แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
จำเลยขับรถในขณะเมาสุราและโดยประมาทหรือน่าหวาดเสียวอันอาจเกิดอันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์สิน เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ต้องใช้กฎหมายที่มีโทษหนักที่สุดลงโทษ พนักงานสอบสวนจึงไม่มีอำนาจเปรียบเทียบปรับจำเลยในความผิดฐานขับรถโดยประมาทตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522มาตรา 43(4),157 ซึ่งเป็นความผิดที่มีโทษเบากว่าความผิดฐานขับรถในขณะเมาสุราเพื่อให้ความผิดทั้งหมดเลิกกันตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 37ได้ แม้พนักงานสอบสวนจะเปรียบเทียบปรับจำเลยไปแล้วก็ไม่ชอบ คดีไม่เลิกกันศาลชั้นต้นจึงมีอำนาจลงโทษจำเลยในความผิดฐานขับรถในขณะเมาสุราตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43(2),160 วรรคสาม ตามฟ้องได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2538 เวลากลางวันจำเลยได้ขับรถยนต์เก๋งส่วนบุคคล คันหมายเลขทะเบียน ค-1440 นครราชสีมา ไปตามถนนราชสีมา-ขอนแก่น ในขณะเมาสุรา อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43, 160
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบกพ.ศ. 2522 มาตรา 43, 160 (ที่ถูกมาตรา 43(2), 160 วรรคสาม) จำคุก 2 เดือน และปรับ 6,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 1 เดือน และปรับ 3,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี ให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติทุก 3 เดือนต่อครั้งและให้จำเลยทำกิจกรรมบริการสังคมและบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ตามที่พนักงานคุมประพฤติเห็นควรและจำเลยยินยอมเป็นเวลา 48 ชั่วโมง ภายในกำหนดเวลาที่รอการลงโทษ ไม่ชำระค่าปรับให้บังคับตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามคำฟ้อง คำให้การ และรายงานการสืบเสาะของพนักงานคุมประพฤติว่า จำเลยกระทำความผิดฐานขับรถในขณะเมาสุรา และขับรถโดยประมาทหรือน่าหวาดเสียวอันอาจเกิดอันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินและในชั้นสอบสวนได้เปรียบเทียบปรับจำเลยในความผิดฐานขับรถโดยประมาทไปแล้ว คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดกรรมเดียวหรือไม่ และศาลจะลงโทษจำเลยในความผิดฐานขับรถในขณะเมาสุราได้หรือไม่ เห็นว่าการที่จำเลยขับรถในขณะเมาสุราและขับรถโดยประมาทหรือน่าหวาดเสียวอันอาจเกิดอันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินนั้น เป็นการกระทำผิดในครั้งคราวเดียวที่ต่อเนื่องเกี่ยวพันกันจึงเป็นการกระทำผิดกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ฎีกาของจำเลยในส่วนนี้ฟังขึ้น แต่การที่จะลงโทษจำเลยนั้น ต้องบังคับตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90คือใช้กฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดลงโทษ พนักงานสอบสวนจึงไม่มีอำนาจเปรียบเทียบปรับจำเลยในความผิดฐานขับรถโดยประมาท ตามพระราชบัญญัติจราจรทางบกพ.ศ. 2522 มาตรา 43(4), 157 ซึ่งเป็นความผิดที่มีโทษเบากว่าความผิดฐานขับรถในขณะเมาสุรา เพื่อให้ความผิดทั้งหมดเลิกกันตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 37 ได้ ดังนั้น แม้พนักงานสอบสวนจะเปรียบเทียบปรับจำเลยไปแล้วในข้อหาดังกล่าว การเปรียบเทียบนั้นก็ไม่ชอบคดีไม่เลิกกันตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 37 ศาลชั้นต้นยังคงมีอำนาจลงโทษจำเลยในความผิดฐานขับรถในขณะเมาสุราตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43(2),160 วรรคสาม ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดได้ฎีกาของจำเลยในส่วนนี้ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน