คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2871/2527

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยข้อเท็จจริงว่า โจทก์ไม่ได้จัดการซื้อหุ้นให้จำเลยและออกเงินทดรองแทนจำเลย จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดตามฟ้องโจทก์ โจทก์มิได้ฎีกาคัดค้านในปัญหาข้อนี้ ข้อเท็จจริงจึงยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ดังนั้นแม้จะวินิจฉัยข้อกฎหมายตามฎีกาของโจทก์ว่า นิติกรรมระหว่างโจทก์กับจำเลยไม่ตกเป็นโมฆะก็ไม่ทำให้โจทก์ชนะคดีได้ ฎีกาของโจทก์จึงไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยตกลงให้โจทก์เป็นตัวแทนซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และจำเลยสั่งให้โจทก์ซื้อหุ้นบริษัทราชาเงินทุนจำกัด (บริษัทโจทก์) จำนวน ๑,๔๐๐ หุ้นในราคาตลาด โจทก์จัดการซื้อให้โดยออกเงินทดรองค่าหุ้นและค่านายหน้าแทนจำเลย ซึ่งจำเลยได้กู้ยืมเงินจากบริษัทราชามาเก็ตติ้ง จำกัด มาชำระหนี้จำนวนดังกล่าวให้แก่โจทก์ โดยบริษัทราชามาเก็ตติ้งจำกัด ได้กู้ยืมเงินจากโจทก์ไปให้จำเลยกู้อีกต่อหนึ่ง และจำเลยจำนำหุ้นที่ซื้อนั้นไว้แก่บริษัทราชามาเก็ตติ้ง จำกัด บริษัทราชามาเก็ตติ้ง จำกัด เพิกเฉยไม่ทวงหนี้จากจำเลย โจทก์จึงใช้สิทธิเรียกร้องของลูกหนี้ในนามของโจทก์เอง ขอให้พิพากษาให้จำเลยชำระหนี้พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่า ฟ้องเคลือบคลุม การเล่นหุ้นตามฟ้องเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย จำเลยไม่เคยตกลงให้โจทก์เป็นตัวแทนซื้อขายหุ้น ไม่เคยสั่งให้โจทก์ซื้อหุ้นขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า พยานหลักฐานของโจทก์ไม่มีน้ำหนักให้รับฟังได้ว่า โจทก์ได้จัดการซื้อหุ้นให้จำเลยและออกเงินทดรองแทนจำเลย จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดดังโจทก์ฟ้อง หากคดีฟังได้ว่า โจทก์ซื้อหุ้นและออกเงินทดรองให้จำเลย การที่โจทก์รับจำนำหรือรับหุ้นของตนเองไว้เป็นประกัน ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๑๔๓ พระราชบัญญัติการประกอบเงินทุนฯพ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๒๐(๓) เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนฯ พ.ศ. ๒๔๙๙ มาตรา ๑๒ และพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุนฯ พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๗๐ เป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๑๑๓ จำเลยไม่ต้องรับผิด พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ไม่ได้จัดการซื้อหุ้นให้จำเลยและออกเงินทดรองแทนจำเลย จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดตามฟ้องโจทก์ โจทก์มิได้ฎีกาคัดค้านในปัญหาข้อนี้ ข้อเท็จจริงจึงยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ดังนั้นแม้จะวินิจฉัยข้อกฎหมายตามฎีกาของโจทก์ว่า นิติกรรมระหว่างโจทก์กับจำเลยไม่ตกเป็นโมฆะ ก็ไม่ทำให้โจทก์ชนะคดีได้ ฎีกาของโจทก์จึงไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๔๙ ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยให้
พิพากษายืน

Share