คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2867/2541

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ความตกลงที่ทำไว้ล่วงหน้าจะเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 373 ต้องเป็นข้อยกเว้นมิให้ลูกหนี้ต้องรับผิดเพื่อกลฉ้อฉล หรือเพื่อความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของตน แต่ข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ที่ว่า หากสินค้าที่ธนาคารโจทก์ รับจำนำเกิดความชำรุด บุบสลาย เสียหาย สูญหายหรือเสื่อมโทรมไม่ว่าจะโดยเหตุใด ๆ โจทก์ย่อมไม่ต้องรับผิดไม่มีข้อตกลงชัดเจนยกเว้นมิให้โจทก์รับผิดเพื่อกลฉ้อฉลหรือความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของโจทก์ข้อตกลงดังกล่าวจึงไม่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือขัดต่อกฎหมายสามารถใช้บังคับได้ จำเลยที่ 1 เป็นผู้เช่าโกดังเก็บน้ำตาล ไม่ปรากฏว่าน้ำตาลที่จำนำไว้สูญหายไปเพราะโจทก์เป็นผู้เอาไป หรือโจทก์เป็นผู้กระทำ หรือมีส่วนกระทำ หรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงเป็นเหตุให้น้ำตาลสูญหายไป ทั้งตามข้อตกลงในการจำนำ โจทก์ไม่ต้องรับผิดในความชำรุดบุบสลายเสียหาย สูญหายหรือเสื่อมโทรมของน้ำตาล ที่จำนำ โจทก์จึงไม่ต้องรับผิดในความเสียหาย สูญหาย หรือเสื่อมโทรมของน้ำตาลที่จำนำ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นหนี้เบิกเงินเกินบัญชีและหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินแก่โจทก์จำนวน17,739,726.74 บาท จำเลยที่ 2 ถึงที่ 9 เป็นผู้ค้ำประกันต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 สำหรับหนี้ตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีจำนวน 3,548,829.88 บาท ขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 17,739,726.74 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ15 ต่อปี ของต้นเงิน 7,763,987.59 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 9ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 3,548,829.88 บาทพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน2,083,450.59 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยที่ 1เปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวัน ทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีและนำตั๋วสัญญาใช้เงินไปขายลดให้แก่โจทก์ตามฟ้องจริงแต่จำเลยที่ 1นำน้ำตาลของจำเลยที่ 1 ส่งมอบให้โจทก์ยึดถือไว้เป็นการจำนำประกันหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินด้วย หากโจทก์ใช้สิทธิบังคับจำนำโจทก์จะได้เงินจากการบังคับจำนำชำระหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินและพอชำระหนี้ตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีอีกทั้งยังเหลือเงินชำระคืนให้แก่จำเลยที่ 1 จำนวน 10,672,672.45 บาท ขอให้ยกฟ้อง และขอให้บังคับโจทก์ชดใช้เงินจำนวนนี้คืนให้จำเลยที่ 1พร้อมดอกเบี้ยของต้นเงินดังกล่าวในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันที่ 1 มกราคม 2527 จนถึงวันฟ้องรวมเป็นต้นเงินและดอกเบี้ย 14,674,924.60 บาท และขอคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 10,672,672.45 บาท นับแต่วันฟ้องแย้งเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 2 ถึงที่ 7 และที่ 9 ให้การว่า หนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินจำเลยที่ 1 ได้จำนำน้ำตาลประกันหนี้ซึ่งราคาน้ำตาลที่จำนำมีมากกว่าหนี้สินทั้งหมดที่จำเลยที่ 1 ค้างชำระแก่โจทก์ ขอถือเอาคำให้การและฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 เป็นส่วนหนึ่งของคำให้การด้วย ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 8 ให้การว่า หนี้เบิกเงินเกินบัญชี กำหนดชำระคืนภายในวันที่ 25 ธันวาคม 2525 เมื่อครบกำหนดตามสัญญาแล้วจำเลยที่ 1 ไม่ได้เป็นหนี้โจทก์ความผูกพันระหว่างจำเลยที่ 8 ในฐานะผู้ค้ำประกันจึงสิ้นสุดลง และหลังจากมีการเลิกสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีแล้วโจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดได้เพียงอัตราร้อยละ7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 2,083,450 บาท ขอให้ยกฟ้อง
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า จำเลยที่ 1 นำน้ำตาลทรายขาวและน้ำตาลทราบดิบจำนวน 31,700 กระสอบ จำนำไว้แก่โจทก์แต่มิได้ส่งมอบน้ำตาลดังกล่าวให้โจทก์ครอบครองดูแลรักษาจำเลยที่ 1 ยังคงเก็บรักษาและครอบครองน้ำตาลที่จำนำไว้ในโกดังที่จำเลยที่ 1 เช่ามาจากผู้อื่นตลอดมา โจทก์จึงไม่มีสิทธิบังคับจำนำตามสัญญาจำนำระบุว่าสินค้าที่จำนำดังกล่าวไม่ว่าจะเก็บรักษาอยู่ ณ ที่ใดก็ตามหากเกิดความชำรุด บุบสลายเสียหาย สูญหาย หรือเสื่อมโทรมไม่ว่าด้วยเหตุใด ๆ โจทก์ไม่ต้องรับผิด โจทก์จึงไม่ต้องรับผิดในกรณีที่เกิดความเสียหายหรือสูญหายแก่น้ำตาลที่จำนำ การที่น้ำตาลขาดหายไปจึงไม่ใช่ความผิดของโจทก์ แต่เป็นความผิดของจำเลยที่ 1 น้ำตาลที่จำเลยที่ 1 จำนำแก่โจทก์เป็นน้ำตาลที่ผลิตไว้ตั้งแต่ปี 2523ถึง 2524 ซึ่งเมื่อเก็บไว้นานน้ำตาลย่อมเสื่อมสภาพและคุณภาพตลอดจนหลอมละลายไป หากนำน้ำตาลดังกล่าวออกขายในปัจจุบันจะมีราคาเพียง 100 บาท ต่อ 100 กิโลกรัมเท่านั้นหากโจทก์จะต้องรับผิดต่อจำเลยที่ 1 ในราคาน้ำตาลทั้งหมดก็ไม่เกิน 200,000 บาท ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน9,763,987.59 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยของต้นเงิน 2,083,450.59 บาท ในอัตราร้อยละ 19 ต่อปีนับแต่วันที่ 26 มีนาคม 2528 ถึงวันที่ 1 มกราคม 2529 อัตราร้อยละ 17 ต่อปีนับแต่วันที่ 2 มกราคม 2529 ถึงวันที่ 4 มีนาคม 2529 อัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 5 มีนาคม 2529 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และดอกเบี้ยของต้นเงิน 7,680,537 บาท ในอัตราร้อยละ 17.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 3 พฤษภาคม 2527 ถึงวันที่ 1 มกราคม 2529 อัตราร้อยละ 17 ต่อปี นับแต่วันที่ 2 มกราคม 2529 ถึงวันที่ 4 มีนาคม 2529 (ที่ถูกต้องมีข้อความ อัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 5 มีนาคม 2529) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ แต่ดอกเบี้ยเมื่อคำนวณตามอัตราและต้นเงินดังกล่าวจนถึงวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 8 กันยายน 2532) ต้องไม่เกิน 7,975,739.15 บาท และให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 9 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในต้นเงิน 2,000,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยของต้นเงินดังกล่าวในอัตราร้อยละ 19 ต่อปีนับแต่วันที่ 26 มีนาคม 2528 ถึงวันที่ 1 มกราคม 2529 อัตราร้อยละ 17 ต่อปีนับแต่วันที่ 2 มกราคม 2529 ถึงวันที่ 4 มีนาคม 2529 อัตราร้อยละ 15 ต่อปีนับแต่วันที่ 5 มีนาคม 2529 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้ยกฟ้องแย้ง จำเลยที่ 1
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 7 และที่ 9 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 7 และที่ 9 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1เป็นหนี้โจทก์อยู่สองประเภท ประเภทแรกเป็นหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีวงเงิน 2,000,000 บาท มีจำเลยที่ 2 ถึงที่ 9เป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม ประเภทที่สองเป็นหนี้ตั๋วสัญญาใช้เงิน 2 ฉบับ ฉบับแรกลงวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2526จำนวนเงิน 7,000,000 บาท ฉบับที่สองลงวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2526จำนวนเงิน 8,000,000 บาท และจำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาจำนำน้ำตาลทรายขาวกระสอบละ 100 กิโลกรัม จำนวน 15,000 กระสอบและน้ำตาลทรายดิบกระสอบละ 100 กิโลกรัม จำนวน 16,700 กระสอบไว้แก่โจทก์ ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 7 และที่ 9 ประการแรกมีว่าข้อตกลงระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1ที่ว่า “เป็นที่ตกลงกันโดยชัดแจ้งว่าสินค้าที่จำนำดังกล่าวข้างต้นนี้ไม่ว่าจะเก็บรักษาอยู่ ณ ที่ใดก็ตาม หากเกิดความชำรุดบุบสลาย เสียหาย สูญหาย หรือเสื่อมโทรมไม่ว่าจะโดยเหตุใด ๆก็ตามธนาคารย่อมไม่ต้องรับผิด” มีผลใช้บังคับกันได้หรือไม่โดยจำเลยที่ 1 ถึงที่ 7 และที่ 9 ฎีกาว่าเป็นการระบุยกเว้นความรับผิดไว้ล่วงหน้าเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 373 เห็นว่า ความตกลงที่ทำไว้ล่วงหน้าจะเป็นโมฆะต้องเป็นข้อความยกเว้นมิให้ลูกหนี้ต้องรับผิดเพื่อกลฉ้อฉลหรือความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของตน แต่ข้อตกลงระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 ไม่ได้มีข้อตกลงระบุชัดเจนว่ายกเว้นมิให้โจทก์ต้องรับผิดเพื่อกลฉ้อฉลหรือความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของโจทก์ ข้อตกลงยกเว้นความรับผิดดังกล่าวของโจทก์จึงไม่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนหรือขัดต่อกฎหมายสามารถใช้บังคับได้ แต่ทั้งนี้ข้อสัญญาดังกล่าวก็ไม่ได้หมายความเกินเลยไปถึงว่าหากความชำรุด บุบสลาย เสียหายสูญหาย หรือเสื่อมโทรมของทรัพย์สินที่จำนำเกิดขึ้นเป็นเพราะความผิดของโจทก์เองหรือเกิดจากความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของโจทก์แล้วโจทก์ไม่ต้องรับผิดชอบโดยอาศัยข้อยกเว้นความรับผิดดังกล่าว
ปัญหาวินิจฉัยต่อไปมีว่า โจทก์จะต้องรับผิดในความเสียหายสูญหาย หรือเสื่อมโทรมของน้ำตาลที่จำนำหรือไม่ เห็นว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ว่าจ้างบริษัทวนชัยอุตสาหกรรม จำกัด ผลิตน้ำตาลและเช่าโกดังของบริษัทดังกล่าวเก็บน้ำตาล ทั้งข้อเท็จจริงที่จำเลยที่ 1 นำสืบก็ไม่ปรากฏว่าน้ำตาลที่จำนำไว้ได้สูญหายไปเป็นเพราะโจทก์เป็นผู้เอาไปหรือโจทก์เป็นผู้กระทำหรือมีส่วนกระทำ หรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงเป็นเหตุให้น้ำตาลทรายสูญหายไป จำเลยที่ 1 อ้างว่าในเดือนสิงหาคม 2526จำเลยที่ 1 ได้เลิกสัญญาว่าจ้างบริษัทวนชัยอุตสาหกรรม จำกัดผลิตน้ำตาลและเลิกสัญญาเช่าโกดังเก็บน้ำตาลที่จำนำด้วย และได้แจ้งการเลิกสัญญาดังกล่าวให้ผู้จัดการโจทก์สาขาลำปางทราบด้วยวาจาแล้วนั้น นายอุเทน ชูชินปราการ ผู้รับมอบอำนาจโจทก์เบิกความปฏิเสธว่า ไม่เคยได้รับแจ้งเรื่องการเลิกสัญญาเช่าโกดังเก็บน้ำตาลที่จำนำจากจำเลยที่ 1 ทั้งไม่มีเหตุผลอะไรที่จำเลยที่ 1 จะบอกเลิกสัญญาเช่าโกดังในเมื่อยังมีน้ำตาลที่จำนำมีราคามากกว่าหนี้สินของจำเลยที่ 1 ที่มีต่อโจทก์จำเลยที่ 1 เองก็เคยไถ่ถอนการจำนำโดยการนำน้ำตาลออกจากโกดังไปขายมาแล้วถึง 4 ครั้งทั้งตามข้อตกลงในการจำนำโจทก์ไม่ต้องรับผิดในความชำรุด บุบสลาย เสียหายสูญหายหรือเสื่อมโทรมของน้ำตาลที่จำนำ โจทก์จึงไม่ต้องรับผิดในความเสียหายสูญหาย หรือเสื่อมโทรมของน้ำตาลที่จำนำ และตามข้อตกลงมิได้บังคับให้โจทก์ต้องบังคับจำนำ ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาชอบแล้วฎีกาของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 7 และที่ 9 ฟังไม่ขึ้น
อนึ่งตามคำขอท้ายฟ้องโจทก์ขอดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีนับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ ส่วนดอกเบี้ยก่อนฟ้องนายพทยา เพชรพลอย พยานโจทก์เบิกความว่าหนี้ขายลดตั๋วสัญญาใช้เงินนับแต่วันที่ 5 มีนาคม 2529 จนถึงวันฟ้องโจทก์คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี แต่ศาลล่างทั้งสองคิดดอกเบี้ยในช่วงเวลาดังกล่าวให้โจทก์ร้อยละ 17 ต่อปีจึงไม่ถูกต้อง”
พิพากษายืน แต่อัตราดอกเบี้ยของต้นเงิน 7,680,537 บาทนับแต่วันที่ 5 มีนาคม 2529 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จให้โจทก์คิดได้ในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี

Share