แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
สัญญาที่โจทก์จำเลยตกลงกันให้โจทก์ได้สิทธิในทางภาระจำยอมใช้ถนนเข้าออกจากที่ดินของโจทก์ในพื้นที่ดินที่เป็นถนนทุกแปลงที่จำเลยมีกรรมสิทธิ์ แม้โดยสัญญานี้โจทก์จะไม่ได้มาซึ่งทรัพยสิทธิในทางภาระจำยอมโดยบริบูรณ์ เพราะไม่ได้จดทะเบียนการได้มากับพนักงานเจ้าหน้าที่ดังที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรคแรก แต่บทมาตรานี้ก็หาได้บัญญัติให้เป็นผลไปถึงว่านิติกรรมหรือสัญญานั้นเป็นโมฆะเสียเปล่าไปเลยไม่ ดังนี้สัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงยังคงมีผลก่อให้เกิดบุคคลสิทธิในอันที่จะเรียกร้องบังคับกันได้ในระหว่างคู่สัญญา จำเลยจึงไม่อาจโต้เถียงต่อโจทก์ว่าที่ดินของจำเลยไม่ตกอยู่ในภาระจำยอมของที่ดินโจทก์และการที่จำเลยตกลงจะจดทะเบียนภาระจำยอมตามข้อสัญญาดังกล่าวเมื่อจำเลยทำการแบ่งแยกจัดสรรที่ดินเสร็จ เมื่อจำเลยดำเนินการดังกล่าวเสร็จสิ้นแล้วกระทำผิดข้อสัญญาไม่จดทะเบียนภาระจำยอมให้แก่โจทก์ โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องขอให้บังคับจำเลยจดทะเบียนภาระจำยอมได้
ภาระจำยอมจะสิ้นไปก็ด้วยเหตุตาม ป.พ.พ. มาตรา 1397 กล่าวคือ ภารยทรัพย์หรือสามยทรัพย์สลายไปทั้งหมด หรือไม่ได้ใช้ภาระจำยอมเป็นเวลา 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1399 ข้อที่จำเลยนำสืบว่าโจทก์ใช้ถนนของจำเลยโดยมิได้ระมัดระวังก็ดี โจทก์นำท่อไปวางเกะกะกีดขวางทางน้ำในลำเหมืองก็ดี โจทก์ทำโคลนตกเรี่ยราดพื้นถนนก็ดี การกระทำของโจทก์ดังกล่าวมิใช่เหตุที่จะทำให้ภาระจำยอมสิ้นไป
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยจดทะเบียนให้ที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๙๘๔๖ และ ๑๙๘๔๗ ตำบลลวงเหนือ อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ อยู่ในภาระจำยอมของที่ดินโฉนดเลขที่ ๒๐๐๓๖ ตำบลลวงเหนือ อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ หากจำเลยไม่ยินยอม ก็ให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลย
จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า เมื่อวันที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๘ จำเลยทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๙๘๔๖ และ ๑๙๘๔๗ กับโจทก์ เพื่อจัดสรรขายจริง แต่จำเลยยินยอมให้โจทก์ใช้เส้นทางผ่านที่ดินของจำเลยเข้าออกสู่ทางสาธารณะจากที่ดินโฉนดเลขที่ ๒๐๐๓๖ ของโจทก์ซึ่งอยู่ด้านหลังของที่ดินของจำเลยที่ได้ซื้อจากโจทก์เพียงระยะเวลาที่โจทก์ยังคงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินเท่านั้น โดยมีเงื่อนไขว่าโจทก์จะไม่นำที่ดินของโจทก์ไปประกอบธุรกิจในเชิงพาณิชย์ และโจทก์จะต้องใช้ถนนของจำเลยด้วยความระมัดระวังไม่ให้เกิดความเสียหาย หากเกิดความเสียหายโจทก์ต้องซ่อมแซมให้ดีดังเดิมด้วยทุนทรัพย์ของโจทก์เอง โดยจำเลยจะทำประตูปิดกั้นที่ดินในส่วนที่ติดต่อกันระหว่างที่ดินของโจทก์กับจำเลยไม่ให้บุคคลอื่นใช้ เว้นแต่โจทก์ หากโจทก์ผิดข้อตกลงก็ยินยอมให้ยกเลิกการใช้ภาระจำยอมที่ดินของจำเลย จำเลยจึงตกลงทำบันทึกยินยอมจดทะเบียนภาระจำยอมในที่ดินของจำเลยส่วนที่เป็นถนนให้โจทก์ใช้เป็นทางเข้าออกสู่ทางสาธารณะได้ไว้ท้ายสัญญาจะซื้อจะขายที่ดิน ต่อมาเมื่อจำเลยจัดสรรที่ดินพร้อมทั้งทำถนนเสร็จ ปรากฏว่าโจทก์ใช้ถนนของจำเลยโดยมิได้ระมัดระวัง ก่อให้เกิดความเสียหาย จำเลยบอกกล่าวให้โจทก์ดำเนินการให้เรียบร้อย แต่โจทก์เพิกเฉย โจทก์จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา ขอให้ยกฟ้อง และขอให้บังคับโจทก์ใช้ราคาที่ดินของจำเลยที่ตกอยู่ในภาระจำยอมเดือนละ ๓,๐๐๐ บาท นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาจนกว่าจะยกเลิกภาระจำยอม และให้โจทก์ทำประตูปิดกั้นระหว่างที่ดินของโจทก์กับจำเลยโดยต่างถือกุญแจไว้คนละดอก
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งและแก้ไขคำให้การแก้ฟ้องแย้งว่า ข้อตกลงการจดทะเบียนและใช้ภาระจำยอมระหว่างโจทก์กับจำเลยปราศจากเงื่อนไขและเงื่อนเวลา โจทก์จึงไม่จำต้องใช้ราคาค่าที่ดิน ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยจดทะเบียนภาระจำยอมในที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๙๘๔๖ และ ๑๙๘๔๗ ตำบลลวงเหนือ อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ โดยอยู่ในภาระจำยอมของที่ดินโฉนดเลขที่ ๒๐๐๓๖ ตำบลลวงเหนือ อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ หากจำเลยไม่ทำการจดทะเบียนภาระจำยอมก็ให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลย กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ ๒,๐๐๐ บาท ให้ยกฟ้องแย้งของจำเลย ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๕ พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์เสียด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า จำเลยทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินกับโจทก์ โดยมีข้อตกลงกันในวันกำหนดโอนที่ดินที่จะซื้อจะขายดังกล่าวว่าจำเลยยินยอมที่จะจดทะเบียนภาระจำยอมเพื่อให้โจทก์มีสิทธิในการใช้ถนนเข้า – ออกจากที่ดินของโจทก์โฉนดเลขที่ ๒๐๐๓๖ ในพื้นที่ดินที่เป็นถนนทุกแปลงที่จำเลยมีกรรมสิทธิ์ มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์ขอให้บังคับจำเลยจดทะเบียนภาระจำยอมตามข้อตกลงดังกล่าวได้หรือไม่ เห็นว่า การที่โจทก์จำเลยตกลงกันให้โจทก์ได้สิทธิในทางภาระจำยอมใช้ถนนเข้า – ออกจากที่ดินของโจทก์ในพื้นที่ดินที่เป็นถนนทุกแปลงที่จำเลยมีกรรมสิทธิ์นี้ เป็นสัญญาอย่างหนึ่งซึ่งก่อให้เกิดบุคคลสิทธิขึ้นในอันที่จะเรียกร้องบังคับกันได้ระหว่างโจทก์กับจำเลย แม้โดยสัญญานี้โจทก์จะไม่ได้มาซึ่งทรัพยสิทธิในทางภาระจำยอมโดยบริบูรณ์ เพราะไม่ได้จดทะเบียนการได้มากับพนักงานเจ้าหน้าที่ดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๒๙๙ วรรคแรก แต่บทมาตรานี้ก็หาได้บัญญัติให้เป็นผลไปถึงว่านิติกรรมหรือสัญญานั้นเป็นโมฆะเสียเปล่าไปเลยไม่ ดังนี้สัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงยังคงมีผลก่อให้เกิดบุคคลสิทธิในอันที่จะเรียกร้องบังคับกันได้ในระหว่างคู่สัญญา จำเลยจึงไม่อาจโต้เถียงต่อโจทก์ว่าที่ดินของจำเลยไม่ตกอยู่ในภาระจำยอมของที่ดินโจทก์ ทั้งจำเลยตกลงจดทะเบียนภาระจำยอมตามข้อสัญญาดังกล่าว เมื่อจำเลยทำการแบ่งแยกจัดสรรที่ดินเสร็จ ทำให้ที่ดินของจำเลยต้องตกอยู่ในภาระจำยอมเสียแล้ว ดังนั้น ภาระจำยอมดังกล่าวจะสิ้นไปก็ด้วยเหตุตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๙๗ กล่าวคือ ภารยทรัพย์หรือสามยทรัพย์สลายไปทั้งหมด หรือไม่ได้ใช้ภาระจำยอมเป็นเวลา ๑๐ ปี ตามมาตรา ๑๓๙๙ ข้อที่ว่า โจทก์ใช้ถนนของจำเลยโดยมิได้ระมัดระวังก็ดี โจทก์นำท่อไปวางเกะกะกีดขวางทางน้ำในลำเหมืองก็ดี โจทก์ทำโคลนตกเรี่ยราดพื้นถนนก็ดี การกระทำของโจทก์ดังกล่าวต่างก็มิใช่เหตุที่จะทำให้ภาระจำยอมสิ้นไป เมื่อจำเลยดำเนินการดังกล่าวเสร็จสิ้น แล้วกระทำผิดข้อสัญญาไม่จดทะเบียนภาระจำยอมให้แก่โจทก์ โจทก์จึงมีสิทธิขอให้บังคับจำเลยจดทะเบียนภาระจำยอมได้ คำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค ๕ ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาให้เป็นพับ.