คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1426/2545

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ว. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมมีคำสั่งมอบหมายให้จำเลยที่ 3 มีอำนาจในการสั่ง การอนุญาตการอนุมัติ การปฏิบัติราชการ หรือการดำเนินการอื่นเกี่ยวกับราชการของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน และสำนักงานประกันสังคมซึ่งเป็นการมอบหมายที่ชอบด้วยมาตรา 20 และมาตรา 38(2) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 จึงมีผลใช้บังคับจนกว่าจะถูกยกเลิกหรือแก้ไขเปลี่ยนแปลง แม้ต่อมาว. ลาออกจากตำแหน่งและมีการแต่งตั้ง ป. เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแทน ก็ไม่ทำให้คำสั่งเดิมสิ้นผลบังคับ ดังนั้นการที่จำเลยที่ 3 ได้ออกคำสั่งกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม ในฐานะรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวง ปฏิบัติราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวง ตามที่ได้รับมอบหมาย จึงเป็นการสั่งการที่มีอำนาจกระทำได้โดยชอบด้วยพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 35 ประกอบด้วยพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 มาตรา 20

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2543 นายสวัสดิ์ ยานุกับพวกรวม 125 คน ซึ่งเป็นลูกจ้างโจทก์ ได้แจ้งข้อเรียกร้องเพื่อขอเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างต่อโจทก์ ต่อมาวันที่ 12 พฤษภาคม 2543 โจทก์แจ้งข้อเรียกร้องเพื่อขอเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างต่อนายสวัสดิ์ยานุ กับพวก ซึ่งเป็นลูกจ้าง เจรจากันหลายครั้งไม่สามารถตกลงกันได้ พนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานดำเนินการไกล่เกลี่ยแล้วตกลงกันไม่ได้ ถือว่ามีข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้เกิดขึ้น ระหว่างนั้นโจทก์ใช้สิทธิตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 ปิดงานบางส่วนตั้งแต่วันที่ 29 พฤษภาคม 2543 ต่อมาวันที่ 14 มิถุนายน 2543 จำเลยที่ 3 ได้มีคำสั่งกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมที่ 73/2543 ให้โจทก์รับนายสวัสดิ์ ยานุ กับพวกลูกจ้างที่ถูกโจทก์ปิดงานกลับเข้าทำงานพร้อมจ่ายค่าจ้างตามอัตราที่เคยจ่ายแก่ลูกจ้างนั้น ตั้งแต่วันที่ 19 มิถุนายน2543 เป็นต้นไป โดยอ้างว่าอาศัยอำนาจตามมาตรา 35 แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 ซึ่งความจริงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการปิดงานของโจทก์ครั้งนี้ ไม่เข้าองค์ประกอบใด ๆ ตามมาตรา 35 แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 อันทำให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 สามารถออกคำสั่งบังคับให้โจทก์เปิดงานได้ จำเลยที่ 3มีอำนาจในการปฏิบัติราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม เนื่องจากได้รับมอบอำนาจจากพลตำรวจตรีวุฒิ สุโกศล ซึ่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมเดิม และเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2543 พลตำรวจตรีวุฒิ สุโกศล ได้ลาออกจากการเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม ทำให้ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลง ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540มาตรา 216(2) และต่อมาวันที่ 14 มิถุนายน 2543 ได้มีพระบรมราชโองการแต่งตั้งให้พลตำรวจเอกประชา พรหมนอกเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม แทนดังนั้นในวันที่ 14 มิถุนายน 2543 จำเลยที่ 3 จึงไม่มีอำนาจมีคำสั่งตามมาตรา 35 แล้ว เพราะผู้มอบอำนาจได้พ้นจากตำแหน่งไป และรัฐมนตรีคนใหม่ก็ยังมิได้ถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์คำสั่งของจำเลยที่ 3 ที่ลงนามในคำสั่งที่ 73/2543 ในวันที่ 14 มิถุนายน 2543 จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะไม่มีอำนาจลงนามแล้ว ขอให้เพิกถอนคำสั่งกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมที่ 73/2543 ลงวันที่ 14 มิถุนายน 2543 ทั้งฉบับ เพื่อมิให้โจทก์ต้องรับนายสวัสดิ์ ยานุ กับพวกที่ถูกนายจ้างปิดงานกลับเข้าทำงานและจ่ายค่าจ้างตามอัตราที่เคยจ่ายแก่ลูกจ้างนั้น และมิให้ลูกจ้างดังกล่าวกลับเข้าทำงานตลอดจนเพื่อมิให้คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ดำเนินการชี้ขาดข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้นั้น

จำเลยทั้งสามให้การว่า จำเลยที่ 3 ได้รับมอบหมายอำนาจหน้าที่จากพลตำรวจตรีวุฒิ สุโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม ก่อนที่จำเลยที่ 3 ลงนามในคำสั่งดังกล่าวพลตำรวจตรีวุฒิได้ลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม วันที่ 14 มิถุนายน 2543 มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าแต่งตั้งให้จำเลยที่ 2 เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม และจำเลยที่ 2 ได้ถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ก่อนเข้ารับหน้าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมในวันที่ 17 มิถุนายน 2543 การที่จำเลยที่ 3 ลงนามในคำสั่งที่ 73/2543 จึงมีอำนาจลงนามได้ เพราะจำเลยที่ 2 ยังไม่ได้ถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ก่อนเข้ารับหน้าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 มาตรา 205 และต้องถือตามอำนาจหน้าที่ในการปฏิบัติหน้าที่ตามที่ได้รับการมอบหมายจากพลตำรวจตรีวุฒิ สุโกศล รัฐมนตรีว่าการคนเดิม ซึ่งพ้นจากตำแหน่งไปจนกว่าจำเลยที่ 2 รัฐมนตรีว่าการคนใหม่จะได้มีคำสั่งเปลี่ยนแปลงการมอบหมายหน้าที่ให้แก่จำเลยที่ 3 การลงนามในฐานะผู้รับมอบอำนาจจากผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการคนเดิม มิได้มอบอำนาจในฐานะส่วนตัวการมอบอำนาจจึงมีผลตลอดไปจนกว่าจะถูกเปลี่ยนแปลงจากรัฐมนตรีว่าการคนใหม่ที่มีอำนาจ เมื่อยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง จำเลยที่ 3 จึงมีอำนาจลงนามในคำสั่งที่ 73/2543 ขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงว่า เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2543 นายสวัสดิ์ ยานุ กับพวกรวม 125 คน ซึ่งเป็นลูกจ้างโจทก์ได้แจ้งข้อเรียกร้องขอเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างต่อโจทก์ ต่อมาวันที่ 12 พฤษภาคม 2543 โจทก์แจ้งข้อเรียกร้องเพื่อขอเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างต่อนายสวัสดิ์ ยานุ กับพวกรวม 125 คน ทั้งสองฝ่ายได้เจรจาต่อรองกันหลายครั้ง แต่ไม่สามารถตกลงกันได้ ถือว่าได้มีข้อพิพาทแรงงานเกิดขึ้น พนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานได้ดำเนินการไกล่เกลี่ยแต่ไม่สามารถตกลงกันได้ จนเกิดเป็นข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้โจทก์จึงใช้สิทธิปิดงานบางส่วนตั้งแต่วันที่ 29พฤษภาคม 2543 ตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 ต่อมาวันที่ 14 มิถุนายน 2543 จำเลยที่ 3 อาศัยอำนาจตามมาตรา 35 แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 ได้มีคำสั่งกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมที่ 73/2543 ให้โจทก์รับนายสวัสดิ์ ยานุ กับพวกที่ถูกโจทก์สั่งปิดงานให้กลับเข้าทำงานพร้อมจ่ายค่าจ้างตามอัตราที่เคยจ่ายให้แก่ลูกจ้างนั้น ตั้งแต่วันที่ 19 มิถุนายน 2543 เป็นต้นไปคดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า จำเลยที่ 3 มีอำนาจออกคำสั่งกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมที่ 73/2543 หรือไม่ และคำสั่งดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายหรือไม่พิเคราะห์แล้ว พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 มาตรา 20 บัญญัติว่า “ภายใต้บังคับบทบัญญัติมาตรา 11 กระทรวงหนึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการและกำหนดนโยบายของกระทรวงให้สอดคล้องกับนโยบายที่คณะรัฐมนตรีกำหนดหรืออนุมัติและรับผิดชอบในการปฏิบัติราชการของกระทรวง และจะให้มีรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเป็นผู้ช่วยสั่งและปฏิบัติราชการก็ได้

ในกรณีที่มีรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวง การสั่งหรือการปฏิบัติราชการของรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงให้เป็นไปตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมอบหมาย…”

มาตรา 38 บัญญัติว่า “อำนาจในการสั่ง การอนุญาต การอนุมัติการปฏิบัติราชการหรือการดำเนินการอื่น ที่ผู้ดำรงตำแหน่งใดจะพึงปฏิบัติหรือดำเนินการตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ หรือคำสั่งใด หรือมติของคณะรัฐมนตรีในเรื่องใด ถ้ากฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ หรือคำสั่งใด หรือมติของคณะรัฐมนตรีในเรื่องนั้นมิได้กำหนดเรื่องการมอบอำนาจไว้เป็นอย่างอื่น หรือมิได้ห้ามเรื่องการมอบอำนาจไว้ ผู้ดำรงตำแหน่งนั้น อาจมอบอำนาจให้ผู้ดำรงตำแหน่งอื่นปฏิบัติราชการแทนได้ ดังต่อไปนี้

(1)…

(2) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอาจมอบอำนาจให้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวง ปลัดกระทรวง อธิบดี หรือหัวหน้าส่วนราชการซึ่งดำรงตำแหน่งเทียบเท่าหรือผู้ว่าราชการจังหวัด…”

หมายความว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมีอำนาจมอบหมายให้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงปฏิบัติราชการแทนได้ ข้อเท็จจริงปรากฏว่าเมื่อวันที่ 18 เมษายน 2543 พลตำรวจตรีวุฒิ สุโกศลรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมในขณะนั้นได้มีคำสั่งที่ 51/2543มอบหมายให้จำเลยที่ 3 มีอำนาจในการสั่ง การอนุญาตการอนุมัติการปฏิบัติราชการ หรือการดำเนินการอื่นเกี่ยวกับราชการของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน และสำนักงานประกันสังคมตามข้อ 2 ของเอกสารหมาย จ.2 ซึ่ง เป็นการมอบหมายที่ชอบด้วยมาตรา 20 และมาตรา 38(2) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดินพ.ศ. 2534 จึงมีผลใช้บังคับจนกว่าจะถูกยกเลิกหรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงแม้ต่อมาภายหลังพลตำรวจตรีวุฒิ สุโกศล จะลาออกจากตำแหน่งเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2543 ตามเอกสารหมาย จ.11 และมีการแต่งตั้งพลตำรวจเอกประชา พรหมนอก เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมแทนเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2543 ตามเอกสารหมาย จ.10 ก็หาทำให้คำสั่ง 51/2543 สิ้นผลบังคับไปไม่ ดังนั้น การที่จำเลยที่ 3 ได้ออกคำสั่งกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมที่ 73/2543 ลงวันที่ 14 มิถุนายน 2543 ในฐานะรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม ปฏิบัติราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม ตามที่ได้รับมอบหมายตามคำสั่งที่ 51/2543 ดังกล่าว จึงเป็นการสั่งการที่มีอำนาจกระทำได้โดยชอบด้วยพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 35 ประกอบด้วยพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 มาตรา 20 และมาตรา 38(2)และเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย กรณีจึงไม่มีเหตุที่จะเพิกถอนคำสั่งที่ 73/2543 ดังกล่าวของจำเลยที่ 3 ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าคำสั่งที่ 73/2543 ของจำเลยที่ 3 ชอบด้วยพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 35 ประกอบด้วยพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 มาตรา 42 และพิพากษายกฟ้องนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share