คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3450/2548

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

กำหนดเวลาการอุทธรณ์คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ต่อศาลภายใน 30 วัน เป็นกำหนดเวลาให้ฟ้องคดี ถ้ามิได้ฟ้องภายในกำหนดเวลาดังกล่าวย่อมไม่มีอำนาจฟ้อง กำหนดเวลาดังกล่าวแม้เป็นระยะเวลาที่กำหนดไว้ในมาตรา 30 (2) แห่ง ป.รัษฎากรฯ แต่ก็เป็นระยะเวลาที่เกี่ยวด้วยวิธีพิจารณาความแพ่งอันกำหนดไว้ใน ป.รัษฎากรฯ ศาลภาษีอากรกลางย่อมมีอำนาจขยายได้โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 17 แห่ง พ.ร.บ. จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากรฯ ประกอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 23
คำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.81/2542 เรื่อง หลักเกณฑ์การงดหรือลดเบี้ยปรับฯ เป็นเพียงระเบียบที่กำหนดให้เจ้าพนักงานประเมินถือปฏิบัติไม่มีผลผูกพันศาลให้ต้องถือตามระเบียบดังกล่าว ศาลมีอำนาจพิจารณาว่าการที่เจ้าพนักงานประเมินงดหรือลดเบี้ยปรับมานั้นถูกต้องตามระเบียบหรือไม่ และมีอำนาจที่จะงดหรือลดเบี้ยปรับได้เองในกรณีที่มีเหตุสมควรเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมอีกด้วย
กรณีมีเหตุสมควรงดหรือลดเบี้ยปรับหรือไม่เป็นข้อเท็จจริงซึ่งโจทก์เป็นฝ่ายกล่าวอ้าง ภาระการพิสูจน์จึงตกแก่โจทก์ โจทก์ต้องสืบพยานให้เห็นว่ากรณีของโจทก์มีเหตุสมควรงดหรือลดเบี้ยปรับเพราะเหตุใด เมื่อโจทก์ไม่สืบพยานจึงไม่มีเหตุสมควรที่จะงดหรือลดเบี้ยปรับให้แก่โจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินตามหนังสือแจ้งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ภ.ง.ด.12) เลขที่ 11830010/1/102115 ลงวันที่ 16 สิงหาคม 2544 และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ (ภ.ส.7) เลขที่ สภ.11 ภก/6/2546 ลงวันที่ 18 มีนาคม 2546 และงดหรือลดเบี้ยปรับให้แก่โจทก์
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้แก้ไขการประเมินตามหนังสือแจ้งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ภ.ง.ด.12) เลขที่ 11830010/1/102115 ลงวันที่ 16 สิงหาคม 2544 และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ (ภ.ส.7) เลขที่ สภ.11 ภก/6/2546 ลงวันที่ 18 มีนาคม 2546 โดยให้งดเบี้ยปรับทั้งหมด
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นที่ยุติว่า ในปีภาษี 2542 โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาโดยระบุประเภทเงินได้พึงประเมินไม่ถูกต้องเป็นเหตุให้โจทก์เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาขาดไป คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยประการแรกว่า ศาลภาษีอากรกลางมีอำนาจขยายกำหนดเวลาให้โจทก์อุทธรณ์คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ต่อศาลหรือไม่โดยจำเลยอุทธรณ์ว่า ศาลภาษีอากรกลางไม่มีอำนาจขยายกำหนดเวลาการยื่นคำฟ้องต่อศาลให้โจทก์เพราะเป็นกำหนดเวลาในการฟ้องคดี ไม่ใช่ระยะเวลาที่เกี่ยวด้วยพิจารณาความแพ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23 หรือตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 เห็นว่า กำหนดเวลาการอุทธรณ์คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ต่อศาลภายใน 30 วัน เป็นกำหนดเวลาให้ฟ้องคดี ถ้ามิได้ฟ้องภายในกำหนดเวลาดังกล่าวย่อมไม่มีอำนาจฟ้อง กำหนดเวลาดังกล่าวแม้เป็นระยะเวลาที่กำหนดไว้ในมาตรา 30 (2) แห่งประมวลรัษฎากร แต่ก็เป็นระยะเวลาที่เกี่ยวด้วยวิธีพิจารณาความแพ่งอันกำหนดไว้ในประมวลรัษฎากร ศาลภาษีอากรกลางย่อมมีอำนาจขยายได้ โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23 อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยประการต่อไปว่า กรณีของโจทก์มีเหตุสมควรงดหรือลดเบี้ยปรับให้มากกว่าที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยหรือไม่ ข้อนี้จำเลยอุทธรณ์ว่า การงดเบี้ยปรับจะต้องเป็นไปตามประมวลรัษฎากร มาตรา 27 ทวิ วรรคสอง ประกอบด้วยคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.81/2542 เรื่อง หลักเกณฑ์การงดหรือลดเบี้ยปรับหรือเงินเพิ่มภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีธุรกิจเฉพาะ ตามมาตรา 22 มาตรา 26 มาตรา 67 ตรี มาตรา 89 และมาตรา 91/21 (6) แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 9 กรกฎาคม 2542 ข้อ 3 และ 4 ซึ่งกำหนดให้ลดเบี้ยปรับได้เฉพาะกรณีไม่มีเจตนาหลีกเลี่ยงภาษีและได้ให้ความร่วมมือในการตรวจสอบไต่สวนด้วยดี และการลดเบี้ยปรับเมื่อลดแล้วต้องให้เสียไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ตามคำสั่งดังกล่าวไม่มีกรณีให้ลดเบี้ยปรับได้และกรณีของโจทก์ไม่มีเหตุที่จะงดหรือลดเบี้ยปรับได้นั้น เห็นว่า คำสั่งกรมสรรพากรดังกล่าวเป็นเพียงระเบียบที่กำหนดให้เจ้าพนักงานประเมินถือปฏิบัติไม่มีผลผูกพันศาลให้ต้องถือตามระเบียบดังกล่าว ศาลมีอำนาจพิจารณาว่าการที่เจ้าพนักงานประเมินงดหรือลดเบี้ยปรับมานั้นถูกต้องตามระเบียบหรือไม่ และมีอำนาจที่จะงดหรือลดเบี้ยปรับได้เองในกรณีที่มีเหตุสมควรเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมอีกด้วย แต่เนื่องจากกรณีมีเหตุสมควรงดหรือลดเบี้ยปรับหรือไม่เป็นข้อเท็จจริงซึ่งโจทก์เป็นฝ่ายกล่าวอ้าง ภาระการพิสูจน์จึงตกแก่โจทก์ เมื่อโจทก์ไม่สืบพยานให้เห็นว่ากรณีของโจทก์มีเหตุผลสมควรงดหรือลดเบี้ยปรับเพราะเหตุใด ทั้งข้อเท็จจริงที่ปรากฏตามคำฟ้องของโจทก์ก็เห็นได้ชัดเจนว่าการที่บริษัทเข้งหงวน จำกัด จดทะเบียนเลิกบริษัทและอยู่ในระหว่างการชำระบัญชี โดยผู้ชำระบัญชีขายทรัพย์สินและรวบรวมรายได้หลังจากหักรายจ่าย บริษัทมีกำไรสุทธิหักผลขาดทุนสะสมยกมาจากปีก่อนแล้วบริษัทมีกำไรสะสมสิ้นปี การที่บริษัทจ่ายเงินจำนวนดังกล่าวให้แก่โจทก์ไม่ถือว่าเป็นเงินปันผล เพราะมิได้จ่ายตามหลักเกณฑ์ที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1200 ถึง 1205 กำหนดไว้ และกรณีของโจทก์ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าเป็นการเข้าใจข้อกฎหมายคลาดเคลื่อน ดังนี้ การที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์วินิจฉัยให้ลดเบี้ยปรับลงคงเรียกเก็บเพียงร้อยละ 50 ของเบี้ยปรับตามกฎหมายนั้นชอบแล้ว ไม่มีเหตุสมควรที่จะงดหรือลดเบี้ยปรับให้แก่โจทก์มากกว่าที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์วินิจฉัย ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษามานั้นศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยในข้อนี้ฟังขึ้น”
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง

Share