คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2869/2524

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ฎีกาจำเลยเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ซึ่งจำเลยมิได้ยกปัญหาข้อเท็จจริงดังกล่าวขึ้นว่า ในศาลชั้นต้น เพิ่งยกขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์ การที่ศาลอุทธรณ์รับวินิจฉัยข้อเท็จจริงดังกล่าวให้ จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ต้องถือว่าข้อเท็จจริงนั้นไม่ปรากฏในสำนวน ปัญหาข้อกฎหมายที่จำเลยฎีกาจึงไม่เกิดขึ้น ศาลฎีการับวินิจฉัยฎีกาของจำเลยให้ไม่ได้ เพราะต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 195 ประกอบด้วย มาตรา 225

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้รับมอบหมายจากสหกรณ์การเกษตรเมืองสุพรรณบุรีให้เป็นหัวหน้างานฝ่ายซื้อขายวัสดุการเกษตรมีหน้าที่จัดการขายวัสดุการเกษตรให้แก่สมาชิกของสหกรณ์ และรับชำระเงิน เมื่อรับเงินแล้วต้องออกใบเสร็จรับเงิน นำลงบัญชีและส่งมอบเงินให้แก่สหกรณ์การเกษตรฯ ทุกครั้งที่รับเงิน จำเลยได้รับเงินรวม 26 รายการในนามของสหกรณ์การเกษตรดังกล่าวเป็นจำนวน 116,014 บาท แล้วบังอาจเบียดบังนำเงินดังกล่าวไปใช้เป็นประโยชน์ส่วนตัวของจำเลยโดยทุจริต ไม่นำลงบัญชีและส่งมอบแก่สหกรณ์การเกษตรฯ ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352, 353, 91 และให้จำเลยคืนหรือใช้เงิน 116,014 บาทแก่ผู้เสียหาย

จำเลยให้การรับสารภาพ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 352, 353 ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91 ลงโทษจำคุกกระทงละ 8 เดือน รวม 26 กระทงเป็นจำคุก 17 ปี4 เดือน รับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่งคงจำคุก 8 ปี 8 เดือน ให้จำเลยคืนหรือใช้เงิน 116,014 บาท แก่ผู้เสียหาย

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยฎีกาว่า ได้มีการตกลงยินยอมให้จำเลยหักเงินสะสมเงินเดือนและบำเหน็จใช้หนี้ส่วนหนึ่งและบิดาจำเลยยินยอมชำระหนี้อีกส่วนหนึ่งแทนเป็นเงิน56,780 บาท โดยชำระในงวดแรกเป็นเงิน 30,780 บาท คงค้างอยู่อีกเป็นเงิน 26,000 บาท จึงเป็นการตกลงยอมความกันระหว่างผู้เสียหายกับจำเลย สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39(2)นั้น พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ฎีกาของจำเลยเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงซึ่งจำเลยมิได้ยกปัญหาข้อเท็จจริงดังกล่าวขึ้นว่าในศาลชั้นต้น เพิ่งยกขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์ การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยข้อเท็จจริงดังกล่าวให้จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ต้องถือว่าข้อเท็จจริงนั้นไม่ปรากฏในสำนวนปัญหาข้อกฎหมายที่จำเลยฎีกาจึงไม่เกิดขึ้น ศาลฎีการับวินิจฉัยฎีกาของจำเลยให้ไม่ได้ เพราะต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 195 ประกอบด้วยมาตรา 225

ให้ยกฎีกาของจำเลย

Share