คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2850/2531

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ โดยอาศัยข้อเท็จจริงการที่โจทก์อุทธรณ์ว่า ข้อความที่จำเลยเขียนเป็นการใส่ความโจทก์และไม่เป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต เพื่อความชอบธรรมและป้องกันส่วนได้เสียของจำเลย ดังนี้ เป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลชั้นต้นจึงเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499มาตรา 22 เป็นการมิชอบ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นทนายความและเป็นลูกจ้างของบริษัทไทยเดินเรือทะเล จำกัด ตำแหน่งหัวหน้าแผนกกลาง จำเลยเป็นพนักงานของบริษัท จำเลยทำหนังสือร้องทุกข์ถึงประธานกรรมการบริหารท่าเรือบริษัท ไทยเดินเรือทะเล จำกัด เกี่ยวกับเรื่องที่จำเลยทะเลาะวิวาทกับนายหลาบ วงษ์รอฮีม มีข้อความว่า “นายพินิจซึ่งเป็นหัวหน้าแผนกกลางและเป็นหัวหน้ากองของนายหลาบ เขาเรียนจบทนายความมาเจ้าค่ำ เขาสามารถปั้นพยานเท็จมาช่วยลูกน้องของเขาได้เสมอ เพราะว่านิสัยเหมือนกันค่ะ ลูกพี่ของเขา (โจทก์)พยายามปั้นสถานการณ์และพยานเท็จอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะนายพินิจนะเจ้าค่ะเป็นคนแย่ที่สุดเลยค่ะ ถ้าดื่มเบียร์เมาเข้ามาในบริษัทเขาจะด่าพวกผู้หญิงข้างล่างอย่างหยาบคาย แต่เขาฉลาดไม่ยอมเอ่ยชื่อด่าลอย ๆ แต่ท่านค่ะหยาบคายมากเลยค่ะ หยาบจนดิฉันไม่สามารถจะเขียนมาเรียนท่านได้ค่ะ ถ้านายพินิจรู้ว่าดิฉันมาร้องเรียนท่านและได้เล่าความประพฤติของเขาให้ท่านทราบดิฉันอาจถูกสั่งเก็บได้”ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326, 328, 332(1),(2), 91
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วเห็นว่า คดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 362 ให้ปรับจำเลย 1,000 บาท บังคับค่าปรับตามมาตรา 29, 30คำขอนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์โดยวินิจฉัยว่า พฤติการณ์ต่าง ๆ ของโจทก์ จำเลยย่อมเข้าใจและเชื่อว่าโจทก์ช่วยเหลือนายหลาบ วงษ์รอฮีมให้พ้นผิด จำเลยย่อมมีสิทธิกล่าวพาดพิงถึงโจทก์ในคำอุทธรณ์ของจำเลยด้วยข้อความในฟ้องได้ เป็นการกล่าวโดยสุจริต เพื่อความชอบธรรม ป้องกันตนและส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามทำนองคลองธรรม ไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาทเป็นการพิพากษายกฟ้องโดยอาศัยข้อเท็จจริง โจทก์อุทธรณ์ว่าข้อความที่จำเลยเขียนในอุทธรณ์ตามฟ้องเป็นการใส่ความโจทก์ต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้โจทก์เสื่อมเสียถูกดูหมิ่นเกลียดชัง เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทและไม่เป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต เพื่อความชอบธรรม และป้องกันส่วนได้เสียของจำเลยแต่อย่างใด เป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลชั้นต้นซึ่งฟังว่าการกระทำของจำเลยเป็นการแสดงความเห็นโดยสุจริต และเป็นการกระทำด้วยความชอบธรรม อันเป็นเหตุให้ได้รับยกเว้นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 329(1)อุทธรณ์ของโจทก์จึงเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2497 (ที่ถูก พ.ศ. 2499) มาตรา 22 เพราะฉะนั้นที่ศาลอุทธรณ์รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ในปัญหาดังกล่าวจึงเป็นการมิชอบ และเมื่อจำเลยฎีกาในปัญหาดังกล่าวขึ้นมาศาลฎีกาก็พิจารณาข้อฎีกาของจำเลยต่อไปไม่ได้
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ และฎีกาของจำเลย”

Share