แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
โจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกฟ้องขับไล่จำเลยออกไปจากอาคารพิพาทศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ระหว่างพิจารณาคดีนี้ในศาลชั้นต้นศาลได้มีคำสั่งในคดีตั้งผู้จัดการมรดกให้เพิกถอนโจทก์ทั้งสองจากการเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย แต่คดียังไม่ถึงที่สุด เพราะโจทก์อุทธรณ์คำสั่งในคดีดังกล่าวอยู่ แม้จำเลยจะเป็นผู้ร้องขอให้ถอน โจทก์ออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกในคดีนั้นก็ตาม แต่ก็เป็นคู่ความคนละคดีกัน จำเลยจึงไม่อาจยกขึ้นอ้างอิงในคดีนี้ได้ เพราะคำพิพากษาเกี่ยวด้วยฐานะหรือความสามารถของบุคคล จะยกขึ้นใช้อ้างอิงหรือใช้ยันแก่บุคคลภายนอกได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาแพ่ง มาตรา145(1) ก็ต่อเมื่อเป็นคำพิพากษาหรือคำสั่งที่ถึงที่สุดแล้วเท่านั้นเมื่อคดีดังกล่าวอยู่ในระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องอุทธรณ์คดีนี้.
ย่อยาว
โจทก์ทั้งสองฟ้องว่า โจทก์ทั้งสองเป็นผู้จัดการมรดกร่วมกันของนางสาวศิริพร แซ่ตั้ง ตามคำสั่งศาล นางสาวศิริพรเช่าอาคารเลขที่654 จากราชพัสดุ จังหวัดสมุทรปราการ ต่อมานางสาวศิริพรถึงแก่กรรมโจทก์ทั้งสองในฐานะผู้จัดการมรดกได้ทำสัญญาเช่าอาคารดังกล่าวเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2521 มีกำหนด 5 ปี ครั้นต้นเดือนมิถุนายน2526 จำเลยเข้าไปอยู่ในอาคารดังกล่าวโดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ทั้งสอง ขอให้บังคับจำเลยและบริวารออกไปจากอาคารดังกล่าว และให้จำเลยใช้ค่าเสียหาย
จำเลยให้การว่า อาคารพิพาทเป็นมรดกของนางสาวศิริพร แซ่ตั้งซึ่งตกทอดแก่โจทก์ทั้งสอง จำเลยและทายาทอื่นรวม 6 คน โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกได้ละทิ้งอาคารพิพาทให้ชำรุดทรุดโทรม จำเลยจึงเข้าดูแลรักษาเพื่อไม่ให้เสียกาย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ระหว่างพิจารณาคดีนี้ในศาลชั้นต้น ศาลได้มีคำสั่งเพิกถอนโจทก์ทั้งสองจากการเป็นผู้จัดการมรดกของนางสาวศิริพร แซ่ตั้งแล้ว โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องอุทธรณ์ พิพากษายืน
โจทก์ทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ตามที่คู่ความรับกันและนำสืบตรงกันว่า โจทก์ทั้งสองกับจำเลยต่างเป็นพี่น้องและทายาทของนางสาวศิริพร แซ่ตั้ง และสิทธิการเช่าอาคารพิพาทเป็นมรดกของนางสาวศิริพร ผู้ตาย อันตกได้แก่โจทก์ จำเลย และทายาทอื่น รวม6 คน ขณะฟ้องคดีนี้ โจทก์ทั้งสองเป็นผู้จัดการมรดกของนางสาวศิริพรแซ่ตั้ง ตามคำสั่งศาล คดีหมายเลขแดงที่ 253/2512 ของศาลชั้นต้นต่อมาระหว่างพิจารณาคดีนี้ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ถอนโจทก์ทั้งสองออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกและตั้งจำเลยกับพวกเป็นแทน คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์
ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่าโจทก์ทั้งสองมีอำนาจฟ้องอุทธรณ์หรือไม่ เห็นว่าในคดีขอเป็นผู้จัดการมรดกแม้ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งให้ถอนโจทก์ออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกของนางสาวศิริพร แซ่ตั้ง ก็ตาม แต่คดียังไม่ถึงที่สุด เพราะโจทก์อุทธรณ์คำสั่งในคดีดังกล่าวอยู่ ข้อเท็จจริงยังรับฟังเป็นยุติไม่ได้จึงจะใช้ยันบุคคลภายนอกคดีไม่ได้ บทบัญญัติของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 วรรคแรก ที่ว่าคำพิพากษาหรือคำสั่งใด ๆ ให้มีผลผูกพันนับแต่วันที่ได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งจนถึงวันที่คำพิพากษาหรือคำสั่งดังกล่าวถูกเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่นนั้นเป็นเรื่องที่ให้ถือว่าผูกพันคู่ความในกระบวนพิจารณาของศาลที่พิพากษาหรือมีคำสั่งนั้น เท่านั้น ดังนั้นคำสั่งของศาลชั้นต้นที่ให้ถอนโจทก์จากการเป็นผู้จัดการมรดก จึงมีผลผูกพันเฉพาะคู่ความในคดีหมายเลขแดงที่ 253/2521 ของศาลชั้นต้นหามีผลผูกพันถึงคู่ความในคดีนี้ไม่ แม้จำเลยจะเป็นผู้ร้องขอให้ถอนโจทก์ออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกในคดีดังกล่าวก็ตาม แต่ก็เป็นคู่ความคนละคดีกันจำเลยจึงไม่อาจยกขึ้นอ้างอิงในคดีนี้ได้ ทั้งนี้เพราะคำพิพากษาเกี่ยวด้วยฐานะหรือความสามารถของบุคคลจะยกขึ้นใช้อ้างอิงหรือใช้ยันแก่บุคคลภายนอกได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145(1) ก็ต่อเมื่อเป็นคำพิพากษาหรือคำสั่งที่ถึงที่สุดแล้วเท่านั้น เมื่อโจทก์ยังอุทธรณ์คำสั่งในคดีหมายเลขแดงที่ 253/2521 ของศาลชั้นต้นและคดีอยู่ระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์คดีนี้ ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องอุทธรณ์นั้นศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วยฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น…
พิพากษากลับ ให้จำเลยและบริวารออกไปจากอาคารพาณิชย์เลขที่ 654และให้จำเลยใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์…”.