แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
เช็คอันสั่งให้ใช้เงินแก่ผู้ถือย่อมโอนให้แก่กันโดยการส่งมอบเมื่อโจทก์ได้รับเช็คไว้ในครอบครอง โจทก์จึงเป็นผู้ทรงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 904 แม้โจทก์จะสลักหลังโอนเช็คให้แก่บริษัท ท.และบริษัทท. นำเช็คไปเรียกเก็บเงินจากธนาคารไม่ได้ ซึ่งถือว่าบริษัท ท. เป็นผู้เสียหายในขณะเช็คถูกปฏิเสธการจ่ายเงิน โจทก์ไม่ใช่ผู้เสียหายก็ตาม แต่เมื่อโจทก์ได้รับเช็คคืนมา โจทก์ก็ย่อมมีสิทธิเช่นเดียวกับผู้ทรงในการที่จะบังคับเอาแก่ผู้ที่มีความผูกพันอยู่แล้วก่อนตนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 967 วรรคสาม ประกอบมาตรา 989วรรคแรก โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง โจทก์ฟ้องคดีนี้อันเนื่องมาจากสัญญาซื้อขายลดเช็คที่จำเลยที่ 1ทำไว้กับโจทก์ จึงมีอายุความฟ้องร้อง 10 ปี คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ และเมื่อโจทก์ยังไม่ได้รับเงินตามเช็คเพราะธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน หนี้จึงไม่ระงับไปตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 321 วรรคสาม
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 หุ้นส่วนผู้จัดการได้นำเช็คมาขายลดแก่โจกท์และรับเงินไปครบถ้วนแล้ว เช็คฉบับดังกล่าวมีนายเซียวคิ้ม แซ่เตียวเป็นผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่าย จำเลยที่ 2ลงลายมือชื่อสลักหลังพร้อมประทับตราสำคัญของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2ที่ 3 และที่ 4 เป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 อย่างลูกหนี้ร่วม ต่อมาโจทก์ได้สลักหลังเช็คฉบับดังกล่าวแล้วนำไปขายลดให้แก่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ทิสโก้ จำกัด ครั้นถึงกำหนดชำระเงินตามเช็คบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ทิสโก้ จำกัดได้นำเช็คไปเรียกเก็บเงินปรากฏว่าธนาคารตามเช็คได้ปฏิเสธการจ่ายเงินโจทก์ได้ชำระเงินตามเช็คในฐานะผู้สลักหลังและผู้ขายลดเช็คให้แก่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ทิสโก้ จำกัด ไปครบถ้วนแล้ว ขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันหรือแทนกันชำระต้นเงินและดอกเบี้ย
จำเลยทั้งสี่ให้การว่า โจทก์ได้โอนเช็คพิพาทตามฟ้อง โดยการขายลดเช็คให้แก่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ทิสโก้ จำกัด ไปแล้วโจทก์จึงไม่ใช่ผู้ทรงเช็คโดยชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ย่อมไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ได้สลักหลังเช็คพิพาทในคดีนี้พร้อมประทับตราสำคัญของจำเลยที่ 1 แล้วนำไปชำระหนี้ให้แก่นายวินัยและนายวุฒิมิได้นำไปขายลดเช็คให้แก่โจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงิน 199,908 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 25 ตุลาคม 2522 ถึงวันฟ้องแต่ทั้งนี้ดอกเบี้ยต้องไม่เกิน 196,576 บาท และดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปีของเงิน 199,908 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสี่อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสี่ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด มีจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการและจำเลยที่ 3 เป็นหุ้นส่วนประเภทจำกัดความรับผิด เมื่อพ.ศ. 2520 จำเลยที่ 1 เป็นลูกค้าขายลดเช็คกับโจทก์ในวงเงิน500,000 บาท ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี โดยมีข้อตกลงกันว่าเช็คที่นำมาขายลดแต่ละฉบับต้องไม่ต่ำกว่า 5,000 บาท และขั้นสูงต้องไม่เกิน 100,000 บาท โดยมีจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 เป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมปรากฏตามเอกสารหมาย จ.4ถึง จ.6 ต่อมาเดือนกรกฎาคม 2522 ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์จากการขายลดเช็คเป็นเงิน 259,908 บาท จำเลยที่ 2 สั่งจ่ายเช็คธนาคารกรุงเทพ จำกัด สาขาพาหุรัด ลงวันที่ 25 สิงหาคม 2522จำนวนเงิน 30,000 บาท และฉบับลงวันที่ 25 กันยายน 2522จำนวนเงิน 30,000 บาท ส่วนหนี้ที่เหลืออีกจำนวน 199,908 บาท จำเลยที่ 1 ได้มอบเช็คเอกสารหมาย จ.7 ให้แก่โจทก์โดยจำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อสลักหลังพร้อมประทับตราสำคัญของจำเลยที่ 1 ในเช็คดังกล่าวไว้ด้วย
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสี่ข้อสองมีว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ รับฟังได้ว่า ภายหลังที่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ทิสโก้ จำกัด เรียกเก็บเงินตามเช็คเอกสารหมาย จ.7 ไม่ได้แล้วโจทก์ได้ชำระเงินตามเช็คพร้อมด้วยดอกเบี้ยให้แก่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ทิสโก้ จำกัด พร้อมกับรับเช็คและใบคืนเช็คเอกสารหมาย จ.7 และ จ.8 คืนมา เช็คเอกสารหมาย จ.7 เป็นเช็คอันสั่งให้ใช้เงินแก่ผู้ถือย่อมโอนให้แก่กันโดยการส่งมอบ เมื่อโจทก์ได้รับเช็คเอกสารหมาย จ.7 ไว้ในครอบครองโจทก์จึงเป็นผู้ทรงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 904 แม้โจทก์จะสลักหลังโอนเช็คให้แก่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ทิสโก้ จำกัด และบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ทิสโก้ จำกัด นำเช็คไปเรียกเก็บเงินจากธนาคารไม่ได้ ซึ่งถือว่าบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ทิสโก้ จำกัด เป็นผู้เสียหายในขณะเช็คถูกปฏิเสธการจ่ายเงินโจทก์ไม่ใช่ผู้เสียหายก็ตาม แต่เมื่อโจทก์ได้รับเช็คเอกสารหมาย จ.7 คืนมาโจทก์ก็ย่อมมีสิทธิเช่นเดียวกับผู้ทรงในการที่จะบังคับเอาแก่ผู้ที่มีความผูกพันอยู่แล้วก่อนตนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 967 วรรคสาม ประกอบมาตรา 989 วรรคแรก โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสี่ข้อสามมีว่า เช็คเอกสารหมาย จ.7 ขาดอายุความหรือไม่ จำเลยทั้งสี่ฎีกาว่า โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้สลักหลังเช็คพ้นกำหนด 1 ปีแล้ว จึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1002 เห็นว่าโจทก์ฟ้องคดีนี้อันเนื่องมาจากสัญญาซื้อขายลดเช็คที่จำเลยที่ 1ทำไว้กับโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.4 จึงมีอายุความฟ้องร้อง10 ปี คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ ที่จำเลยทั้งสี่ฎีกาว่าเช็คเอกสารหมาย จ.7 ไม่ใช่เช็คที่จำเลยทั้งสี่นำไปขายลดให้แก่โจทก์แต่เป็นเช็คที่มีผู้อื่นนำมาชำระหนี้แทนโดยจำเลยที่ 1 เป็นผู้สลักหลังเช็ค ย่อมแสดงว่ามีข้อตกลงประนีประนอมยอมความและยินยอมให้บุคคลภายนอกชำระหนี้แทน จึงเป็นการแปลงหนี้ใหม่เป็นเรื่องตั๋วเงินและเช็ค ดังนั้นสัญญาขายลดเช็คจึงระงับไปก่อนที่จะมีการสั่งจ่ายเช็คเอกสารหมาย จ.7 โจทก์จึงสิ้นสิทธิเรียกร้องตามสัญญาขายลดเช็คด้วยนั้น ในข้อนี้คดีได้ความยุติว่า จำเลยที่ 1 นำเช็คเอกสารหมาย จ.7 มาชำระหนี้ให้โจทก์เมื่อโจทก์ยังไม่ได้รับเงินตามเช็คเพราะธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน หนี้จึงไม่ระงับไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 321 วรรคสาม และมิใช่เป็นการแปลงหนี้ใหม่”
พิพากษายืน