คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2881/2532

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยให้การว่า ที่ดินตามฟ้องไม่ใช่สินสมรสระหว่าง บ.กับ ล. ซึ่งเป็นบิดามารดาโจทก์และจำเลย แต่เป็นสินเดิมของ ล.มาก่อนสมรส ในชั้นพิจารณาจำเลยนำสืบว่าที่ดินดังกล่าวเป็นมรดกของ ป. มารดาของ ล. ตกได้แก่ ล. ดังนี้ ข้อนำสืบของจำเลยเป็นการนำสืบถึงที่มาของที่ดินที่ ล. ได้มาก่อนทำการสมรสกับ บ.อยู่นั่นเอง จึงมิใช่เป็นการนำสืบนอกคำให้การแต่อย่างใด

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของนายบังภู่ ดวงวิชัยตามคำสั่งศาล โจทก์กับจำเลยเป็นบุตรของนายบังภู่กับนางลูกอินทร์ระหว่างนายบังภู่กับนางลูกอินทร์อยู่กินด้วยกัน มีสินสมรสคือที่ดิน 1 แปลง พร้อมบ้านอีก 2 หลัง นายบังภู่เป็นคนต่างด้าวไม่มีสิทธิลงชื่อถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินซึ่งมีตราจอง จึงให้นางลูกอินทร์ถือกรรมสิทธิ์แทน ต่อมานายบังภู่ถึงแก่กรรม บ้านและที่ดินอันเป็นสินสมรสของนายบังภู่ 2 ใน 3 ส่วน จึงเป็นมรดกตกทอดมายังบุตร 9 คน และนางลูกอินทร์คนละส่วน บุตรทุกคนและนางลูกอินทร์ครอบครองที่ดินมรดกร่วมกันมาจนกระทั่งนางลูกอินทร์ถึงแก่กรรม ก่อนถึงแก่กรรมนางลูกอินทร์ได้ทำพินัยกรรมยกบ้านและที่ดินทั้งหมดให้จำเลยทั้งสองโดยไม่มีสิทธิ ขอให้พิพากษาว่าทรัพย์มรดกดังกล่าวเป็นสินสมรสและมรดกของนายบังภู่ 2 ใน 3 ส่วนให้โจทก์มีสิทธินำมาแบ่งปันแก่ทายาทต่อไป พินัยกรรมของนางลูกอินทร์ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จำเลยทั้งสองให้การว่า ที่ดินตามฟ้องไม่ใช่สินสมรสระหว่างนายบังภู่กับนางลูกอินทร์ แต่เป็นสินเดิมของนางลูกอินทร์จึงมีชื่อนางลูกอินทร์เป็นเจ้าของผู้เดียวนายบังภู่กับนางลูกอินทร์ได้จดทะเบียนหย่าขาดจากการเป็นสามีภริยา และแบ่งทรัพย์สินกันโดยนางลูกอินทร์ได้ทรัพย์ตามบัญชีทรัพย์ท้ายฟ้องเป็นของตนทั้งหมดและครอบครองฝ่ายเดียวตลอดมาจนกระทั่งถึงแก่กรรม ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่โจทก์ฎีกาว่า จำเลยทั้งสองให้การต่อสู้คดีว่าที่ดินตามตราจองเลขที่ 28 เนื้อที่ 3 ไร่ 1 งาน 65ตารางวา ตามบัญชีทรัพย์ท้ายฟ้องอันดับ 1 ไม่ใช่สินสมรสระหว่างนายบังภู่กับนางลูกอินทร์ แต่เป็นสินเดิมของนางลูกอินทร์มาก่อนแต่งงานกับนายบังภู่ แต่ในชั้นพิจารณาจำเลยกลับนำสืบว่า ที่ดินพิพาทตามฟ้องเนื้อที่ประมาณ 2 ไร่ ในตราจองเลขที่ 28เป็นมรดกของนางเปลี่ยนมารดานางลูกอินทร์ตกได้แก่นางลูกอินทร์ข้อนำสืบดังกล่าวของจำเลยจึงเป็นการนำสืบนอกคำให้การนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า ข้อนำสืบดังกล่าวของจำเลยเป็นการนำสืบถึงที่มาของที่ดินที่นางลูกอินทร์ได้มาก่อนทำการสมรสกับนายบังภู่อยู่นั่นเองจึงมิใช่เป็นการนำสืบนอกคำให้การจำเลยดังที่โจทก์ฎีกา”
พิพากษายืน

Share