แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ระเบียบว่าด้วยเวลาทำงาน ฯลฯ ของโรงงานจำเลยกำหนดว่าเมื่อพนักงานประจำต้องออกจากงานจะได้รับเงินชดเชยและเงินบำเหน็จทั้งสองอย่างและตอนต้นของระเบียบได้กล่าวถึงเหตุผลในการออกระเบียบนี้ว่า โดยที่ได้พิจารณาเห็นสมควรกำหนดเวลาทำงานและวันหยุดงาน ค่าจ้าง เงินชดเชยเงินค่าทดแทน ค่ารักษาพยาบาลและค่าทำศพ และบำเหน็จพนักงานและคนงานในโรงงาน เพื่อให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติแรงงานระเบียบนี้ประกาศใช้ภายหลังที่ได้มีพระราชบัญญัติแรงงานพ.ศ.2499 ต่อมาพระราชบัญญัติแรงงานฯ ได้ถูกยกเลิกไปและมีประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานฯข้อ 46 ให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างประจำซึ่งกำหนดอัตราค่าชดเชยไว้เป็นผลดีแก่ฝ่ายลูกจ้างมากขึ้นกว่าตามพระราชบัญญัติแรงงานฯ ส่วนระเบียบการจ่ายเงินชดเชยของจำเลยมิได้เปลี่ยนแปลงอย่างใด ดังนี้หากจำเลยจ่ายค่าชดเชยน้อยไปไม่ครบตามกฎหมายที่ใช้อยู่ในปัจจุบันจำเลยก็มีหน้าที่ต้องจ่ายให้ครบ ส่วนเงินบำเหน็จตามระเบียบของจำเลยนั้น ต้องการให้พนักงานที่ทำงานมาด้วยดีได้รับเงินตอบแทนความชอบอีกส่วนหนึ่งเพิ่มขึ้นจากเงินชดเชย และบำเหน็จนี้ตามระเบียบของจำเลยกำหนดว่าถ้ามากกว่าเงินชดเชยให้ตัดเงินบำเหน็จออกเท่ากับจำนวนเงินชดเชย แต่ถ้าน้อยกว่าก็ให้ได้รับแต่เงินชดเชยอย่างเดียว แปลได้ว่า พนักงานประจำทุกคนมีสิทธิได้รับเงินชดเชยตามกฎหมายว่าด้วยแรงงานจนครบตามสิทธิของตนและยังมีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จอีกด้วยถ้าเงินบำเหน็จมากกว่าเงินชดเชยก็ให้ได้รับเงินบำเหน็จเฉพาะส่วนที่มาก กว่าเงินชดเชย เมื่อรวมกับเงินชดเชยแล้วก็จะได้เท่ากับเงินบำเหน็จทั้งหมดนั่นเอง แต่ถ้าเงินบำเหน็จน้อยกว่าเงินชดเชยก็ให้ได้รับแต่ค่าชดเชยอย่างเดียว ดังนั้นเห็นได้ว่าเงินบำเหน็จที่พนักงานได้รับไปนั้น เป็นเงินชดเชยตามระเบียบของจำเลยหรือค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงานฯ รวมอยู่ด้วยแล้ว เมื่อโจทก์ทุกคนได้รับบำเหน็จไปแล้วมีจำนวนเงินเกินกว่าค่าชดเชยที่ขอมาตามฟ้อง จึงถือได้ว่าจำเลยได้จ่ายค่าชดเชยให้โจทก์ทุกคนไปแล้ว จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์อีก
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างประจำ จำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะโจทก์มีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์ เป็นการเกษียณอายุ โดยไม่จ่ายค่าชดเชย ให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเรียกค่าชดเชย เพราะเป็นพนักงานของโรงงานสุรา กรมโรงงานอุตสาหกรรม จำเลยรับโอนมาเป็นลูกจ้างตามสัญญาเช่าซึ่งตามสัญญาพนักงานและคนงานของโรงงานสุราที่จำเลยรับโอนมาจะต้องได้สิทธิประโยชน์ เงินช่วยเหลือไม่น้อยกว่าเดิม และมีสิทธิได้รับทั้งเงินชดเชยตามกฎหมายว่าด้วยแรงงานและเงินบำเหน็จถ้าเงินบำเหน็จมากกว่าเงินชดเชยให้ตัดเงินบำเหน็จออกเท่ากับจำนวนเงินชดเชย แต่ถ้าเงินบำเหน็จน้อยกว่าเงินชดเชยก็ให้ได้รับแต่เงินชดเชยอย่างเดียวโจทก์ทั้งหมดได้รับโอนบำเหน็จหรือเงินบำนาญตัดทอนไปแล้วตั้งแต่เมื่อครบเกษียณอายุและสูงกว่าค่าชดเชยตามฟ้องโจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยอีก ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ระเบียบว่าด้วยเวลาทำงานและวันหยุดงาน ค่าจ้าง เงินชดเชย เงินค่าทดแทน ค่ารักษาพยาบาลและค่าทำศพ และบำเหน็จพนักงานและคนงานในโรงงานสุราฯ กำหนดว่าเมื่อพนักงานประจำต้องออกจากงานจะได้รับเงินชดเชยและเงินบำเหน็จทั้งสองอย่าง แล้วแต่ว่าพนักงานประจำแต่ละคนจะมีสิทธิได้รับเงินชดเชยและเงินบำเหน็จมากน้อยเพียงใด ในตอนต้นของระเบียบได้กล่าวถึงเหตุผลในการออกระเบียบนี้ว่า โดยที่ได้พิจารณาเห็นสมควรกำหนดเวลาทำงานและวันหยุดงาน ค่าจ้าง เงินชดเชย เงินค่าทดแทน ค่ารักษาพยาบาลและค่าทำศพ และบำเหน็จพนักงานและคนงานในโรงงาน เพื่อให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติแรงงาน ระเบียบนี้ประกาศใช้ภายหลังที่ได้มีพระราชบัญญัติแรงงาน พ.ศ. 2499 ตามรายละเอียดในระเบียบนั้นเห็นได้ว่าออกมาเพื่อให้เป็นไปตามและสอดคล้องกับพระราชบัญญัติแรงงานฯ เรื่องเงินชดเชยในระเบียบมีว่าพนักงานประจำมีสิทธิได้รับเงินชดเชยในกรณีที่โรงงานสุราให้ออกจากงานตามที่ได้บัญญัติไว้ในกฎหมายว่าด้วยแรงงานระเบียบเกี่ยวกับเงินชดเชยนี้ได้ออกมาเพื่อให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติแรงงาน พ.ศ. 2499และมีหลักเกณฑ์ในการจ่ายทำนองเดียวกันพระราชบัญญัติแรงงานนี้ได้ถูกยกเลิกโดยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 19 ลงวันที่ 31 ตุลาคม 2501 และต่อมามีประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16เมษายน 2515 ซึ่งใช้อยู่ในปัจจุบัน ข้อ 46 ให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างประจำ ซึ่งกำหนดเวลาทำงานและอัตราค่าชดเชยไว้ต่างกับพระราชบัญญัติแรงงาน พ.ศ. 2499 ส่วนระเบียบการจ่ายเงินชดเชยของจำเลยมิได้เปลี่ยนแปลงอย่างใด ถ้าจำเลยจ่ายเงินชดเชยตามระเบียบของจำเลย จำนวนเงินที่พนักงานของจำเลยจะได้รับแตกต่างกับจำนวนค่าชดเชยตามกฎหมายที่ใช้อยู่ปัจจุบันเพราะค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานฯข้อ 46 ได้กำหนดเวลาทำงานอันเป็นหลักในการจ่ายค่าชดเชยให้เป็นผลดีแก่ฝ่ายลูกจ้างมากขึ้น แต่การที่มีกฎหมายออกมาภายหลังทำให้ฝ่ายลูกจ้างได้รับประโยชน์มากขึ้นก็ยังถือว่าเงินชดเชยตามระเบียบของจำเลยเป็นค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานฯข้อ 46 หากจำเลยจ่ายค่าชดเชยน้อยไปไม่ครบตามกฎหมายที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน จำเลยก็มีหน้าที่ต้องจ่ายให้ครบ ส่วนเงินบำเหน็จตามระเบียบของจำเลย เป็นเงินตอบแทนความชอบแก่พนักงานที่ทำงานมาด้วยดีเป็นเวลานานหรือตาย หย่อนความสามารถ ลาออก ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเป็นเงินตอบแทนความชอบอีกส่วนหนึ่งเพิ่มขึ้นจากเงินชดเชย ระเบียบของจำเลยระบุว่า ในกรณีที่พนักงานประจำมีสิทธิได้รับเงินชดเชยตามกฎหมายว่าด้วยแรงงาน ถ้าเงินบำเหน็จมากกว่าเงินชดเชย ให้ตัดเงินทอนบำเหน็จออกเท่ากับจำนวนเงินชดเชย แต่ถ้าเงินบำเหน็จน้อยกว่าเงินชดเชยก็ให้ได้รับแต่เงินชดเชยอย่างเดียวแปลได้ว่า พนักงานประจำทุกคนมีสิทธิได้รับเงินชดเชยตามกฎหมายว่าด้วยแรงงานจนครบตามสิทธิของตนและยังมีสิทธิได้รับบำเหน็จอีกด้วย ถ้าเงินบำเหน็จนั้นมากกว่าเงินชดเชยก็ให้ได้รับเงินบำเหน็จเฉพาะส่วนที่มากกว่าเงินชดเชย เมื่อรวมกับเงินชดเชยแล้วก็จะได้เท่ากับเงินบำเหน็จทั้งหมดนั่นเอง แต่ถ้าเงินบำเหน็จน้อยกว่าเงินชดเชยก็ให้ได้รับแต่เงินชดเชยอย่างเดียวเห็นได้ว่าเงินบำเหน็จที่พนักงานได้รับไปนั้นเป็นเงินชดเชยตามระเบียบเงินชดเชยของจำเลยหรือค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานฯ ข้อ 46 รวมอยู่ด้วยแล้วโจทก์ทุกคนได้รับบำเหน็จไปแล้วมีจำนวนเงินเกินกว่าค่าชดเชยที่ขอมาตามฟ้อง จึงถือได้ว่าจำเลยได้จ่ายค่าชดเชยให้โจทก์ทุกคนไปแล้ว จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์อีก
พิพากษายืน