แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
จำเลยที่ 2 เป็นผู้ประกอบกิจการรับขนส่งตู้คอนเทนเนอร์และรับจ้างจากจำเลยที่ 1 ให้นำตู้คอนเทนเนอร์ของโจทก์ไปบรรจุสินค้าที่โรงงานของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 จึงมีหน้าที่ต้องใช้ความระมัดระวังในการตั้งวางตู้คอนเทนเนอร์ที่รับขนส่งให้มั่นคงปลอดภัยเพื่อการนำสินค้าเข้าบรรจุ การที่ ป. ขับรถไปจอดภายในโรงงานของจำเลยที่ 1 จากนั้นได้ปลดขาค้ำยันของหางลากที่บรรทุกตู้คอนเทนเนอร์ลง และปลดล็อกระหว่างรถบรรทุกหัวลากกับหางลาก เมื่อบริเวณที่ตั้งวางหางลากเป็นพื้นลาดเอียง ทำให้ด้านท้ายของหางลากซึ่งรับน้ำหนักด้วยล้ออยู่สูงกว่าด้านหน้า แต่ ป. ไม่นำแผ่นเหล็กคล้ายโต๊ะที่นำติดรถไปวางรองรับน้ำหนักของตู้คอนเทนเนอร์ที่อยู่บนหางลากให้มั่นคงแข็งแรง การที่ตู้คอนเทนเนอร์ของโจทก์ล้มลงจึงเกิดจากความประมาทเลินเล่อของ ป. จำเลยที่ 2 ผู้เป็นนายจ้างจะปัดความรับผิดโดยอ้างว่าเป็นความผิดของพนักงานของจำเลยที่ 1 ไม่ได้จัดเรียงสินค้าตามแนวยาวของตู้คอนเทนเนอร์และแม้พนักงานของจำเลยที่ 1 นำบันไดไปพาดวางไว้ที่ตู้คอนเทนเนอร์และบันไดดังกล่าวกระแทกถูกอุปกรณ์ทำความเย็นขณะตู้คอนเทนเนอร์ล้มลง ก็ต้องถือว่าความเสียหายดังกล่าวเป็นผลโดยตรงอันเกิดจากความประมาทเลินเล่อของ ป. อยู่นั่นเอง ไม่เป็นเหตุให้จำเลยที่ 2 พ้นความรับผิด
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อประมาณเดือนกันยายน 2537 โจทก์โดยบริษัทจาร์ดีนแปซิฟิค (ประเทศไทย) จำกัด ตัวแทนของโจทก์ตกลงรับจ้างขนส่งสินค้าของจำเลยที่ 1 จากประเทศไทยไปยังประเทศอิตาลีในเงื่อนไขการขนส่งแบบเอฟซีแอล/เอฟซีแอล คือผู้ส่งจะต้องนำตู้คอนเทนเนอร์ของผู้ขนส่งไปบรรจุสินค้าเอง วันที่ 30 กันยายน 2537 โจทก์ส่งมอบตู้คอนเทนเนอร์ให้จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 1 ว่าจ้างให้จำเลยที่ 2 ซึ่งมีจำเลยที่ 3 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการนำรถบรรทุกหัวลากพร้อมหางลากมารับตู้คอนเทนเนอร์ไปจากโจทก์ ต่อมาวันที่ 1 ตุลาคม 2537 พนักงานของจำเลยที่ 1 บรรจุสินค้าเข้าตู้คอนเทนเนอร์โดยปราศจากความระมัดระวัง และพนักงานขับรถบรรทุกหัวลากของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ตั้งวางหางลากไม่เหมาะสมโดยตั้งวางบนพื้นที่ลาดเอียง และไม่ตรวจดูสลักสำหรับล็อกขาค้ำยันของหางลากที่บรรทุกตู้คอนเทนเนอร์ เป็นเหตุให้ขาค้ำยันของหางลากหักพับลงขณะบรรจุสินค้า แผงอุปกรณ์ควบคุมอุณหภูมิของตู้ตอนเทนเนอร์กระแทกกับพื้นและนั่งร้านได้รับความเสียหาย คิดเป็นเงิน 219,845 บาท จำเลยทั้งสามในฐานะนายจ้างต้องรับผิดต่อโจทก์ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 219,845 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1 มิได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ ความเสียหายเกิดจากอุปกรณ์ขาค้ำยันตู้คอนเทนเนอร์ของโจทก์ชำรุดบกพร่องเอง โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยที่ 1 ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การว่า การจอดรถตั้งวางหางลากที่บรรทุกตู้คอนเทนเนอร์ พนักงานขับรถและดูแลรถของจำเลยที่ 2 ได้ใช้ความระมัดระวังคำนวณน้ำหนักของตู้คอนเทนเนอร์และน้ำหนักของสินค้าที่จะบรรจุ ตรวจสอบสลักพร้อมขาค้ำยัน และตั้งวางหางลากที่บรรทุกตู้คอนเทนเนอร์ในสภาพมั่นคงแข็งแรง นอกจากนี้บริเวณดังกล่าวเป็นพื้นดินอัดแรงเทปรับพื้นด้วยคอนกรีต พนักงานขับรถและดูแลรถของจำเลยที่ 2 มิได้ประมาทเลินเล่อ ความเสียหายเกิดจากความประมาทเลินเล่อของพนักงานของจำเลยที่ 1 ที่บรรจุสินค้าเข้าตู้คอนเทนเนอร์เฉพาะบริเวณด้านหัวของตู้คอนเทนเนอร์ ทำให้มีน้ำหนักเฉลี่ยไม่สมดุล เป็นเหตุให้ด้านหัวของตู้คอนเทนเนอร์กระแทกถูกแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์สำหรับควบุคมอุณหภูมิของตู้เปิดออก และแผงวงจรได้รับความเสียหาย จำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ชดใช้ค่าเสียหาย 219,845 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 2 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 3 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 และที่ 3 ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ให้จำเลยที่ 2 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า โจทก์รับจ้างขนส่งสินค้าประเภทปลาหมึกแช่แข็งของจำเลยที่ 1 จากประเทศไทยไปยังประเทศอิตาลี โดยจำเลยที่ 1 จะต้องนำตู้คอนเทนเนอร์ของโจทก์ไปบรรจุสินค้าเองแล้วส่งคืนโจทก์เพื่อส่งต่อไปยังเมืองท่าปลายทาง โจทก์ส่งมอบตู้คอนเทนเนอร์ให้จำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2537 โดยจำเลยที่ 1 ว่าจ้างจำเลยที่ 2 ให้นำรถบรรทุกหัวลากพร้อมหางลากไปรับตู้คอนเทนเนอร์จากโจทก์นำไปบรรจุสินค้าที่โรงงานของจำเลยที่ 1 ก่อนนำส่งคืนโจทก์ ต่อมาวันที่ 1 ตุลาคม 2537 ขณะพนักงานของจำเลยที่ 1 นำสินค้าเข้าบรรจุในตู้คอนเทนเนอร์ ปรากฏว่าด้านหัวของตู้คอนเทนเนอร์ที่บรรทุกอยู่บนหางลากกดต่ำล้มลงกระแทกกับพื้น อุปกรณ์ทำความเย็นซึ่งติดตั้งอยู่ที่ด้านหัวของตู้ได้รับความเสียหายตามภาพถ่ายหมาย จ.7 และ ล.1 และ ล.3 มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ประการแรกว่า เหตุที่ตู้คอนเทนเนอร์ของโจทก์ล้มลงเกิดจากความประมาทเลินเล่อของพนักงานขับรถและดูแลรถของจำเลยที่ 2 หรือไม่ จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า หากพนักงานของจำเลยที่ 1 จัดเรียงสินค้าตามแนวความยาวของตู้คอนเทนเนอร์ น้ำหนักของสินค้าก็จะไม่ตกไปอยู่ที่ส่วนใดส่วนหนึ่ง แม้พนักงานขับรถและดูแลรถของจำเลยที่ 2 จะใช้โต๊ะหรือสิ่งใดวางค้ำยันตู้คอนเทนเนอร์ด้านที่ติดตั้งอุปกรณ์ทำความเย็นหรือไม่ก็ตาม ตู้คอนเทนเนอร์ก็ย่อมจะไม่กระดกหรือไม่กดต่ำล้มลงได้ เหตุจึงเกิดจากความประมาทเลินเล่อของพนักงานของจำเลยที่ 1 ในการจัดเรียงสินค้า จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดเพียงลำพัง แต่จำเลยที่ 1 พึงต้องร่วมรับผิดด้วยนั้น เห็นว่า จำเลยที่ 2 เป็นผู้ประกอบกิจการรับขนส่งตู้คอนเทนเนอร์และรับจ้างจากจำเลยที่ 1 ให้นำตู้คอนเทนเนอร์ของโจทก์ไปบรรจุสินค้าที่โรงงานของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 จึงมีหน้าที่ต้องใช้ความระมัดระวังในการตั้งวางตู้คอนเทนเนอร์ที่รับขนส่งให้มั่นคงปลอดภัยเพื่อการนำสินค้าเข้าบรรจุ ข้อเท็จจริงได้ความจากนายปรีชา ศรีสด พยานจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นพนักงานขับรถและดูแลรถของจำเลยที่ 2 ว่า วันเกิดเหตุนายปรีชาขับรถไปจอดภายในโรงงานของจำเลยที่ 1 ตรงบริเวณตามภาพถ่ายหมาย ล.1 จากนั้นได้ปลดขาค้ำยันของหางลากที่บรรทุกตู้คอนเทนเนอร์ลง และปลดล็อกระหว่างรถบรรทุกหัวลากกับหางลากแล้วขับรถบรรทุกหัวลากออกไป แม้นายปรีชาจะอ้างว่าได้บอกให้พนักงานของจำเลยที่ 1 นำแผ่นเหล็กคล้ายโต๊ะวางรองรับน้ำหนักตู้คอนเทนเนอร์ไว้ด้วยแล้ว แต่นายปรีชาก็เบิกความตอบทนายโจทก์ถามค้านว่า นายปรีชาไม่ทราบว่าพนักงานของจำเลยที่ 1 ได้ทำตามที่นายปรีชาบอกหรือไม่ ซึ่งหากได้นำแผ่นเหล็กคล้ายโต๊ะวางรองรับน้ำหนัก ตู้คอนเทนเนอร์ก็จะไม่ล้มลงตามที่ปรากฏ นายปรีชายังเบิกความตอบทนายโจทก์ถามค้านด้วยว่า เมื่อได้รับคำสั่งจากจำเลยที่ 2 ให้นำตู้คอนเทนเนอร์ไปบรรจุสินค้าที่โรงงานของจำเลยที่ 1 นายปรีชาได้นำแผ่นเหล็กคล้ายโต๊ะติดรถไปด้วย แสดงว่านายปรีชาทราบดีอยู่แล้วว่า หากนำรถบรรทุกหัวลากแยกออกจากหางลากที่บรรทุกตู้คอนเทนเนอร์จะต้องใช้แผ่นเหล็กคล้ายโต๊ะดังกล่าววางรองรับน้ำหนัก ตามภาพถ่ายหมาย ล.1 ก็ปรากฏว่าขาค้ำยันของหางลากที่บรรทุกตู้คอนเทนเนอร์อยู่ชิดค่อนเข้ามาทางกึ่งกลางตู้คอนเทนเนอร์มากและบริเวณที่ตั้งวางหางลากเป็นพื้นลาดเอียง ทำให้ด้านท้ายของหางลากซึ่งรับน้ำหนักด้วยล้ออยู่สูงกว่าด้านหน้า และพื้นที่ตรงกับตำแหน่งของล้อที่กระดกยกสูงขึ้นมีท่อนไม้วางอยู่ ซึ่งน่าจะเป็นท่อนไม้ที่วางกั้นล้อเพื่อป้องกันมิให้ลื่นไถล การตั้งวางหางลากที่บรรทุกตู้คอนเทนเนอร์ในสภาพพื้นที่ลาดเอียงดังกล่าว นายปรีชาควรต้องนำแผ่นเหล็กคล้ายโต๊ะที่นำติดรถไปวางรองรับน้ำหนักของตู้คอนเทนเนอร์ที่อยู่บนหางลากให้มั่นคงแข็งแรงหรือหากได้บอกให้พนักงานของจำเลยที่ 1 ช่วยนำแผ่นเหล็กคล้ายโต๊ะไปวางรองรับน้ำหนักจริง อย่างน้อยนายปรีชาก็ควรต้องอยู่ตรวจตราดูแลให้เรียบร้อยดีเสียก่อน แต่กลับได้ความว่านายปรีชาขับรถบรรทุกหัวลากออกจากโรงงานของจำเลยที่ 1 ไปรับประทานอาหารอยู่ประมาณ 30 นาที กลับเข้าไปในโรงงานอีกครั้งภายหลังที่ตู้คอนเทนเนอร์ของโจทก์ล้มลงแล้ว ซึ่งนายปรีชาเบิกความว่าพนักงานของจำเลยที่ 1 จัดวางสินค้าเข้าบรรจุในตู้คอนเทนเนอร์ได้เพียงประมาณ 3 แถว แสดงว่าการตั้งวางหางลากที่บรรทุกตู้คอนเทนเนอร์ขาดความมั่นคงปลอดภัยอย่างมาก การที่ตู้คอนเทนเนอร์ของโจทก์ล้มลงจึงเกิดจากความประมาทเลินเล่อของนายปรีชาที่มิได้ใช้ความระมัดระวังให้เพียงพอเป็นต้นเหตุ จำเลยที่ 2 ผู้เป็นนายจ้างจะปัดความรับผิดโดยอ้างว่าเป็นความผิดของพนักงานของจำเลยที่ 1 ไม่ได้จัดเรียงสินค้าตามแนวยาวของตู้คอนเทนเนอร์และเกี่ยงให้จำเลยที่ 1 ต้องร่วมรับผิดด้วยหาได้ไม่ ส่วนที่จำเลยที่ 2 ฎีกาต่อไปว่า ความเสียหายของอุปกรณ์ทำความเย็นของตู้คอนเทนเนอร์เกิดจากการถูกกระแทกด้วยบันไดที่พนักงานของจำเลยที่ 1 พาดวางไว้นั้น เห็นว่า หากนายปรีชาไม่ประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้ตู้คอนเทนเนอร์ของโจทก์ล้มลงแล้ว ลำพังการพาดวางบันไดไว้ไม่อาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่อุปกรณ์ทำความเย็นของตู้คอนเทนเนอร์ได้ ดังนั้น แม้หากจะรับฟังว่าพนักงานของจำเลยที่ 1 นำบันไดไปพาดวางไว้ที่ตู้คอนเทนเนอร์และบันใดดังกล่าวกระแทกถูกอุปกรณ์ทำความเย็นขณะตู้คอนเทนเนอร์ล้มลงดังข้ออ้างของจำเลยที่ 2 ก็ตาม ก็ต้องถือว่าความเสียหายดังกล่าวเป็นผลโดยตรงอันเกิดจากความประมาทเลินเล่อของนายปรีชาอยู่นั่นเอง หาเป็นเหตุให้จำเลยที่ 2 พ้นความรับผิดไม่”
พิพากษายืน ให้จำเลยที่ 2 ใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา 3,000 บาท แทนโจทก์