แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 นั้น บทบัญญัติมาตรา 55(4) และมาตรา 71(1)(2) ต้องอยู่ในเงื่อนไขของมาตรา 21ดังนั้นเมื่อโจทก์ขับขี่รถมาถึงสี่แยกที่เกิดเหตุ โจทก์ก็ต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามสัญญาณจราจรและเครื่องหมายจราจรที่ได้ติดตั้งไว้ หากปรากฏว่าสี่แยกด้านที่โจทก์ขับขี่รถมามีป้ายสัญญาณจราจรให้หยุดเพื่อดูความปลอดภัย แต่โจทก์กลับขับขี่รถแล่นออกไปโดยไม่ได้หยุดและชนกับรถที่จำเลยที่ 1 ขับขี่แล่นผ่านสี่แยกจากอีกด้านหนึ่งด้วยความเร็วสูง แม้ว่าเป็นความประมาทของจำเลยที่ 1 แต่ก็นับว่าโจทก์มีส่วนประมาทด้วย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ขับรถประมาทในทางการที่จ้าง เป็นเหตุให้ชนรถของโจทก์ โจทก์ได้รับบาดเจ็บขอให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ใช้ค่าเสียหาย 65,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยจำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้เป็นลูกจ้างและไม่ได้ทำงานในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 โจทก์ประมาทฝ่ายเดียว ค่าเสียหายไม่เกิน 5,000บาท ขอให้ยกฟ้อง ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า โจทก์และจำเลยที่ 1 ต่างขับรถด้วยความประมาท และจำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายประมาทมากกว่าค่าเสียหายของโจทก์ 45,685 บาท แต่โจทก์มีส่วนประมาทอยู่ด้วยเห็นควรให้จำเลยที่ 1 ชดใช้เพียง 30,000 บาท ส่วนจำเลยที่ 2ไม่ต้องร่วมรับผิด พิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าเสียหาย 30,000บาท โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ด้วย นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ในชั้นฎีกานี้คดีมีปัญหาว่า โจทก์มีส่วนประมาทด้วยหรือไม่ และจำเลยทั้งสองจะต้องรับผิดในค่าเสียหายของโจทก์เพียงใด ในปัญหาแรก โจทก์มีส่วนประมาทหรือไม่ ข้อเท็จจริงที่โจทก์และจำเลยที่ 2 นำสืบตรงกันมีว่า โจทก์ขับรถยนต์ปิกอัพจากพระแท่นมุ่งหน้าไปทางท่าเรือ รถบรรทุกของจำเลยที่ 2 แล่นด้วยความเร็วสูงจากท่ามะกาจะไปท่าม่วง ชนกันที่สี่แยกตรงจุดชนตามแผนที่เกิดเหตุ รถโจทก์แล่นไปได้ 25.32 เมตร อีก 4.20เมตร จะถึงแนวขอบถนนด้านซ้ายที่รถจำเลยที่ 2 แล่นมา ไม่มีรอยห้ามล้อของรถยนต์บรรทุกสิบล้อ ในข้อที่โจทก์ว่าโจทก์ไม่ได้ประมาทโจทก์เบิกความว่า เมื่อถึงสี่แยกโจทก์หยุดรถมองซ้ายขวาแล้วไม่มีรถจึงขับผ่านสี่แยก ฝ่ายจำเลย นายชัยยศซึ่งขับรถสวนทางกับรถโจทก์เบิกความว่า เมื่อขับรถถึงสี่แยกมองไปตรงหน้าไม่เห็นรถโจทก์มองไปทางขวามือเห็นรถบรรทุกสิบล้อคันหนึ่งแล่นมาห่างพยานประมาณ100 เมตร มองไปทางซ้ายก็รู้สึกตัวว่ารถถูกชน นายชัยยศมีฐานะเป็นคนกลาง ไม่ได้เป็นฝ่ายโจทก์หรือจำเลยในกรณีรถโจทก์จำเลยชนกัน จึงมีน้ำหนักดีกว่าโจทก์ และเมื่อพิเคราะห์ตามแผนที่เกิดเหตุรถยนต์บรรทุกของจำเลยที่ 2 ไม่มีรอยห้ามล้อ แสดงว่าคนขับรถคือจำเลยที่ 1 ไม่ได้มองเห็นรถโจทก์เลย ที่เป็นเช่นนั้นน่าจะเป็นเพราะรถโจทก์ได้แล่นผ่านป้ายที่บอกให้หยุดโดยไม่หยุดดูความปลอดภัยให้ดีเสียก่อน และตามที่โจทก์ว่า ตอนแรกที่โจทก์เห็นรถจำเลยที่ 2ห่างโจทก์ประมาณ 200 เมตร ซึ่งถ้าห่างถึงขนาดนั้นจริง รถโจทก์แล่นผ่านความกว้างของสี่แยกประมาณ 30 เมตร ได้อย่างปลอดภัย จึงเชื่อได้ว่ารถโจทก์ได้แล่นผ่านป้ายที่บอกให้หยุดเพื่อดูความปลอดภัยโดยไม่ได้หยุด แต่แล่นออกมาเลย ประกอบกับรถจำเลยที่ 2แล่นด้วยความเร็วสูงจึงเกิดชนกัน แม้ว่าเป็นความประมาทของจำเลยที่ 1 คนขับรถของจำเลยที่ 2 แต่โจทก์ก็นับว่ามีส่วนประมาทด้วยตามที่โจทก์ฎีกาว่า โจทก์ปฏิบัติถูกต้องตามพระราชบัญญัติจราจรทางบกพ.ศ. 2522 มาตรา 55(4) และมาตรา 71(1)(2) นั้น เห็นว่าบทกฎหมายดังกล่าวต้องอยู่ในเงื่อนไขของมาตรา 21 ก่อน คือ ผู้ขับขี่ต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามสัญญาณจราจรและเครื่องหมายจราจรที่ได้ติดตั้งไว้ ตามแผนที่เกิดเหตุในเอกสารหมาย จ.5 ที่พนักงานสอบสวนทำมามีป้ายหยุดอยู่ ซึ่งโจทก์จะต้องปฏิบัติตามเครื่องหมายดังกล่าวเมื่อโจทก์ไม่ปฏิบัติตาม โจทก์ก็ไม่อาจอ้างมาตรา 55(4) และมาตรา71(1)(2) ได้ ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่าโจทก์มีส่วนประมาทจึงชอบแล้ว ฎีกาโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น”
…ฯลฯ…
พิพากษายืน