แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องคดีเมื่อพ้นกำหนด 10 ปี นับแต่เจ้ามรดกถึงแก่กรรมโดยโจทก์ไม่เคยเข้าครอบครองที่พิพาทด้วยตนเองและไม่มีพยานหลักฐานว่าจำเลยครอบครองที่พิพาทแทนโจทก์คดีโจทก์ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 วรรคสุดท้ายจึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยว่าโจทก์ได้รู้หรือควรรู้ถึงความตายของเจ้ามรดกเมื่อไร
ย่อยาว
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าคดีขาดอายุความ พิพากษายกฟ้อง ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าที่พิพาทไม่ใช่มรดก โจทก์ไม่ได้สิทธิครอบครองพิพากษายืน โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยเป็นเบื้องแรกว่าคดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ สำหรับประเด็นนี้โจทก์ได้อุทธรณ์ไว้ แต่ศาลอุทธรณ์มิได้วินิจฉัยให้ ซึ่งศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยประเด็นนี้ไปทีเดียวโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยใหม่ ข้อเท็จจริงฟังได้ตามที่คู่ความนำสืบรับกันว่า โจทก์ จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 และนายนอระกา หงษ์สมดี ซึ่งถึงแก่กรรมไปแล้ว เป็นบุตรร่วมบิดามารดาเดียวกันของนายเสน หงษ์สมดีนางบุดสี หงษ์สมดี นายเสน หงษ์สมดี ถึงแก่กรรมเมื่อ พ.ศ. 2509 ภายหลังที่นางบุดสี หงษ์สมดี ถึงแก่กรรมแล้ว โจทก์ไปอยู่ประเทศลาวตั้งแต่ก่อนบิดามารดาถึงแก่กรรมเพิ่งเดินทางกลับประเทศไทยเมื่อเดือนมกราคม 2520 และฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2520 โดยไม่เคยเข้าครอบครองที่พิพาทด้วยตนเองเลย ขณะโจทก์ฟ้องคดีจำเลยเป็นผู้ครอบครองที่พิพาท
พิเคราะห์แล้ว เห็นว่าตามข้อเท็จจริงดังกล่าวฟังได้ว่า โจทก์ฟ้องคดีเมื่อพ้นกำหนด 10 ปีแล้วนับตั้งแต่นายเสน หงษ์สมดี เจ้ามรดกถึงแก่กรรมโจทก์ไม่เคยเข้าครอบครองที่พิพาทด้วยตนเองและไม่มีพยานหลักฐานว่าจำเลยครอบครองที่พิพาทแทนโจทก์ จึงฟังไม่ได้ว่าโจทก์เป็นผู้ครอบครองหรือร่วมกับจำเลยครอบครองที่พิพาท ดังนี้ คดีโจทก์ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 วรรคสุดท้าย ไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยว่าโจทก์ได้รู้หรือควรรู้ถึงความตายของเจ้ามรดกเมื่อไร รวมทั้งฎีกาโจทก์ข้ออื่นด้วย”
พิพากษายืน