แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องด้วยวาจาเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2524 ว่าจำเลยกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายแก่กายถึงสาหัสและกระทำผิดต่อพระราชบัญญัติจราจรทางบก ปรากฏในบันทึกคำฟ้องของศาลว่าจำเลยกระทำความผิดเมื่อวันที่ 31มิถุนายน 2524 อันเป็นวันภายหลังที่โจทก์ฟ้อง แต่ปรากฏตามบันทึกการตกลงชดใช้ค่าเสียหายและคำร้องขอผัดฟ้องและฝากขังว่าจำเลยกระทำผิดเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2524 และต่อมาเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2524 จำเลยมอบตัวต่อพนักงานสอบสวนและให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวน ในวันที่โจทก์ฟ้องจำเลยก็ยังได้ยื่นคำร้องยอมรับสารภาพว่าได้กระทำความผิดจริงแสดงว่าจำเลยทราบดีถึงการกระทำความผิดของจำเลย ทั้งจำเลยมิได้หลงต่อสู้ การที่ศาลบันทึกวันกระทำผิดของจำเลยผิดพลาดไปเป็นเรื่องของความพลั้งเผลอจึงหาใช่เป็นการฟ้องกล่าวหาว่าจำเลยกระทำผิดภายหลังวันที่โจทก์ฟ้องไม่ศาลพิพากษาลงโทษจำเลยได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องด้วยวาจาตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 20 ปรากฏในบันทึกของศาลว่าเมื่อวันที่ 31 มิถุนายน 2524 เวลา 12 นาฬิกา จำเลยขับรถจักรยานยนต์ด้วยความประมาทเฉี่ยวชนผู้เสียหายได้รับอันตรายแก่กายสาหัสแล้วจำเลยหลบหนีไม่แสดงตัวและแจ้งเหตุแก่เจ้าพนักงานขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 300 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43(4), 157, 78 วรรคแรก, 160 วรรคแรก
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำคุกและปรับจำเลย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ได้ความว่าโจทก์ฟ้องจำเลยด้วยวาจา เมื่อวันที่ 19มิถุนายน 2524 แต่ปรากฏในบันทึกคำฟ้องของศาลว่า จำเลยกระทำผิดเมื่อวันที่ 31 มิถุนายน 2524 มีปัญหาว่าจะเป็นการฟ้องและพิพากษาล่วงหน้าหรือเป็นการกล่าวหาว่าจำเลยกระทำผิดภายหลังที่โจทก์ฟ้องหรือไม่ พิเคราะห์แล้วเห็นว่าคดีนี้เป็นคดีที่อยู่ในอำนาจของศาลแขวง ซึ่งตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 20แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2517 มาตรา 10 บัญญัติว่า ในคดีอาญาที่อยู่ในอำนาจศาลแขวงที่จะพิจารณาพิพากษาได้ ถ้าผู้ต้องหาให้การรับสารภาพตลอดข้อหาต่อพนักงานสอบสวน ให้พนักงานสอบสวนนำผู้ต้องหามายังพนักงานอัยการเพื่อฟ้องศาลโดยมิต้องทำการสอบสวน และให้ฟ้องด้วยวาจาทั้งนี้เพื่อให้คดีเสร็จไปโดยรวดเร็ว โดยมิต้องนำหลักเกณฑ์การฟ้องคดีอาญาตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาใช้บังคับดังจะเห็นได้ว่า แม้กระทั่งการสอบสวนก็ไม่ต้องกระทำ สำหรับวันกระทำผิดที่ศาลบันทึกไว้นั้น เมื่อได้ตรวจดูบันทึกการตกลงชดใช้ค่าเสียหายและคำร้องขอผัดฟ้องและฝากขังครั้งที่ 1 แล้ว ก็ปรากฏว่าจำเลยกระทำผิดเมื่อวันที่ 31พฤษภาคม 2524 เวลา 12 นาฬิกา วันที่ 1 มิถุนายน 2524 จำเลยมามอบตัวต่อพนักงานสอบสวน จึงเป็นที่เห็นได้ว่า การที่ศาลจดบันทึกวันกระทำผิดของจำเลยเป็นวันที่ 31 มิถุนายน 2524 ตามบันทึกหลักฐานการฟ้องคดีด้วยวาจานั้นเป็นเรื่องความพลั้งเผลอ จำเลยเองก็ยอมรับสารภาพมาตั้งแต่ชั้นสอบสวน ในวันฟ้องนอกจากศาลจะบันทึกคำรับสารภาพของจำเลยแล้วจำเลยยังได้ยื่นคำร้องยอมรับสารภาพว่าจำเลยกระทำความผิดจริง ขอให้ลงโทษแก่จำเลยในสถานเบาหรือรอการลงโทษให้แก่จำเลยด้วย แสดงว่าจำเลยทราบดีถึงการกระทำความผิดของจำเลยและทั้งจำเลยมิได้หลงต่อสู้จึงหาใช่เป็นการฟ้องและพิพากษาล่วงหน้าหรือเป็นการกล่าวหาว่าจำเลยกระทำผิดภายหลังวันที่โจทก์ฟ้องไม่
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีลงโทษจำเลยตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น