คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3196/2541

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยให้การต่อสู้ว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุม เพราะไม่บรรยายว่าในวันครบกำหนดสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีวันที่ 10 สิงหาคม 2531 จำเลยเป็นหนี้โจทก์จำนวนเท่าใดแต่จำเลยมายื่นฎีกาในเรื่องนี้ว่า โจทก์ไม่แนบการ์ดบัญชีมาท้ายฟ้องทั้งหมด คงแนบมาตั้งแต่วันที่ 31 กรกฎาคม 2530เป็นต้นมา ก่อนนั้นไม่ปรากฏยอดหนี้เป็นมาอย่างไร ถือว่าเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากล่าวมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ตามสัญญาตกลงให้คิดดอกเบี้ยทบต้นอัตราร้อยละ 14 ต่อปี ส่วนที่เกินวงเงินให้คิดร้อยละ 15 ต่อปี เมื่อสัญญาเลิก เพราะครบกำหนดอายุสัญญา จำเลยมิได้ชำระหนี้แก่โจทก์จึงได้ชื่อว่าผิดนัด จำเลยยังต้องรับผิดในดอกเบี้ยในอัตราดังกล่าวแบบไม่ทบต้นต่อไปจนกว่าได้ชำระเสร็จตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 วรรคหนึ่ง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 5,196,145.09 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 16 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 3,928,795.19บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ถ้าไม่ชำระให้ยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาด หากได้เงินไม่พอชำระหนี้ ขอให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยนำชำระหนี้จนครบ
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 5,196,145.09 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 16 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 3,928,795.19บาท นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 29 มิถุนายน 2536) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากไม่ชำระให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 20027, 20031 ตำบลอ้อมน้อย อำเภอกระทุ่มแบน (ตลาดใหญ่)จังหวัดสมุทรสาคร (นครไชยศรี) พร้อมสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินออกขายทอดตลาด ถ้าได้เงินไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยชำระหนี้จนครบ
จำเลยอุทธรณ์โดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
จำเลยฎีกาโดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว จำเลยฎีกาข้อแรกว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุมเพราะหลังจากวันสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีถึงกำหนดวันที่ 10 สิงหาคม 2531 จำเลยไม่เคยเบิกเงินไปจากบัญชีอีกเลย มีแต่นำเงินเข้าบัญชีเพื่อชำระหนี้ โจทก์ต้องนำเงินที่จำเลยชำระหนี้ไปหักยอดหนี้ค้างชำระในวันที่ 10 สิงหาคม 2531และโจทก์ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นจากจำเลยตั้งแต่วันที่ 11 สิงหาคม 2531 อีกต่อไปยอดหนี้ที่โจทก์ฟ้องจึงไม่ถูกต้องจำเลยไม่ทราบว่ายอดหนี้ตามฟ้องเกินความจริงไปจำนวนเท่าใดฟ้องโจทก์จึงเคลือบคลุม กับการ์ดบัญชีเอกสารหมายเลข 10 ท้ายฟ้องได้เริ่มแสดงยอดหนี้ตั้งแต่วันที่ 31 กรกฎาคม 2530 (31/07/87)โดยไม่ปรากฏว่าก่อนหน้านี้ยอดหนี้โจทก์ดังกล่าวมีความเป็นมาอย่างไรจำเลยจึงไม่อาจยอมรับได้ ฟ้องโจทก์จึงเคลือบคลุม ในปัญหาข้อนี้จำเลยให้การต่อสู้ในข้อ 3 ว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมเพราะโจทก์ไม่ได้บรรยายโดยชัดแจ้งว่าในวันที่ 10 สิงหาคม 2531 จำเลยเป็นหนี้โจทก์จำนวนเท่าใด และโจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยได้เพียงอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จนถึงวันฟ้องเป็นดอกเบี้ยเท่าใด รวมยอดหนี้ที่จำเลยค้างชำระโจทก์จนถึงวันสัญญาสิ้นสุดจำนวนเท่าใด เห็นว่าข้อเท็จจริงที่จำเลยยกขึ้นกล่าวอ้างในคำให้การว่าฟ้องโจทก์เป็นฟ้องเคลือบคลุมเป็นคนละเรื่องกับที่จำเลยยกขึ้นกล่าวอ้างในฎีกา ดังนั้น จึงถือได้ว่าข้ออ้างตามฎีกาของจำเลยเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ต้องห้ามไม่ให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่งศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
จำเลยฎีกาข้อสองว่า สัญญาเบิกเงินเกินบัญชีสิ้นสุดลงในวันที่10 สิงหาคม 2531 หลังจากนั้นโจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยแบบไม่ทบต้นในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี เท่านั้น ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 16 และ 16.5 ต่อปี จำเลยได้ชำระหนี้แก่โจทก์เพื่อลดยอดหนี้ 12 ครั้ง รวมเป็นเงิน 777,345.50 บาท ยอดหนี้ที่จำเลยค้างชำระจึงไม่ถึงจำนวนที่โจทก์ฟ้อง ได้พิจารณาแล้วเห็นว่าจำเลยได้ทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีกับโจทก์ในวงเงิน 1,000,000 บาทมีกำหนดชำระคืนภายใน 12 เดือน ตามเอกสารหมาย จ.2 ต่อมาได้ทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีเพิ่มเติมวงเงินอีก 2 ครั้ง เป็นเงินรวม2,500,000 บาท สัญญาถึงกำหนดครั้งสุดท้ายวันที่ 10 สิงหาคม 2528ตามเอกสารหมาย จ.3 จ.4 โจทก์มีหนังสือต่ออายุสัญญาครั้งที่ 3เอกสารหมาย จ.8 ลงลายมือชื่อจำเลยมาแสดงว่าโจทก์จำเลยได้ตกลงต่ออายุสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีออกไปอีกจนถึงวันที่ 10 สิงหาคม 2531และในคำขอเลื่อนกำหนดชำระหนี้จำเลยยอมรับต่อโจทก์ว่าเมื่อสิ้นวันที่31 สิงหาคม 2530 จำเลยเป็นหนี้โจทก์ 2,661,438.27 บาทตามเอกสารหมาย จ.9 ดังนั้น ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่าหลังจากจำเลยได้ทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีและเพิ่มเติมวงเงินกู้กับโจทก์แล้วได้มีการเดินสะพัดทางบัญชีตลอดมาจนสัญญาครบกำหนดและได้มีการขยายอายุสัญญาออกไปจนถึงวันที่ 10 สิงหาคม 2531โดยในวันที่ 31 สิงหาคม 2530 จำเลยเป็นลูกหนี้โจทก์เป็นเงิน2,661,438.27 บาท ปรากฏตามหนังสือต่ออายุสัญญาครั้งที่ 3คำขอเลื่อนกำหนดชำระหนี้ การ์ดบัญชีเอกสารหมาย จ.8 ถึง จ.11ประกอบคำเบิกความของนายอุดมศักดิ์ สวาคฆพรรณ พยานโจทก์ได้ความว่า นับแต่วันที่ 31 สิงหาคม 2530 โจทก์ได้คิดดอกเบี้ยทบต้นเป็นรายเดือนกับจำเลยตลอดมาจนถึงวันที่โจทก์ได้หักทอนบัญชีกับจำเลยในวันที่ 30 เมษายน 2533 ซึ่งในวันดังกล่าวจำเลยเป็นลูกหนี้โจทก์ 3,928,795.19 บาท โดยไม่ปรากฏยอดหนี้ในวันที่10 สิงหาคม 2531 ซึ่งเป็นวันที่สัญญาครบกำหนดว่ามีจำนวนเท่าใดเพราะโจทก์คิดบัญชีสิ้นเดือน หลังจากนั้นตั้งแต่วันที่ 10 กันยายน2533 จำเลยได้นำเงินเข้าบัญชีเพื่อชำระหนี้แก่โจทก์รวม 12 ครั้งเป็นเงิน 777,345.50 บาท ตามการ์ดบัญชีเอกสารหมาย จ.11จำเลยฎีกาว่า สัญญาเบิกเงินเกินบัญชีถึงกำหนดวันที่ 10 สิงหาคม2531 หลังจากนั้นจำเลยไม่ได้เบิกเงินจากบัญชีอีกต่อไป มีแต่นำเงินเข้าบัญชีเพื่อชำระหนี้ เมื่อสัญญาเลิกกันแล้วโจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยแบบไม่ทบต้นในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี เท่านั้นไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 16 และ 16.5 ต่อปีตามสัญญาอีกต่อไปเห็นว่า จำเลยเปิดบัญชีกระแสรายวันกับโจทก์และได้ทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีกับเดินสะพัดทางบัญชีกับโจทก์ตลอดมา ครบกำหนดชำระหนี้ตามหนังสือต่ออายุสัญญาวันที่10 สิงหาคม 2531 นับแต่วันสัญญาครบกำหนดดังกล่าวไปจนถึงวันที่โจทก์หักทอนบัญชีในวันที่ 30 เมษายน 2533 ไม่ปรากฏว่าจำเลยได้เบิกเงินจากบัญชีหรือโจทก์ยอมให้จำเลยเบิกเงินเกินบัญชีต่อไปอีก คงมีแต่รายการคิดดอกเบี้ยทบต้นของโจทก์ตลอดมาจนถึงวันที่โจทก์หักทอนบัญชี พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงว่าโจทก์กับจำเลยไม่ประสงค์จะต่ออายุสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีต่อไปอีก จึงต้องถือว่าสัญญาเลิกกันนับแต่วันที่ 10 สิงหาคม 2531 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 856 โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นเพียงวันดังกล่าว หามีสิทธิคิดถึงวันหักทอนบัญชีวันที่ 30 เมษายน2533 ไม่ แต่จำนวนยอดหนี้ในวันที่ 10 สิงหาคม 2531 ซึ่งเป็นวันสัญญาบัญชีเดินสะพัดเลิกกันไม่มีระบุไว้ในการ์ดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันเอกสารหมาย จ.10 จึงให้ใช้ยอดหนี้ ณ วันที่ 28 กรกฎาคม 2531 ที่ปรากฏในเอกสารหมาย จ.10 จำนวน 3,023,731.08บาท เป็นต้นเงินในการคำนวณดอกเบี้ยทบต้นนับแต่วันที่ 29 กรกฎาคม231 ถึงวันที่ 10 สิงหาคม 2531 ทบดอกเบี้ยเข้าเป็นต้นเงินได้เท่าใดก็ใช้เป็นต้นเงินในการคำนวณดอกเบี้ยแบบไม่ทบต้นต่อไปส่วนที่จำเลยฎีกาว่าโจทก์คงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยเพียงร้อยละ 7.5 ต่อปีเพราะถือว่าสัญญาเลิกกัน เห็นว่า หลังจากสัญญาบัญชีเดินสะพัดเลิกกันแล้วจำเลยไม่ได้ชำระหนี้แก่โจทก์จำเลยจึงได้ชื่อว่าผิดนัดโจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยแบบไม่ทบต้นในระหว่างจำเลยผิดนัดได้ตามอัตราที่โจทก์จำเลยตกลงกันไว้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 224 วรรคหนึ่ง หนังสือต่ออายุสัญญาครั้งที่ 3 ลงวันที่ 24 กันยายน 2530 เอกสารหมาย จ.8 ระบุว่าจำเลยขอเบิกเงินเกินบัญชีจากโจทก์จำนวนไม่เกิน 2,500,000 บาท ยอมให้โจทก์คิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 14 ต่อปี หากเงินที่เบิกเกินบัญชีเกินกว่าจำนวนที่กำหนดจำเลยยอมให้โจทก์คิดดอกเบี้ยส่วนที่เกินในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ดังนั้นจำเลยจึงต้องรับผิดในดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 14 ต่อปีสำหรับต้นเงิน 2,500,000 บาท และอัตราร้อยละ 15 ต่อปีสำหรับต้นเงินส่วนที่เกิน 2,500,000 บาท นับแต่วันที่11 สิงหาคม 2531 ซึ่งเป็นวันที่จำเลยผิดนัดเป็นต้นไปโดยให้หักเงินที่จำเลยนำเข้าบัญชีนับแต่วันที่ 10 กันยายน 2533เป็นต้นไปรวมทั้งหมด 12 ครั้ง เป็นเงิน 777,345.50 บาทชำระหนี้ให้โจทก์ โดยทุกครั้งที่จำเลยนำเงินเข้าบัญชีก็ให้นำเงินนั้นหักชำระดอกเบี้ยก่อน เหลือจากนั้นให้หักชำระต้นเงิน”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงิน 3,023,731.08 บาทแก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 14 ต่อปี สำหรับต้นเงิน2500,000 บาท และอัตราร้อยละ 15 ต่อปี สำหรับต้นเงินส่วนที่เกิน2,500,000 บาท โดยให้คิดแบบทบต้นนับแต่วันที่ 29 กรกฎาคม 2531ถึงวันที่ 10 สิงหาคม 2531 เมื่อได้ยอดเงินเท่าใดแล้วให้ถือเป็นต้นเงินคิดดอกเบี้ยในอัตราเดียวกันนี้ต่อไปแบบไม่ทบต้นนับแต่วันที่ 11 สิงหาคม 2531 ไปจนกว่าจำเลยจะชำระหนี้แก่โจทก์เสร็จให้หักเงินที่จำเลยนำเข้าบัญชีนับแต่วันที่ 10 กันยายน 2533รวม 12 ครั้ง เป็นเงิน 777,345.50 บาท ชำระหนี้โจทก์ทุกครั้งที่จำเลยนำเงินเข้าบัญชี โดยหักชำระเป็นดอกเบี้ยก่อนเหลือจากนั้นให้หักชำระต้นเงินค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับนอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3

Share