แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ล.บิดาของโจทก์ทั้งสาม และ ด.เป็นผู้ถือสิทธิครอบครองที่พิพาทมาแต่เดิม ต่อมา ล.ยกที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ที่ 1 และ ด. แต่เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์ที่ 1 และ ด.ได้ที่ดินพิพาทเป็นอัตราส่วนเพียงใด ต้องถือว่าโจทก์ที่ 1 และ ด.มีส่วนในที่ดินพิพาทเท่ากันคนละกึ่งหนึ่ง ต่อมา ด.ได้ขายที่ดินพิพาทให้จำเลย ดังนี้ เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์ที่ 1 ได้รู้เห็นยินยอม ด.ขายที่ดินพิพาทในส่วนของโจทก์ที่ 1 ได้ด้วยสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทจึงมีผลผูกพันเฉพาะที่ดินในส่วนของ ด.เท่านั้น หามีผลผูกพันในส่วนที่เป็นของโจทก์ที่ 1 ด้วยไม่ โจทก์ที่ 1 และจำเลยจึงมีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทร่วมกันคนละกึ่งหนึ่ง
โจทก์ทั้งสามฟ้องอ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์รับมรดกมาจากบิดาและครอบครองทำประโยชน์ตลอดมา จำเลยบุกรุกนำดินเข้ามาถม ขอให้ขับไล่จำเลยให้การว่า ที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยโดยซื้อมาจาก ด. และจำเลยได้เข้าครอบครองตลอดมา โจทก์ทั้งสามฟ้องคดีเกิน 1 ปี นับแต่จำเลยเข้าครอบครองคำให้การจำเลยดังกล่าวเป็นการต่อสู้ว่า ที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยมาแต่ต้น โดยจำเลยมิได้ให้การยอมรับว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ทั้งสาม คดีจึงไม่มีประเด็นในเรื่องการแย่งการครอบครองที่ดินพิพาท ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1375 เพราะการแย่งการครอบครองจะเกิดมีขึ้นได้ก็แต่เฉพาะในที่ดินของบุคคลอื่นเท่านั้น การที่ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทในเรื่องการแย่งการครอบครองที่ดินพิพาทด้วย จึงเป็นการนอกเหนือจากคำฟ้องและคำให้การ เป็นการไม่ชอบด้วย ป.พ.พ.มาตรา 142 และมาตรา 183 แม้ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์จะวินิจฉัยในประเด็นข้อนี้ให้ ก็ถือไม่ได้ว่าเป็นข้อที่ได้ว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสอง จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาในประเด็นดังกล่าว ตาม ป.พ.พ.มาตรา 249 วรรคหนึ่ง
โจทก์ที่ 1 ฟ้องอ้างว่าโจทก์ทั้งสามมีสิทธิครอบครองร่วมกันในที่ดินพิพาท เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาว่าโจทก์ที่ 1 มีสิทธิครอบครองร่วมกับโจทก์ที่ 2ที่ 3 และจำเลยคนละหนึ่งส่วน โจทก์ที่ 1 มิได้อุทธรณ์ ประเด็นดังกล่าวจึงถึงที่สุดดังนั้น แม้ทางพิจารณาจะได้ความว่าโจทก์ที่ 1 และจำเลยมีสิทธิครอบครองที่พิพาทร่วมกันคนละกึ่งหนึ่งก็ตาม ศาลฎีกาก็ไม่อาจพิพากษาให้โจทก์ที่ 1 มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทกึ่งหนึ่งได้ คงพิพากษาให้โจทก์ที่ 1 มีสิทธิครอบครองเพียงหนึ่งในสี่ส่วนแต่ไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่ 1 ที่จะฟ้องใหม่เพื่อขอให้บังคับเกี่ยวกับที่ดินพิพาทในส่วนที่เหลือตามสิทธิของตนต่อไป ตาม ป.พ.พ.มาตรา 148 (3)