คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 51/2545

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

สัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์จำเลยไม่ได้กำหนดระยะเวลาจ้างไว้ โจทก์และจำเลยจึงมีสิทธิเลิกสัญญาได้ด้วยการบอกกล่าวให้อีกฝ่ายหนึ่งทราบล่วงหน้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 582 วรรคหนึ่ง และพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 17 วรรคสองการที่จำเลยใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาจ้างแรงงาน จึงเป็นการใช้สิทธิตามกฎหมายโดยชอบ ไม่ใช่เป็นการผิดสัญญาและไม่ใช่เป็นการกระทำละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420ส่วนการบอกกล่าวเลิกสัญญาจ้างที่ไม่ได้กระทำให้ถูกต้องตามระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดก็เป็นเรื่องที่โจทก์ชอบจะได้รับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าหรือค่าชดเชยพิเศษแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541มาตรา 17 วรรคสี่,121 วรรคสอง ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 582 วรรคสอง แล้วแต่กรณี และหากการเลิกจ้างนั้นเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมโจทก์ก็ชอบจะได้รับค่าเสียหายตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 มาตรา 49 มิใช่ได้รับค่าสินไหมทดแทนเพื่อละเมิด
ระหว่างที่โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยโจทก์ได้กู้ยืมเงินจาก ค. ประธานกรรมการผู้จัดการบริษัทจำเลย โจทก์ตกลงผ่อนชำระโดยให้หักจากค่าจ้างโจทก์แต่ละเดือน โจทก์ยังค้างชำระอยู่ประมาณ330,000 บาท เหตุที่จำเลยไม่จ่ายค่าจ้างและค่าชดเชยให้แก่โจทก์เพราะเมื่อหักกลบลบหนี้เงินกู้แล้วโจทก์ยังเป็นหนี้ ค. อยู่อีกมากและโจทก์ไม่เคยทวงถาม ดังนี้จำเลยจึงเชื่อโดยสุจริตว่าจำเลยสามารถจะหักกลบลบหนี้ค่าจ้างและค่าชดเชยกับเงินกู้ซึ่งโจทก์เป็นหนี้ ค. ได้แม้จำเลยจะไม่อาจหักกลบลบหนี้ได้ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานพ.ศ. 2541 มาตรา 76 ก็ตาม แต่ก็ถือไม่ได้ว่าจำเลยจงใจไม่จ่ายค่าจ้างและค่าชดเชยแก่โจทก์โดยปราศจากเหตุผลอันสมควร จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายเงินเพิ่มแก่โจทก์
โจทก์ฟ้องเรียกค่าจ้างค้างจ่ายของเดือนพฤศจิกายน 2541จำนวน 30,300 บาท และของวันที่ 1 ถึง 8 ธันวาคม 2541 จำนวน8,000 บาท ต่อมาโจทก์จำเลยแถลงรับข้อเท็จจริงกันว่าจำเลยยังคงค้างชำระค่าจ้างโจทก์เป็นเงิน 10,300 บาท ซึ่งศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายให้โจทก์แล้ว ส่วนค่าจ้างของวันที่ 9 ถึง 31ธันวาคม 2541 และเงินโบนัสโจทก์ไม่ได้บรรยายและขอมาในคำฟ้องโจทก์เพิ่งจะยกขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์ จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลแรงงานกลาง เป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชอบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่งประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ.2522 มาตรา 31 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2539 จำเลยจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างทำงานในตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายบุคคล ค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 30,000 บาท พร้อมกับค่าครองชีพอีกเดือนละ300 บาท วันที่ 16 พฤศจิกายน 2541 จำเลยมีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 20 พฤศจิกายน 2541 แต่ได้มีการขยายระยะเวลาการจ้างออกไปจนถึงวันที่ 8 ธันวาคม 2541 โดยจำเลยไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้าตามกฎหมาย และจงใจไม่จ่ายค่าจ้างค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี ค่าชดเชยและค่าชดเชยพิเศษแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยอ้างเหตุด้านเศรษฐกิจแต่มีการบรรจุพนักงานคนอื่นเข้าทำงานแทนและได้รับเงินเดือนสูงกว่าโจทก์ จำเลยไม่ออกหนังสือผ่านงานให้โจทก์เป็นการกลั่นแกล้งโจทก์ จึงเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมอันเป็นการละเมิดต่อโจทก์ ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าจ้าง ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี ค่าชดเชยและค่าชดเชยพิเศษแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นเงิน 194,300 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี กับเงินเพิ่มอีกร้อยละ 15 ของเงินที่ค้างจ่ายทุกระยะเวลา 7 วัน นับแต่วันที่ 8ธันวาคม 2541 ไปจนกว่าจะชำระเสร็จกับค่าเสียหายที่ทำละเมิดเลิกจ้างไม่เป็นธรรม 4,536,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7 ต่อปี นับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยให้การว่า โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยในตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายบุคคล จำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะโจทก์มักแสดงกิริยาไม่สุภาพในที่ประชุม ปฏิบัติตัวเป็นนักเลง จำเลยไม่ไว้วางใจโจทก์ทางด้านการเงินและผลประโยชน์ที่โจทก์อาจมีร่วมกับบุคคลภายนอกมากระทำต่อจำเลย ดังนั้นเมื่อจำเลยประสบวิกฤตทางเศรษฐกิจจำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์โดยให้โจทก์มีสิทธิได้รับค่าชดเชยและเงินทุกจำนวนที่พึงได้ตามกฎหมาย แต่โจทก์เสนอให้หักกับหนี้เงินกู้ที่โจทก์กู้ยืม นายเคียวจิ โมชิซูกิ ประธานกรรมการของจำเลยเป็นการส่วนตัวจำเลยก็ยินยอมตามนั้น หลังจากจำเลยมีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์แล้ว โจทก์ก็ขออยู่สะสางงานและเก็บสัมภาระของโจทก์จนถึงวันที่ 8 ธันวาคม 2541 จึงหลบหายไป สำหรับค่าจ้างเดือนพฤศจิกายน2541 โจทก์ได้ขอเบิกล่วงหน้าไปจนหมดและเบิกเกินไปเท่ากับค่าจ้างช่วงวันที่ 1 ถึง 8 ธันวาคม 2541 ด้วย จำเลยไม่ได้ติดค้างและจงใจไม่จ่ายค่าจ้าง ค่าชดเชย หรือเงินอื่นใดแก่โจทก์ จำเลยไม่เคยขัดข้องที่จะออกหนังสือรับรองการผ่านงานให้แก่โจทก์ จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยมีเหตุผลอันสมควร ไม่ใช่กลั่นแกล้ง ไม่เป็นการละเมิดและไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมแก่โจทก์ โจทก์เรียกค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมจำนวนสูงเกินสมควร และโจทก์ใช้สิทธิฟ้องคดีโดยไม่สุจริตขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า สัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นสัญญาจ้างที่มิได้กำหนดระยะเวลาวินิจฉัยว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่มีเหตุผลอันสมบูรณ์เกี่ยวกับความสามารถหรือความประพฤติของโจทก์ หรือความจำเป็นในการดำเนินการของจำเลย เป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมแต่ไม่เป็นละเมิดจำเลยค้างชำระค่าจ้างโจทก์ 10,300 บาท จำเลยระบุเหตุเลิกจ้างในคำสั่งเลิกจ้างว่าจำเลยมีความจำเป็นต้องลดต้นทุนค่าใช้จ่ายบุคลากรสืบเนื่องมาจากปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจ ไม่เข้าข้อยกเว้นไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 119 จำเลยต้องจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย90 วันตามมาตรา 118(2) จำเลยเลิกจ้างโจทก์ไม่ใช่เพราะเหตุปรับปรุงหน่วยงาน กระบวนการผลิต การจำหน่ายหรือการบริการอันเนื่องมาจากการนำเครื่องจักรมาใช้หรือเปลี่ยนแปลงเครื่องจักรหรือเทคโนโลยี โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าชดเชยพิเศษแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตามมาตรา 121 จำเลยไม่ได้จงใจไม่จ่ายค่าจ้างและค่าชดเชยให้โจทก์ แต่จำเลยผิดนัดไม่จ่ายค่าจ้างและค่าชดเชยแก่โจทก์ตั้งแต่วันที่ 12 ธันวาคม 2541 ต้องเสียดอกเบี้ยแก่โจทก์ในอัตราร้อยละ 15ต่อปี ตามมาตรา 9 พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม 90,900 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 7ธันวาคม 2542 อันเป็นวันฟ้องและจ่ายค่าจ้าง 10,300 บาท ค่าชดเชย90,900 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 12 ธันวาคม2541 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ข้อแรกของโจทก์ว่า การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่เป็นธรรมนั้น เป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ด้วยหรือไม่ เห็นว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า สัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์จำเลยไม่ได้กำหนดระยะเวลาจ้างไว้ โจทก์และจำเลยจึงมีสิทธิเลิกสัญญาได้ด้วยการบอกกล่าวให้อีกฝ่ายหนึ่งทราบล่วงหน้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 582 วรรคหนึ่ง และพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541มาตรา 17 วรรคสอง การที่จำเลยใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาจ้างแรงงานจึงเป็นการใช้สิทธิตามกฎหมายโดยชอบ ไม่ใช่เป็นการผิดสัญญาและไม่ใช่เป็นการจงใจหรือประมาทเลินเล่อทำต่อโจทก์โดยผิดกฎหมายทำให้โจทก์เสียหายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420จำเลยจึงมิได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ ส่วนการบอกกล่าวเลิกสัญญาจ้างที่ไม่ได้กระทำให้ถูกต้องตามระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดก็เป็นเรื่องที่โจทก์ชอบจะได้รับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า หรือค่าชดเชยพิเศษแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานพ.ศ. 2541 มาตรา 17 วรรคสี่, 121 วรรคสอง ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 582 วรรคสอง แล้วแต่กรณี และหากการเลิกจ้างนั้นเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม โจทก์ก็ชอบจะได้รับค่าเสียหายตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 มาตรา 49 มิใช้ได้รับค่าสินไหมทดแทนเพื่อละเมิด อุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น

ปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ข้อต่อมามีว่า จำเลยต้องจ่ายเงินเพิ่มสำหรับค่าจ้างและค่าชดเชยแก่โจทก์หรือไม่ เห็นว่าศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติว่า ระหว่างที่โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยโจทก์ได้กู้ยืมเงินจากนายเคียวจิ โมชิซูกิ ประธานกรรมการผู้จัดการบริษัทจำเลยรวม 2 ครั้ง โจทก์ตกลงผ่อนชำระโดยให้หักจากค่าจ้างโจทก์แต่ละเดือนตามบันทึกกู้ยืมเงินเอกสารหมาย ล.1และ ล.2 ปัจจุบันโจทก์ยังค้างชำระหนี้เงินกู้ดังกล่าวประมาณ330,000 บาท เหตุที่จำเลยไม่จ่ายค่าจ้างและค่าชดเชยตามฟ้องให้แก่โจทก์เพราะเมื่อหักกลบลบหนี้ค่าจ้างและค่าชดเชยกับเงินกู้ซึ่งโจทก์เป็นหนี้ประธานกรรมการผู้จัดการบริษัทจำเลยอยู่อีกมากมายและโจทก์ไม่เคยทวงถาม ดังนี้จะเห็นได้ว่าจำเลยเชื่อโดยสุจริตว่าจำเลยสามารถจะหักกลบลบหนี้ค่าจ้างและค่าชดเชยกับเงินกู้ซึ่งโจทก์เป็นหนี้ประธานกรรมการผู้จัดการบริษัทจำเลยได้ เมื่อหักกลบลบหนี้แล้วโจทก์ยังเป็นหนี้อยู่อีกจำนวนมาก แม้จำเลยจะไม่อาจหักกลบลบหนี้เงินกู้กับค่าจ้างที่จำเลยจะต้องจ่ายให้แก่โจทก์ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 76 ก็ตามแต่พฤติการณ์ของจำเลยดังกล่าวแล้วยังถือไม่ได้ว่าจำเลยจงใจไม่จ่ายค่าจ้างและค่าชดเชยแก่โจทก์โดยปราศจากเหตุผลอันสมควรที่ศาลแรงงานกลางไม่กำหนดให้จำเลยจ่ายเงินเพิ่มแก่โจทก์ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา อุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน

ส่วนที่โจทก์อุทธรณ์ว่า แม้จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยบอกกล่าวล่วงหน้าถูกต้องตามกฎหมาย แต่จำเลยก็ต้องจ่ายค่าจ้างสำหรับเดือนธันวาคมและเงินโบนัสแก่โจทก์ด้วยนั้น เห็นว่า โจทก์ฟ้องเรียกค่าจ้างค้างจ่ายของเงินเดือนพฤศจิกายน 2541 จำนวน 30,300 บาทและของวันที่ 1 ถึง 8 ธันวาคม 2541 จำนวน 8,000 บาท ต่อมาโจทก์จำเลยแถลงรับข้อเท็จจริงกันว่าจำเลยยังคงค้างชำระค่าจ้างโจทก์เป็นเงิน10,300 บาท ตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลแรงงานกลางฉบับลงวันที่ 10 เมษายน 2543 ซึ่งศาลแรงงานกลางก็พิพากษาให้จำเลยจ่ายให้โจทก์แล้ว ส่วนค่าจ้างของวันที่ 9 ถึง 31 ธันวาคม 2541 และเงินโบนัสโจทก์ไม่ได้บรรยายและขอมาในคำฟ้อง โจทก์เพิ่งจะยกขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์ จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลแรงงานกลาง เป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชอบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย”

พิพากษายืน

Share