คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2875/2536

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 3 อยู่ในฐานะเป็นลูกหนี้ร่วมกับจำเลยที่ 1 ที่ 2และนาวาตรีสมภพ โจทก์มีสิทธิเรียกให้จำเลยที่ 3 ชำระหนี้ทั้งหมดแก่โจทก์โดยสิ้นเชิง ไม่ต้องคำนึงว่าหากลูกหนี้ร่วมอื่นชำระหนี้แก่โจทก์ด้วยจะสามารถชำระหนี้แก่โจทก์ได้ทั้งหมดหรือไม่เพราะการพิจารณาว่าลูกหนี้ร่วมคนใดมีหนี้สินล้นพ้นตัวไม่สามารถชำระหนี้ได้หรือไม่นั้น เป็นเรื่องเฉพาะตัวของลูกหนี้ร่วมแต่ละคน จึงต้องพิจารณาเฉพาะตัวลูกหนี้ร่วมผู้นั้นว่ามีหนี้สินล้นพ้นตัวหรือไม่เท่านั้น ไม่เกี่ยวกับลูกหนี้ร่วมคนอื่น ดังนั้น แม้โจทก์ไม่ใช้สิทธิบังคับเอาแก่นาวาตรีสมภพลูกหนี้ร่วมคนหนึ่ง และถอนฟ้องจำเลยที่ 2 ลูกหนี้ร่วมอีกคนหนึ่งก็มิได้เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายแต่ประการใด จึงถือไม่ได้ว่าเป็นเหตุที่ไม่สมควรให้จำเลยที่ 3 ล้มละลาย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 เป็นลูกหนี้โจทก์ตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 5953/2521 เป็นจำนวน 44,383.12บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จำเลยที่ 1 ที่ 2ชำระหนี้ให้โจทก์ได้เพียงบางส่วนยังคงเป็นหนี้โจทก์ทั้งต้นเงินและดอกเบี้ยรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 32,264.90 บาท และคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 13135/2521 ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามกับนาวาตรีสมภพ เธียรไทยและนางหงษ์รัตน์ เธียรไทย ร่วมกันชำระหนี้ให้โจทก์เป็นเงิน 783,337.92 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 13 ต่อปี ต่อมาวันที่ 6 พฤษภาคม 2530 นาวาตรีสมภพได้ชำระหนี้ให้โจทก์ 250,000 บาท โจทก์นำไปหักออกจากดอกเบี้ยและต้นเงินแล้วจำเลยทั้งสามยังเป็นหนี้โจทก์จำนวน 1,447,611.31 บาทและเมื่อคิดถึงวันที่ 21 มิถุนายน 2531 จำเลยทั้งสามเป็นหนี้โจทก์ทั้งต้นเงินและดอกเบี้ยรวมกันเป็นเงิน 1,562,837.10 บาท นอกจากนี้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ยังเป็นลูกหนี้โจทก์ตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 6657/2522 เป็นจำนวน 323,620.90 บาทพร้อมดอกเบี้ยทบต้นในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี แต่จำเลยที่ 1 ที่ 2ไม่ชำระ โจทก์จึงนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์ที่จำนองขายทอดตลาดได้เงิน 446,238.50 บาท เมื่อหักชำระหนี้แล้ว จำเลยที่ 1 ที่ 2 ยังเป็นหนี้โจทก์คิดเพียงถึงวันที่ 21 มิถุนายน 2531เป็นต้นเงินและดอกเบี้ยรวมกันเป็นจำนวน 271,679.99 บาทรวมเป็นเงินที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 เป็นหนี้โจทก์ตามคำพิพากษาทั้งสามคดีดังกล่าวเป็นจำนวน 1,866,781.90 บาท และในจำนวนหนี้ดังกล่าว จำเลยที่ 3 ต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์เป็นเงิน 1,562,837.10บาท ก่อนฟ้องคดีนี้โจทก์มีหนังสือทวงถามให้จำเลยทั้งสามชำระหนี้แล้วเป็นจำนวน 2 ครั้ง ซึ่งมีระยะห่างกันไม่น้อยกว่า 30 วันแต่จำเลยทั้งสามเพิกเฉย โจทก์ได้พยายามสืบหาทรัพย์สินของจำเลยทั้งสาม แต่จำเลยทั้งสามไม่มีทรัพย์ใดจะพึงยึดมาชำระหนี้ได้แสดงว่าจำเลยทั้งสามมีหนี้สินล้นพ้นตัว ขอให้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยทั้งสามเด็ดขาดและพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลาย
จำเลยทั้งสามไม่ยื่นคำให้การ จำเลยที่ 1 ที่ 2 ขาดนัดพิจารณา
ระหว่างพิจารณาโจทก์ขอถอนฟ้องจำเลยที่ 2 ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยที่ 1และที่ 3 เด็ดขาดตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 14ให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันชดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยหักจากกองทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ส่วนค่าทนายความให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์กำหนดให้ตามที่เห็นสมควร
จำเลยที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า การที่โจทก์ไม่ใช้สิทธิบังคับคดีแก่นาวาตรีสมภพและถอนฟ้องจำเลยที่ 2ถือเป็นเหตุที่ไม่สมควรให้จำเลยที่ 3 ล้มละลาย ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 14 หรือไม่ เห็นว่า การพิจารณาว่าลูกหนี้ร่วมคนใดมีหนี้สินล้นพ้นตัวไม่สามารถชำระหนี้ได้หรือไม่นั้น เป็นเรื่องเฉพาะตัวของลูกหนี้ร่วมแต่ละคน จึงต้องพิจารณาเฉพาะตัวลูกหนี้ร่วมผู้นั้นว่ามีหนี้สินล้นพ้นตัวหรือไม่เท่านั้นไม่เกี่ยวกับลูกหนี้ร่วมอื่น จำเลยที่ 3 อยู่ในฐานะเป็นลูกหนี้ร่วมกับจำเลยที่ 1 ที่ 2 และนาวาตรีสมภพ ซึ่งต้องชำระหนี้ตามคำพิพากษาตามยอมพร้อมดอกเบี้ยนับถึงวันฟ้องแก่โจทก์ในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 13135/2521 จำนวน 1,562,837.10 บาท โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้มีสิทธิเรียกให้จำเลยคนใดคนหนึ่งหรือลูกหนี้ร่วมอื่นชำระหนี้โดยสิ้นเชิงหรือแต่โดยส่วนแก่โจทก์ได้ตามแต่จะเลือกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 291 การที่นาวาตรีสมภพชำระหนี้แก่โจทก์เป็นเงิน 250,000 บาท ก็ย่อมเป็นประโยชน์แก่จำเลยที่ 3 ด้วย แต่เมื่อหนี้จำนวนดังกล่าวยังมิได้ชำระแก่โจทก์เสร็จสิ้น โจทก์มีสิทธิเรียกให้จำเลยที่ 3 ในฐานะลูกหนี้ร่วมชำระหนี้ทั้งหมดแก่โจทก์ได้โดยสิ้นเชิง หาใช่รับผิดเฉพาะส่วนของจำเลยที่ 3 จำนวน 300,000 บาทเศษ เท่านั้นไม่ จำเลยที่ 3เบิกความว่า มีรายได้เดือนละ 10,000 – 20,000 บาท สามารถผ่อนชำระให้โจทก์ได้เดือนละ 5,000 – 10,000 บาท ในส่วนที่จำเลยที่ 3ต้องรับผิดจำนวน 300,000 บาทเศษ เป็นการเบิกความลอย ๆ ไม่มีหลักฐานยืนยันทั้งหนี้ที่จำเลยที่ 3 ต้องรับผิดต่อโจทก์มิใช่จำนวนเพียง 300,000 บาทเศษ แต่จำนวนถึง 1,000,000 บาทเศษข้อนำสืบของจำเลยที่ 3 ว่าสามารถชำระหนี้แก่โจทก์จึงรับฟังไม่ได้ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 3 มีหนี้สินล้นพ้นตัวไม่สามารถชำระหนี้แก่โจทก์ เมื่อโจทก์มีสิทธิเรียกก็ให้จำเลยที่ 3 ชำระหนี้ทั้งหมดแก่โจทก์ โดยสิ้นเชิงแล้ว ก็ไม่ต้องคำนึงว่าหากลูกหนี้ร่วมอื่นชำระหนี้แก่โจทก์ด้วยจะสามารถชำระหนี้แก่โจทก์ได้ทั้งหมดหรือไม่ เพราะเป็นเรื่องเฉพาะตัวของลูกหนี้ร่วมอื่น ไม่เกี่ยวกับจำเลยที่ 3 ดังนั้น แม้โจทก์ไม่ใช้สิทธิบังคับเอาแก่นาวาตรีสมภพลูกหนี้ร่วมคนหนึ่ง และถอนฟ้องจำเลยที่ 2 ลูกหนี้ร่วมอีกคนหนึ่งก็มิได้เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายแต่ประการใด จึงถือไม่ได้ว่าเป็นเหตุที่ไม่สมควรให้จำเลยที่ 3 ล้มละลาย ดังที่จำเลยที่ 3 ฎีกา ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 3ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share