งเมตรหรือกว่านั้น โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยจัดการป้องกันความเสียหายอันจะเกิดแก่ความอยู่มั่นแห่งที่ดินของโจทก์ที่ติดต่อกับที่ดินที่จำเลยขุดคลองมิใช่เรียกเอาค่าเสียหายอันเกิดแต่มูลละเมิดโดยตรงจึงไม่อยู่ในบังคับแห่งอายุความ1ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา448

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่2625, 3222, 3205 และ 3206 ที่ดินทั้งสี่แปลงมีอาณาเขตติดต่อกัน จำเลยได้จ้างวานคนงานขุดคลองกว้างประมาณ 6 เมตรลึกประมาณ 3 เมตร ในที่ดินของจำเลยชิดแนวเขตด้านทิศเหนือของที่ดินโจทก์ทั้งสี่แปลง และด้านทิศตะวันตกของที่ดินโฉนดเลขที่ 3206 รวมความยาวประมาณ 528 เมตร และเนื่องจากไม่ขุดด้วยความระมัดระวัง ทั้งไม่ขุดห่างจากแนวเขต 2 เมตร เป็นเหตุให้ที่ดินของโจทก์ตามแนวเขตพังทลายลงไปในคลองที่จำเลยขุดขอให้บังคับจำเลยถมที่ดินในคลองด้านที่ติดแนวเขตที่ดินของโจทก์ออกไปจากแนวเขตที่ดินในระยะ 2 เมตร กับให้ทำเขื่อนคอนกรีตด้านที่ดินของโจทก์เพื่อป้องกันการพังทลายของที่ดินตลอดแนวเขต หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้โจทก์เป็นผู้ดำเนินการโดยให้จำเลยเป็นผู้เสียค่าใช้จ่าย
จำเลยให้การว่า จำเลยมิได้เป็นผู้ขุด แต่บริษัทกาญจน์ดีเวลล็อปเม้นท์ จำกัด ผู้จัดสรรและพัฒนาที่ดินเป็นผู้ขุดคลองดังกล่าวขึ้น เมื่อปี 2531 โดยคลองมีความลึกไม่เกิน2 เมตร แต่ขุดห่างจากแนวที่ดินของโจทก์เกินกว่า 1 เมตรขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยถมคลองด้านที่ติดที่ดินโจทก์โฉนดที่ 2625, 3222, 3205 และ 3206 ตำบลสมอแข อำเภอเมืองพิษณุโลกจังหวัดพิษณุโลก ออกไปจากแนวเขตที่ดินในระยะ 1 เมตร โดยอัดดินที่ถมแล้วให้แน่นอยู่ในสภาพเดิม กับทำชายตลิ่งเป็นแนวลาดและแข็งแรงตามสมควร เพื่อป้องกันไม่ให้ดินพังลง หากจำเลยเพิกเฉยก็ให้โจทก์เป็นผู้ดำเนินการ โดยให้จำเลยเสียค่าใช้จ่ายในการนี้ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืนจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 2625, 3222, 3205 และ 3206ตำบลสมอแข อำเภอเมืองพิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลก ที่ดินทั้งหมดมีอาณาเขตติดต่อกันเป็นแนวยาวจากทิศตะวันออกไปทางทิศตะวันตกจำเลยเป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 2874 ตำบลสมอแขอำเภอเมืองพิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลก อยู่ติดที่ดินของโจทก์ทางด้านทิศเหนือและทิศตะวันตก ปรากฏตามแผนที่สังเขปเอกสารหมาย จ.1 และสำเนาโฉนดเอกสารหมาย จ.2-จ.6ต่อมามีการขุดคลองลงในที่ดินของจำเลย ด้านที่อยู่ติดกับที่ดินของโจทก์ดังกล่าว คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อแรกว่าจำเลยได้ทำละเมิดและต้องรับผิดต่อโจทก์หรือไม่ เพียงใด ซึ่งจำเลยอ้างว่ามิได้ทำละเมิด การขุดก็ห่างจากที่ดินของโจทก์เกินกว่า 1 เมตรและเป็นการขุดคลองมิใช่คู จึงไม่อยู่ในบังคับของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1342 การขุดจึงไม่จำเป็นต้องห่าง 1 เมตร และตลิ่งพังเพราะเหตุสุดวิสัย จำเลยจึงไม่ต้องรับผิด เห็นว่า พยานโจทก์เบิกความได้สอดคล้องต้องกันว่า คลองที่ขุดในที่ดินของจำเลยอยู่ติดแนวเขตที่ดินของโจทก์บ้าง ล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์บ้าง และอยู่ห่างจากแนวเขตไม่ถึง 1 เมตรบ้าง โดยเฉพาะนายปราโมทย์ และนายเกียรติก้อง เป็นเจ้าพนักงานที่ดินซึ่งรู้เห็นเพราะปฏิบัติราชการตามอำนาจหน้าที่ นับว่าเป็นพยานคนกลางไม่มีส่วนได้เสียกับคู่ความ คำเบิกความจึงมีน้ำหนักพยานโจทก์ยังสอดคล้องกับรายงานการเดินเผชิญสืบของศาลชั้นต้นอีกด้วย จึงมีน้ำหนักน่าเชื่อถือยิ่งขึ้น ฟังได้ว่าคลองที่ขุดขึ้นอยู่ห่างจากแนวเขตที่ดินของโจทก์ไม่ถึง 1 เมตร ที่จำเลยอ้างว่าที่ดินของโจทก์พังลงไปในคลองเพราะอุทกภัย ก็ปรากฏตามคำเบิกความของนายปราโมทย์ตอบคำถามค้านว่าอุทกภัยเกิดประมาณเดือนกันยายนหรือตุลาคม 2534 และนายเกียรติก้องเบิกความว่า ก่อนจะมีการเปรียบเทียบตามเอกสารหมาย จ.10 ได้ออกไปตรวจสภาพที่ดินด้วยตนเอง พบว่าขุดคูชิดติดกับที่ดินของโจทก์ ขณะไปตรวจปรากฏว่าแนวเขตติดต่อของที่ดินของโจทก์ถล่มไปในคูน้ำ ซึ่งเอกสารนี้ได้จัดทำขึ้นเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2534 ดังนั้น ก่อนวันที่ระบุในเอกสารได้ถูกขึดขึ้นติดกับที่ดินของโจทก์อยู่แล้ว และแนวเขตติดต่อของที่ดินของโจทก์ถล่มลงไปในคูน้ำอยู่แล้ว พยานโจทก์จึงมีน้ำหนักดีกว่าพยานจำเลย ฟังได้ว่า ที่ดินของโจทก์พังลงไปในคลองมิใช่เพราะอุทกภัย การที่จำเลยตกลงให้บริษัทกาญจน์ดีเวลล็อปเม้นท์จำกัดเข้าขุดคลองในที่ดินของจำเลยเพื่อประโยชน์ของจำเลยก็ถือได้ว่าจำเลยต้องรู้เห็นและต้องรับผิดต่อโจทก์ด้วย ที่จำเลยอ้างว่าเป็นการขุดคลองมิใช่คูจึงไม่อยู่ในบังคับของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1342 นั้น เห็นว่า “คลอง”ก็คือสิ่งอื่นที่คล้าย “คู” นั่นเอง ทั้งจำเลยเองก็เบิกความว่าการเข้าพัฒนาที่ดินนั้นบริษัทกาญจน์ดีเวลล็อปเม้นท์ จำกัดจะต้องเข้าไปขุดคูหรือคลองส่งน้ำในที่ดิน ที่ดินที่ขุดขึ้นมาจะนำมาใช้ทำถนนจึงต้องตกอยู่ในบังคับของบทบัญญัติดังกล่าวว่าต้องห่างแนวเขตที่ดินของโจทก์หนึ่งเมตรหรือกว่านั้น การกระทำของจำเลยจึงเป็นการละเมิดต่อโจทก์และต้องรับผิดดังที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัย อันเป็นการเหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งรูปคดีแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ส่วนที่จำเลยฎีกาต่อไปว่า คดีขาดอายุความหรือไม่นั้นเห็นว่า โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยจัดการป้องกันความเสียหายอันจะเกิดแก่ความอยู่มั่นแห่งที่ดินของโจทก์ที่ติดต่อกับที่ดินที่จำเลยขุดคลอง มิใช่เรียกเอาค่าเสียหายอันเกิดแต่มูลละเมิดโดยตรงจึงไม่อยู่ในบังคับแห่งอายุความ 1 ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย”
พิพากษายืน

Share