แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การตั้งตัวแทนที่กฎหมายบังคับให้ทำเป็นหนังสือหรือมีหลักฐานเป็นหนังสือตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 798 นั้น เป็นกรณีที่บุคคลกระทำการตั้งตัวแทนโดยมีการตกลงกันระหว่างตัวการและตัวแทน ส่วนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 821 นั้น เป็นกรณีที่มิได้มีการตกลงกันตั้งตัวแทน แต่เป็นการที่บุคคลคนหนึ่งแสดงออกหรือยอมให้บุคคลอีกคนหนึ่งแสดงออกต่อบุคคลภายนอกผู้สุจริต ให้เขาหลงเชื่อว่าบุคคลอีกคนหนึ่งนั้นเป็นตัวแทนของตน กฎหมายจึงบัญญัติให้บุคคลซึ่งแสดงออกหรือยอมให้บุคคลอีกคนหนึ่งแสดงออกต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกผู้สุจริต เสมือนว่าบุคคลอีกคนหนึ่งนั้นเป็นตัวแทนของตน
โจทก์แสดงออกหรือยอมให้ ส. แสดงออกว่าเป็นตัวแทนของโจทก์ และ ส. ได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นลูกหนี้โดยตรง โจทก์จึงต้องรับเอาผลของการที่ ส. ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับจำเลยที่ 2 มาเป็นของตน จะอ้างว่าการตั้งตัวแทนไม่ได้ทำเป็นหนังสือตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 798 หาได้ไม่ มูลหนี้ของโจทก์อันเกิดจากการละเมิดที่โจทก์นำมาฟ้องจึงเป็นอันระงับไป
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์หมายเลขทะเบียน ล.บ.๑๐๔๓๙ ประเภทชดใช้ค่าเสียหายโดยสิ้นเชิง จำเลยที่ ๑ เป็นนิติบุคคลและเป็นเจ้าของรถยนต์หมายเลขทะเบียน ก.ท.ช.-๐๓๕๓ จำเลยที่ ๒ เป็นข้าราชการในสังกัดของจำเลยที่ ๑ เมื่อวันที่ ๑๓ มิถุนายน ๒๕๑๙ จำเลยที่ ๒ ขับรถหมายเลขทะเบียน ก.ท.ช.-๐๓๕๓ เพื่อปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยที่ ๑ โดยประมาทชนรถยนต์หมายเลขทะเบียน ล.บ.๑๐๔๓๙ ได้รับความเสียหาย ขอให้จำเลยทั้งสามร่วมกันรับผิดใช้เงิน ๑๘,๐๐๐ บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ย
จำเลยที่ ๑ ให้การว่าโจทก์ไม่ใช้นิติบุคคล จำเลยที่ ๑ ได้โอนจำเลยที่ ๒ ตลอดจนทรัพย์สินและหนี้สินทุกชนิดให้แก่การสื่อสารแห่งประเทศไทยแล้ว จำเลยที่ ๑ จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ เหตุที่เกิดขึ้นเพราะความประมาทของผู้ขับรถยนต์หมายเลขทะเบียน ล.บ.๑๐๔๓๙ ความเสียหายของโจทก์ไม่เกิน ๑๓,๐๐๐ บาท ตัวแทนของโจทก์ได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับจำเลยที่ ๒ แล้ว สิทธิของโจทก์ที่จะฟ้องมูลละเมิดจึงระงับไป ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๒ ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นเรียกการสื่อสารแห่งประเทศไทยเข้ามาเป็นจำเลยร่วมและจำเลยร่วมให้การทำนองเดียวกับจำเลยที่ ๑
ในการพิจารณาครั้งแรก ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าโจทก์ไม่เป็นนิติบุคคล พิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าโจทก์เป็นนิติบุคคลพิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษาคดีใหม่ ต่อมาศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยที่ ๒ เป็นฝ่ายประมาท แต่โจทก์กับจำเลยที่ ๒ ได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันแล้ว จึงไม่มีอำนาจฟ้องในมูลละเมิดอีกพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาในปัญหาข้อกฎหมาย
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การตั้งตัวแทนที่กฎหมายบังคับให้ทำเป็นหนังสือหรือมีหลักฐานเป็นหนังสือตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๗๙๘ นั้นเป็นกรณีสำหรับการที่บุคคลกระทำการตั้งตัวแทนโดยมีการตกลงกันระหว่างตัวการและตัวแทนเช่นนั้น ส่วนมาตรา ๘๒๑ นั้นเป็นกรณีที่มิได้มีการตั้งตัวแทนกันจริงจังตามกฎหมายแต่เป็นกรณีที่บุคคลคนหนึ่งแสดงออกต่อบุคคลภายนอกผู้สุจริต หรือยอมให้บุคคลอีกคนหนึ่งแสดงออกต่อบุคคลภายนอกผู้สุจริต ให้เขาหลงเชื่อว่าบุคคลอีกคนหนึ่งนั้นเป็นตัวแทนของตน กฎหมายจึงบัญญัติให้บุคคลซึ่งแสดงออกหรือยอมให้เขาแสดงออกต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกผู้สุจริต เสมือนว่าบุคคลอีกคนหนึ่งนั้นเป็นตัวแทนของตนซึ่งในกรณีนี้ก็คือโจทก์แสดงออกหรือยอมให้นายสุริยาแสดงออกว่าเป็นตัวแทนของโจทก์และนายสุริยาไปทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับจำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นลูกหนี้ในคดีนี้โดยตรง โจทก์จึงต้องรับเอาผลของการที่นายสุริยาทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับจำเลยที่ ๒ มาเป็นของตน จะอ้างไม่ได้ว่าการตั้งตัวแทนไม่ได้ทำเป็นหนังสือตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๗๙๘ เพราะไม่ใช่กรณีตั้งตัวแทนดังกล่าวแล้ว ฉะนั้นมูลหนี้ของโจทก์อันเกิดจากการละเมิดที่โจทก์นำมาฟ้องจึงเป็นอันระงับไป
พิพากษายืน