แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การที่โจทก์ตกลงทำสัญญาขายสินค้าให้แก่ลูกค้าเป็นราคาเงินสด แต่กำหนดให้ลูกค้าชำระราคาด้วยตั๋วสัญญาใช้เงินที่ยังไม่ถึงกำหนดก็ได้ ในกรณีที่ชำระราคาด้วยตั๋วสัญญาใช้เงิน ลูกค้าจะต้องชำระดอกเบี้ยสำหรับราคาสินค้านั้นให้แก่โจทก์ในอัตราร้อยละ 12 ต่อปี ให้แก่โจทก์ด้วยนั้น การที่โจทก์คิดดอกเบี้ยจากลูกค้าอีกจำนวนหนึ่งเพิ่ม ขึ้นจากราคาเงินสดเป็นการนำดอกเบี้ยมาเป็นหลักกำหนดราคาขายเชื่อนั่นเอง แม้ลูกค้าบางคนจะออกตั๋วสัญญาใช้เงินสำหรับดอกเบี้ยเป็นอีกฉบับหนึ่งต่างหากจากตั๋วสัญญาให้เงินสำหรับราคาเงินสด หรือโจทก์ได้ออกใบเสร็จรับเงินสำหรับดอกเบี้ยเป็นอีกฉบับหนึ่งต่างหากจากใบเสร็จรับเงินราคาสินค้าก็ไม่ทำให้ดอกเบี้ยนั้นเป็นดอกเบี้ยของตั๋วสัญญาใช้เงินที่ออกชำระราคาสินค้า ดอกเบี้ยที่โจทก์ได้รับจึงเป็นส่วนหนึ่งของราคาสินค้าที่โจทก์ขายเพื่อ เป็นราคาสินค้าอันเป็นรายรับตามวิธีคำนวณรายรับตามประมวลรัษฎากร มาตรา 79 จัตวา (3) ต้องนำมาคำนวณเพื่อเสียภาษีการค้า
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ขายสินค้าตามราคาในวันที่มีการซื้อขายเสร็จเด็ดขาด และผู้ซื้อต้องชำระราคาสินค้าให้แก่โจทก์ในวันส่งมอบสินค้านั้น ถ้าหากผู้ซื้อขอร้องชำระราคาเป็นตั๋วสัญญาใช้เงินอันมีกำหนดระยะเวลา โจทก์คิดดอกเบี้ยตั๋วเงินในอัตราร้อยละ ๑๒ ต่อปี นับแต่วันออกตั๋วจนถึงวันครบกำหนดชำระเงินตามตั๋วนั้น จำเลยได้ประเมินเรียกเก็บภาษีการค้าสำหรับรายรับของโจทก์อันเกิดจากดอกเบี้ยในตั๋วสัญญาใช้เงินดังกล่าว โดยอ้างว่าเป็นรายรับอันจะต้องเสียภาษีการค้าจากการขายสินค้าดังกล่าวซึ่งไม่ถูกต้องตามกฎหมาย เพราะหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินเป็นมูลหนี้ต่างหากจากมูลหนี้ซื้อขาย ขอให้เพิกถอนการประเมินภาษีของจำเลย
จำเลยให้การว่า ดอกเบี้ยที่โจทก์ได้รับตามตั๋วสัญญาใช้เงิน เป็นค่าตอบแทนหรือประโยชน์อันมีมูลค่าที่ได้รับหรือพึงได้รับเนื่องจากการประกอบการค้าในการขายสินค้าเป็นเงินเชื่อ จึงเป็นรายรับที่ต้องเสียภาษีการค้า
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ดอกเบี้ยที่โจทก์ได้รับจากตั๋วสัญญาใช้เงินหรือจากราคาสินค้านั้น มิใช่ราคาหรือมูลค่าของสินค้าอันแท้จริง ถือไม่ได้ว่าเป็นค่าตอบแทนหรือผลประโยชน์อันเนื่องมาจากการประกอบการค้า แต่เป็นค่าตอบแทนหรือผลประโยชน์ที่โจทก์ได้รับเนื่องมาจากผู้ซื้อไม่ชำระราคาสินค้าตามเวลาที่ถูกต้องสมควร ดอกเบี้ยจึงไม่ใช่รายรับที่จะนำมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีการค้า พิพากษาให้เพิกถอนการประเมินภาษีการค้าตามฟ้อง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ดอกเบี้ยของตั๋วสัญญาใช้เงินที่โจทก์ได้รับจากการขายสินค้าเป็นรายรับจากการประกอบการค้าด้วย การประเมินภาษีของจำเลย ๗๙ จะต้องนำมาคำนวณเพื่อเสียภาษีการค้าด้วย การประเมินภาษีของจำเลยชอบด้วยกฎหมายแล้ว พิพากษากลับให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ดอกเบี้ยที่โจทก์ได้รับจะต้องนำมาคำนวณเป็นรายรับเพื่อเสียภาษีการค้าหรือไม่ พิเคราะห์แล้วโจทก์ประกอบการค้าจำหน่ายสินค้าผ้าและเส้นด้านเป็นผู้ประกอบการค้าประเภทการค้า ๑ การขายของตามบัญชีอัตราภาษีการค้าท้ายประมวลรัษฎากร มีหน้าที่เสียภาษีการค้าจากรายรับทุกเดือนภาษีตามประมวลรัษฎากร มาตรา ๗๘ รายรับนั้นแม้มาตรา ๗๙ ตอนต้นแห่งประมวลรัษฎากรให้ความหมายไว้ว่า หมายถึงเงิน ทรัพย์สิน ค่าตอบแทนหรือประโยชน์ใดๆ อันมีมูลค่าที่ได้รับหรือพึงได้รับไม่ว่าในหรือนอกราชอาณาจักร เนื่องจากการประกอบการค้าก็ตาม แต่ในการคำนวณรายรับของการค้ำประเภทการขายของประมวลรัษฎากร มาตรา ๗๙ จัตวา (๓) ได้บัญญัติไว้ว่า “การค้าประเภทการขายของให้คำนวณราคาสินค้าเป็นรายรับในเดือนภาษีที่มีการขายเสร็จเด็ดขาด ไม่ว่าจะได้รับชำระเงินหรือราคาแล้วหรือไม่ก็ตาม” ดังนั้น การคำนวณรายรับในการขายสินค้าซึ่งเป็นผ้าและเส้นด้ายของโจทก์เพื่อเสียภาษีการค้า จึงต้องนำราคาผ้าหรือเส้นด้ายที่โจทก์กับลูกค้าตกลงซื้อขายกันมาคำนวณเป็นรายรับ ได้ความว่าในการที่โจทก์ขายผ้าและเส้นด้ายให้แก่ลูกค้าซึ่งชำระราคาด้วยตั๋วสัญญาใช้เงิน อันเป็นปัญหาในคดีนี้ โจทก์กับลูกค้าได้ตกลงทำสัญญาขายกันไว้ดังเอกสารหมาย จ.๓๒ โดยตกลงซื้อขายกันเป็นราคาเงินสด แต่กำหนดให้ลูกค้าชำระราคาด้วยตั๋วสัญญาใช้เงินถึงกำหนดตามระยะเวลาที่ตกลงกัน เมื่อโจทก์ส่งมอบสินค้าให้ลูกค้าแล้วลูกค้าจะออกตั๋วสัญญาใช้เงินให้โจทก์เป็นจำนวนเงินตามราคาในสัญญาขายหรือใบส่งของซึ่งมีจำนวนตรงกัน กับจะเพิ่มเงินค่าดอกเบี้ยให้อีกจำนวนหนึ่ง ดอกเบี้ยนี้คำนวณในอัตราที่ตกลงกับจากราคาเงินสดและในระยะเวลาตามตั๋วสัญญาใช้เงิน เมื่อตั๋วสัญญาใช้เงินถึงกำหนดลูกค้าก็จะชำระเงินตามตั๋วให้โจทก์ ศาลฎีกาเห็นว่า การที่โจทก์กับลูกค้าทำสัญญาขายตกลงราคากันเป็นราคาเงินสด แต่กำหนดให้ลูกค้าชำระราคาด้วยตั๋วสัญญาใช้เงินที่ยังไม่ถึงกำหนด ย่อมเป็นการซื้อขายเชื่อหาใช่ซื้อขายเงินสดไม่ การที่สัญญาขายก็ดี ใบส่งของก็ดีระบุราคาเงินสด ราคานั้นจึงอาจไม่ตรงกับที่โจทก์กับลูกค้าตกลงกัน การซื้อขายเชื่อผู้ขายได้รับเงินมาใช้หมุนเวียนล่าช้าทั้งต้องเสี่ยงเรื่องหนี้สูญ ปกติผู้ชายย่อมกำหนดไว้สูงกว่าราคาเงินสด แต่จะกำหนดราคาสูงขึ้นตามความพอใจหรืออาศัยหลักเกณฑ์ใดก็หาแตกต่างกันไม่ การที่โจทก์คิดดอกเบี้ยจากลูกค้าอีกจำนวนหนึ่งเพิ่มขึ้นจากราคาเงินสดเห็นได้ว่าเป็นการนำดอกเบี้ยมาเป็นหลักกำหนดราคาขายเชื่อนั่นเอง เชื่อว่าจำนวนราคาเงินสดกับค่าดอกเบี้ยรวมกันเป็นราคาสินค้าที่โจทก์กับลูกค้าตกลงซื้อขายกันที่แท้จริง แม้ลูกค้าบางคนจะออกตั๋วสัญญาใช้เงินสำหรับดอกเบี้ยเป็นอีกฉบับหนึ่งต่างหากจากตั๋วสัญญาใช้เงินสำหรับชำระราคาเงินสด หรือโจทก์ได้ออกใบเสร็จรับเงินสำหรับดอกเบี้ยเป็นอีกฉบับหนึ่งต่างหากจากใบเสร็จรับเงินราคาสินค้า ก็หาทำให้ดอกเบี้ยนั้นเป็นดอกเบี้ยของตั๋วสัญญาใช้เงินที่ออกชำระราคาสินค้าไม่ ที่โจทก์อ้างว่าแม้ลูกค้าตกลงชำระราคาด้วยตั๋วสัญญาใช้เงินแล้วก็ยังเปลี่ยนเป็นชำระด้วยเงินสดตามราคาในใบส่งของได้ แสดงว่าดอกเบี้ยเป็นดอกเบี้ยของตั๋วสัญญาใช้เงิน มิใช่ราคาสินค้านั้น เห็นว่ากรณีดังกล่าวเป็นเรื่องโจทก์กับลูกค้าตกลงกับให้ลูกค้ามีสิทธิเปลี่ยนเป็นซื้อเงินสดได้อีก เมื่อลูกค้าเปลียนเป็นซื้อเงินสดและชำระราคาเงินสดแล้วจึงไม่ต้องชำระดอกเบี้ยอันเป็นส่วนหนึ่งของราคาซื้อขายเชื่อต่อไป และที่โจทก์อ้างอีกว่าดอกเบี้ยดังกล่าวเป็นค่าเสียหายมิใช่ราคานั้น เห็นว่าเมื่อลูกค้าชำระราคาถูกต้องตามที่โจทก์กับลูกค้าตกลงกันแล้ว ก็หามีค่าเสียหายที่ลูกค้าต้องชำระอีกไม่ ฉะนั้น จึงเห็นว่าดอกเบี้ยที่โจทก์ได้รับเป็นส่วนหนึ่งของราคาสินค้าที่โจทก์ขายเชื่อเป็นราคาสินค้าอันเป็นรายรับตามวิธีคำนวณรายรับในมาตรา ๗๙ จัตวา (๓) แห่งประมวลรัษฎากรที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าดอกเบี้ยดังกล่าวเป็นายรับที่ต้องนำมาคำนวณเพื่อเสียภาษีการค้า ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย
พิพากษายืน