คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2861/2530

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ในระหว่างจัดการมรดก โจทก์ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกย่อมมีอำนาจที่จะกระทำการใด ๆ ในทางจัดการที่จำเป็นได้ ดังบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1736 จำเลยและบริวารเข้าครอบครองอาคารพิพาทโดยทายาทอื่นมิได้ยินยอม ทำให้ทายาทอื่นขาดผลประโยชน์จากการใช้อาคาร จึงเป็นการละเมิด แม้จำเลยจะเป็นทายาทคนหนึ่ง จำเลยก็ไม่อาจถือเอาประโยชน์จากทรัพย์มรดกที่ยังไม่ได้แบ่งเป็นของตนแต่ผู้เดียว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยได้
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 วรรคแรก ที่ให้คำพิพากษาหรือคำสั่งมีผลผูกพันนับแต่วันที่ได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งจนกว่าถูกเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น นั้น เป็นเรื่องที่ให้ถือว่าผูกพันเฉพาะคู่ความในกระบวนพิจารณาของศาลที่พิพากษาหรือมีคำสั่งดังกล่าวเท่านั้น คำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้ถอนโจทก์จากการเป็นผู้จัดการมรดกจึงผูกพันเฉพาะคู่ความในคดีเรื่องนั้นไม่ผูกพันคู่ความในคดีนี้ซึ่งเป็นคนละคดีกัน และจำเลยไม่อาจยกคำสั่งดังกล่าวขึ้นอ้างอิงในคดีนี้ได้ เพราะคำพิพากษาหรือคำสั่งเกี่ยวด้วยฐานะหรือความสามารถของบุคคลที่บุคคลภายนอกจะยกขึ้นใช้อ้างอิงได้ต้องเป็นคำพิพากษาหรือคำสั่งที่ถึงที่สุดแล้วเท่านั้น.

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสองในฐานะผู้จัดการมรดกของนางสาวศิริพร แซ่ตั้ง ฟ้องขอให้ขับไล่จำเลยซึ่งเป็นทายาทคนหนึ่งของนางสาวศิริพรและบริวารให้ออกจากอาคาร และขอให้ใช้ค่าเสียหายจากการทำอาคารเสียหายกับค่าขาดประโยชน์
จำเลยให้การว่า จำเลยเข้าไปดูแลรักษาอาคารเพราะโจทก์ละทิ้งอาคารพิพาทให้ชำรุดทรุดโทรม จำเลยไม่ได้ทำให้อาคารเสียหายขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมเป็นพับ
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ขณะคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น ศาลมีคำสั่งถอนโจทก์ทั้งสองจากการเป็นผู้จัดการมรดกของนางสาวศิริพรแล้ว โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องอุทธรณ์ ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์เป็นพับ
โจทก์ทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ตามที่คู่ความรับกันและนำสืบตรงกันว่า โจทก์ทั้งสองกับจำเลยต่างเป็นพี่น้องและทายาทของนางสาวศิริพร แซ่ตั้ง และสิทธิการเช่าอาคารพิพาทเป็นมรดกของนางสาวศิริพร ผู้ตาย อันตกได้แก่โจทก์ จำเลย และทายาทอื่น รวม ๖ คน ขณะฟ้องคดีนี้ โจทก์ทั้งสองเป็นผู้จัดการมรดกของนางสาวศิริพร แซ่ตั้ง ตามคำสั่งศาล คดีหมายเลขแดงที่ ๒๕๓/๒๕๒๑ ของศาลชั้นต้น ต่อมาระหว่างพิจารณาคดีนี้ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ถอนโจทก์ทั้งสองออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกและตั้งจำเลยกับพวกเป็นแทน คดีอยู่ระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์
ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่า โจทก์ทั้งสองมีอำนาจฟ้องอุทธรณ์หรือไม่ เห็นว่าในคดีขอเป็นผู้จัดการมรดกแม้ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งให้ถอนโจทก์ออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกของนางสาวศิริพร แซ่ตั้ง ก็ตามแต่คดียังไม่ถึงที่สุด เพราะโจทก์อุทธรณ์คำสั่งในคดีดังกล่าวอยู่ ข้อเท็จจริงยังรับฟังเป็นยุติไม่ได้ จึงจะใช้ยันบุคคลภายนอกคดีไม่ได้ บทบัญญัติของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๔๕ วรรคแรก ที่ว่าคำพิพากษาหรือคำสั่งใด ๆ ให้มีผลผูกพันนับแต่วันที่ได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งจนถึงวันที่คำพิพากษาหรือคำสั่งดังกล่าวถูกเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่นนั้นเป็นเรื่องที่ให้ถือว่าผูกพันคู่ความในกระบวนพิจารณาของศาลที่พิพากษาหรือมีคำสั่งนั้นเท่านั้น ดังนั้น คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ให้ถอนโจทก์จากการเป็นผู้จัดการมรดก จึงมีผลผูกพันเฉพาะคู่ความในคดีหมายเลขแดงที่ ๒๕๓/๒๕๒๑ ของศาลชั้นต้น หามีผลผูกพันถึงคู่ความในคดีนี้ไม่ แม้จำเลยจะเป็นผู้ร้องขอให้ถอนโจทก์ออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกในคดีดังกล่าวก็ตาม แต่ก็เป็นคู่ความคนละคดีกัน จำเลยจึงไม่อาจยกขึ้นอ้างอิงในคดีนี้ได้ ทั้งนี้เพราะคำพิพากษาเกี่ยวด้วยฐานะหรือความสามารถของบุคคล จะยกขึ้นใช้อ้างอิงหรือใช้ยันแก่บุคคลภายนอกได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา ๑๔๕ (๑) ก็ต่อเมื่อเป็นคำพิพากษาหรือคำสั่งที่ถึงที่สุดแล้วเท่านั้น เมื่อโจทก์ยังอุทธรณ์คำสั่งในคดีหมายเลขแดงที่ ๒๕๓/๒๕๒๑ ของศาลชั้นต้นและคดีอยู่ระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องอุทธรณ์คดีนี้ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องอุทธรณ์นั้นศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
ปัญหาต่อไปมีว่า โจทก์มีสิทธิขับไล่จำเลยและเรียกค่าเสียหายหรือไม่ ประเด็นดังกล่าวศาลอุทธรณ์ยังมิได้วินิจฉัยแต่ศาลฎีกาเห็นว่า ไม่จำเป็นต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยและเห็นสมควรวินิจฉัยไปเสียทีเดียว และเห็นว่าโจทก์เป็นผู้จัดการมรดก ในระหว่างจัดการย่อมมีอำนาจที่จะกระทำการใด ๆ ในทางจัดการที่จำเป็นได้ เช่นการฟ้องคดีหรือแก้ฟ้องในศาลและอื่น ๆ เพื่อรวบรวมทรัพย์มรดกแบ่งปันแก่ทายาท ดังบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๗๓๖ ข้อเท็จจริงจำเลยยอมรับว่าจำเลยและบริวารได้เข้าไปครอบครองอาคารพิพาท ซึ่งการเข้าไปครอบครองดังกล่าวทายาทอื่นมิได้ยินยอมทำให้ทายาทอื่นขาดผลประโยชน์จากการใช้อาคารดังกล่าว จึงเป็นการละเมิด แม้จำเลยจะเป็นทายาทคนหนึ่งก็ตาม ก็ไม่อาจถือเอาประโยชน์จากทรัพย์มรดกที่ยังไม่ได้แบ่งเป็นของตนแต่ผู้เดียว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยได้
หลังจากนั้นศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยต้องชดใช้ค่าเสียหายจากการขาดประโยชน์เพราะไม่ได้ใช้อาคารเท่าค่าเช่าที่จะให้เช่าได้
พิพากษากลับ ให้จำเลยและบริวารออกไปจากอาคารพาณิชย์ เลขที่๖๕๔ ถนนประโคนชัย ตำบลปากน้ำ อำเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ และให้จำเลยใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์เดือนละ๑๒,๐๐๐ บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยและบริวารจะออกไปจากอาคารพิพาท ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก.

Share