คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2852/2530

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

คำว่า “มีไว้ในครอบครอง” พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษฯ มาตรา 4มิได้บัญญัติให้มีความหมายพิเศษ จึงต้องถือว่ามีความหมายทั่วไปซึ่งตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 คำว่าครอบครองหมายถึง ยึดถือไว้ มีสิทธิถือเอาเป็นเจ้าของ มีสิทธิปกครองดังนี้ การมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษ จึงมีความหมายเพียงว่ายาเสพติดให้โทษนั้นอยู่ในความยึดถือหรือปกครองดูแล ของจำเลยโดยจำเลยรู้ว่าเป็นยาเสพติดให้โทษ เมื่อจำเลยรับจ้างปลิดใบกัญชาของกลาง กัญชาของกลางอยู่ในความยึดถือของจำเลยโดยจำเลยรู้ว่าเป็นกัญชา แม้กัญชาของกลางจะไม่ใช่ของจำเลย ก็ถือได้แล้วว่าจำเลยมีกัญชาของกลางไว้ในครอบครอง กัญชาของกลางมีปริมาณหนักเกินกว่า 10 กิโลกรัม ต้องถือว่าจำเลยมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายอันเป็นความผิดตามมาตรา 26,76 วรรคสอง.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยมีกัญชาอันเป็นยาเสพติดให้โทษไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายโดยไม่ได้รับอนุญาตขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 7, 26, 76, 102 และรอบของกลาง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง แต่ให้ริบของกลาง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 7, 26, 76 วรรคสอง จำคุก 6 ปีริบของกลาง
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…ข้อเท็จจริงตามที่โจทก์จำเลยนำสืบตรงกันฟังได้ว่าเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2527 เวลาประมาณ 12.30นาฬิกา พันตำรวจโทวิระชาย บรรเทากุล กับพวกได้ตรวยค้นบ้านเลขที่ 205หมู่ที่ 1 ตำบลศรีสงคราม อำเภอศรีสงคราม จังหวัดนครพนม ซึ่งเป็นบ้านของจำเลย พบกัญชาในบ้านดังกล่าว กัญชาแบ่งเป็นกอง ๆ รวม 4 กองบางกองเป้นใบและกิ่งก้าน บางกองก็บรรจุถุงพลาสติกและใส่กระสอบวางอยูบนเสื่อ ในครัวหลังบ้านมีกัญชาแห้งบรรจุกระสอบรวม 7 กระสอบกับที่เล้าไก่หลังบ้านมีอีก 2 ถงพลาสติก น้ำหนักกัญชาทั้งหมด 84กิโลกรัมกัญชาของกลางดังกล่าวเป็นของบุคคลอื่นว่าจ้างให้จำเลยปลิดใบ ผู้ว่าจ้างชื่อนายบุญมาไม่ทราบนามสกุล คงมีปัญหาประการแรกว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานมีกัญชาไว้ในความครอบครองเพื่อจำหน่ายหรือไม่ ปัญหานี้จำเลยฎีกาโต้เถียงว่า จำเลยรับจ้างบุคคลอื่นปลิดใบกัญชา มิได้มีเจตนายึดถือเพื่อตน จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยมีกัญชาของกลางไว้ในครอบครองตามกฎหมาย เห็นว่า การครอบครองโดยมีเจตนายึดถือเพื่อตนตามที่จำเลยอ้างนั้น เป็นเรื่องการได้สิทธิครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แต่การมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษนั้นเป็นเรื่องความรับผิดอาญาคำว่า มีไว้ในครอบครอง พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 4 มิได้บัญญัติให้มีความหมายพิเศษเหมือนดังเช่นคำว่า ผลิต จำหน่าย นำเข้าหรือส่งออกจึงต้องถือว่ามีความหมายทั่วไป ซึ่งตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 คำว่า ครอบครอง หมายถึง ยึดถือไว้มีสิทธิถือเอาเป็นเจ้าของมีสิทธิปกครอง ดังนี้ การมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษ จึงมีความหมายเพียงว่า ยาเสพติดให้โทษนั้นอยู่ในความยึดถือหรือปกครองดูแลของจำเลยโดยจำเลยรู้ว่าเป็นยาเสพติดให้โทษเท่านั้น ส่วนการมีเจตนายึดถือเพื่อตนหรือไม่เพียงใดนั้นไม่ใช่ข้อพิจารณาเด็ดขาดว่าจำเลยมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษ สำหรับคดีนี้จำเลยรับจ้างปลิตใบกัญชาของกลางหนัก84 กิโลกรัม กัญชาของกลางอยู่ในความยึดถือของจำเลยโดยจำเลยรู้ว่าเป็นกัญชา แม้กัญชาของกลาวจะไม่ใช่ของจำเลย ก็ถือได้แล้วว่าจำเลยมีกัญชาของกลางไว้ในครอบครองและเมื่อกัญชาของกลางมีปริมาณหนักเกินกว่า 10 กิโลกรัม ก็ต้องถือว่าจำเลยมีไว้เพื่อจำหน่ายอันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 26, 26วรรคสอง ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น สำหรับปัญหาต่อไปว่าศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยเกินคำขอหรือไม่ เห็นว่า ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยข้อเท็จจริงโดยฟังว่า จำเลยเป็นผู้แบ่งบรรจุหรือรวมบรรจุลงในถุงพลาสติกในกระสอบจำเลยเป็นผู้ผลิตและร่วมกับผู้อื่นผลิตกัญชาแต่ศาลอุทธรณ์ไม่ได้วินิจฉัยว่าจำเลยมีความผิดฐานผลิตกัญชาตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 26, 75คงวินิจฉัยต่อไปว่า จำเลยมีกัญชาหนัก 84 กิโลกรัม ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตเพื่อจำหน่าย อันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 76 วรรคสอง และพิพากษาลงโทษจำเลยตามบทบัญญัติดังกล่าว คำพิพากษาศาลอุทธรณ์จึงไม่เป็นการวินิจฉัยเกินคำขอ ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
ส่วนที่จำเลยฎีกาขอให้รอการลงโทษหรือลงโทษสถานเบากว่านี้เห็นว่าศาลอุทธรณ์กำหนดโทษเหมาะสมตามพฤติการณ์แห่งคดีแล้วอย่างไรก็ตามจำเลยให้การต่อสู้คดีในแนวเดียวกันมาตลอดตั้งแต่ถูกจับกุมจนกระทั่งถึงชั้นพิจารณาคดี คำให้การชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนของจำเลยจึงนับว่าเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้างมีเหตุบรรเทาโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำคุกจำเลยมีกำหนด 6 ปี ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 เหลือจำคุก 4 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.

Share