แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
เอกอัครราชทูตโปแลนด์ประจำประเทศไทยได้รับรองเอกสารสองฉบับที่รับรองว่าโจทก์เป็นนิติบุคคลและได้จดทะเบียนเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าแอนโดเรียสำหรับเครื่องยนต์ดีเซลเป็นลายมือชื่อของหัวหน้ากองกฎหมายแห่งประเทศโปแลนด์จริงโจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
โจทก์ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าแอนโดเรียสำหรับเครื่องยนต์ดีเซลไว้แล้ว และได้มอบอำนาจให้บริษัทในประเทศไทยยื่นคำขอจดทะเบียนสินค้าดังกล่าวอีกเมื่อจำเลยยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าในสินค้าเครื่องจักรกลเช่นเดียวกับโจทก์แม้จะขอจดเป็นอีกพวกหนึ่งแต่ก็ซ้ำกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ซึ่งโจทก์เป็นผู้ใช้มาก่อนโจทก์ย่อมขอให้เพิกถอนคำขอของจำเลยได้
ย่อยาว
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนเครื่องหมายการค้าที่จำเลยยื่นคำขอจดทะเบียนต่อกองสิทธิบัตรและเครื่องหมายการค้า กระทรวงพาณิชย์ ตามคำขอที่ 95401 ห้ามจำเลยเกี่ยวข้องกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ให้โจทก์เป็นผู้ขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่ยื่นไว้ต่อเจ้าหน้าที่กองสิทธิบัตรและเครื่องหมายการค้าได้แต่ผู้เดียว ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “จำเลยฎีกาข้อแรกว่า โจทก์ไม่ได้เป็นนิติบุคคล ไม่มีอำนาจฟ้อง โจทก์ระบุในคำฟ้องว่า เป็นองค์การแต่ตามเอกสารหมาย จ.7 ว่าเป็นบริษัท Pezetel โจทก์ทำการค้าเครื่องจักรกลแต่ตามเอกสารหมาย จ.7 ว่า บริษัท Pezetel ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับอุตสาหกรรมการบิน ศาลฎีกาได้ตรวจดูเอกสารหมาย จ.7 และ จ.8 แล้วปรากฏว่า หัวหน้ากองกฎหมายแห่งประเทศโปแลนด์ได้รับรองว่า บริษัทเพเจเทล์ว ฟอเร็น เทรด เอนเทอไพรซ ออฟ เอวิเอช อันดัสทรี ได้จดทะเบียนภายใต้เลขทะเบียนการค้าเลขที่ 18690 แผน “เอ” แห่งการทะเบียนรัฐวิสาหกิจณ วันที่ 16 เมษายน 2519 และเป็นนิติบุคคลดำเนินกิจการดังกล่าวตลอดมา และบริษัทนี้ได้จดทะเบียนเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้า ANDORIA สำหรับเครื่องยนต์ดีเซล เอกสารทั้งสองฉบับนี้ เอกอัครราชฑูตโปแลนด์ประจำประเทศไทยได้รับรองเป็นลายมือชื่อของพนักงานหัวหน้ากองกฎหมายแห่งประเทศโปแลนด์จริง เอกสารทั้ง 2 ฉบับนี้จึงเป็นหลักฐานแสดงว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลและเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้า เครื่องจักรกล ANDORIA ชื่อของโจทก์ตามเอกสารดังกล่าวกับตามคำบรรยายฟ้องก็เป็นชื่อเดียวกัน คำที่ว่า “องค์การค้า” หรือ “บริษัท” ในประเทศโปแลนด์ ก็น่าจะมีความหมายทำนองเดียวกันเพราะรัฐเป็นผู้ดำเนินการ เมื่อโจทก์มีเอกสารของทางราชการรับรองว่าโจทก์เป็นนิติบุคคล โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องและมอบอำนาจให้บริษัทกิตติวัฒน์ แมชินเนอรี่ (1975) จำกัด ฟ้องคดีได้
ปัญหาต่อไปมีว่า นายเจน ดับบลิว มาเซเจสกี้ มีอำนาจมอบให้บริษัทกิตติวัฒน์ แมชินเนอรี่ (1975) จำกัด จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าและฟ้องคดีแทนโจทก์ได้หรือไม่ ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.5 ว่าโจทก์ได้มอบอำนาจให้นายเจน ดับบลิว มาเซเจสกี้ เป็นตัวแทนของโจทก์ มอบอำนาจให้บริษัทกิตติวัฒน์ แมชินเนอรี่ (1975) จำกัด เป็นผู้ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องยนต์ดีเซล “ANDORIA” และให้มีอำนาจยื่นฟ้องคดีแพ่งหรืออาญาได้ นายเจน ดับบลิว มาเซเจสกี้ พยานโจทก์ก็เบิกความยืนยันในข้อนี้ ดังนั้น นายเจน ดับบลิว มาเซเจสกี้ จึงมีอำนาจมอบให้บริษัทกิตติวัฒน์ แมชินเนอรี่ (1975) จำกัด จดทะเบียนการค้าและฟ้องคดีนี้แทนโจทก์ได้ ฎีกาจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต่อไปมีว่า โจทก์มีสิทธิที่จะขอให้เพิกถอนเครื่องหมายการค้าซึ่งอ่านว่าแอนโดเรีย ของจำเลยในสินค้าจำพวกที่ 6 ทั้งจำพวกหรือไม่ เมื่อปรากฏตามเอกสารหมาย จ.8 แล้วว่า โจทก์ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้า ANDORIA” สำหรับเครื่องยนต์ดีเซลไว้แล้ว และได้มอบอำนาจให้บริษัทกิตติวัฒน์ แมชินเนอรี่ (1975) จำกัด ยื่นคำขอจดทะเบียนสินค้าดังกล่าวในประเทศไทยอีก เมื่อจำเลยยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าในสินค้าเครื่องจักรกลเช่นเดียวกับโจทก์ แม้จะขอจดทะเบียนอีกพวกแต่ก็ซ้ำกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ซึ่งโจทก์เป็นผู้มาใช้ก่อน โจทก์ย่อมขอให้เพิกถอนคำขอของจำเลยได้”