แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยปลูกสร้างอาคารและเขื่อนถมดินรุกล้ำเขตคลองบางโพงพางซึ่งเป็นที่อันเป็นสาธารณประโยชน์ นายอำเภอเจ้าของท้องที่คลองบางโพงพางย่อมมีอำนาจฟ้องขอบังคับให้จำเลยรื้อถอนอาคารและเขื่อนถมดินที่รุกล้ำนั้นออกไปได้ โดยอาศัยอำนาจตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ. 2457 มาตรา 122 ประกอบด้วยพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2495 มาตรา 40 วรรค 3
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์มีหน้าที่ตรวจตราดูแลรักษาคลองอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภททรัพย์สินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันและเพื่อสาธารณประโยชน์ ไม่ให้ผู้ใดบุกรุกหรือรุกล้ำเขตคลองซึ่งอยู่ภายในเขตท้องที่ จำเลยได้ปลูกสร้างอาคารและเขื่อนถมดินรุกล้ำคลองบางโพงพางซึ่งเป็นคลองสาธารณะ ทำให้ขัดขวางต่อการสัญจรไปมาทางน้ำ ลำคลองแคบลง น้ำไหลไม่สะดวก ลำคลองตอนในตื้นเขินจำเป็นต้องขุดลอกคลอง จึงขอให้บังคับจำเลยรื้อถอนอาคารและเขื่อนถมดินออกไปจากที่พิพาท
จำเลยให้การว่า จำเลยไม่ได้ปลูกอาคารรุกล้ำทางสาธารณะที่ดินที่จำเลยเช่าเป็นที่งอกริมตลิ่ง โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง
ศาลชั้นต้นฟังว่า ที่พิพาทเป็นเขตคลองบางโพงพาง อันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินไม่ใช่ที่งอกริมตลิ่ง โจทก์ในฐานะนายอำเภอท้องที่มีอำนาจหน้าที่ดูแลคลองนี้ เมื่อจำเลยปลูกสร้างอาคารและเขื่อนถมดินรุกล้ำ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง พิพากษาให้จำเลยรื้อถอนอาคารและเขื่อนถมดินออกไปจากที่พิพาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาฟังว่า ที่พิพาทอยู่ในเขตคลองบางโพงพาง ที่จำเลยต่อสู้ว่าเป็นที่งอกริมตลิ่งจำเลยมิได้นำสืบ ในประเด็นที่ว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่พ.ศ. ๒๔๕๗ มาตรา ๑๒๒ มีความว่า ที่อันเป็นสาธารณประโยชน์ เป็นหน้าที่ของกรมการอำเภอจะต้องคอยตรวจตรารักษา อย่าให้ผู้ใดเกียดกันเอาไปเป็นอาณาประโยชน์แต่เฉพาะตัว และต่อมาพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. ๒๔๙๕ มาตรา ๔๐ วรรค ๓ ได้ให้อำนาจหน้าที่ของกรมการอำเภอโอนไปเป็นอำนาจหน้าที่ของนายอำเภอแล้ว ดังนี้ โจทก์ซึ่งเป็นนายอำเภอเจ้าของท้องที่คลองบางโพงพางซึ่งเป็นที่อันเป็นสาธารณประโยชน์ จึงมีอำนาจฟ้อง
พิพากษายืน