แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คดีนี้พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยได้แจ้งการประเมินราคาสินค้าให้โจทก์ชำระภาษีอากรเพิ่มสำหรับใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้าทั้งสองฉบับโจทก์ได้ชำระอากรขาเข้าภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลเพิ่มให้แก่จำเลยแล้วแต่โจทก์มิได้อุทธรณ์การประเมินในส่วนภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์การประเมินเรียกเก็บภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลเพิ่มดังกล่าวถือเป็นการประเมินตามประมวลรัษฎากรมาตรา87(เดิม)ซึ่งอยู่ในบังคับที่จะต้องอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตามมาตรา30ก่อนจึงจะฟ้องคดีเรียกภาษีอากรที่ชำระเกินไปคืนได้ หลังจากโจทก์ทำหนังสืออุทธรณ์การประเมินต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยพิจารณาแล้วมีคำสั่งยืนตามราคาประเมินและโจทก์มิได้ยื่นอุทธรณ์ต่อจำเลยอีกแต่มีผู้ทำเอกสารปลอมลายมือชื่อกรรมการผู้มีอำนาจของโจทก์และรอยประทับตราของโจทก์ยื่นอุทธรณ์ต่อจำเลยในนามของโจทก์เป็นเหตุให้จำเลยหลงเชื่อว่าเป็นอุทธรณ์ของโจทก์จริงและนำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์และปัญหาราคาและคณะกรรมการดังกล่าววินิจฉัยให้เปลี่ยนแปลงราคาประเมินกับมีหนังสือแจ้งผลการพิจารณาให้โจทก์ทราบเพื่อดำเนินการขอคืนค่าภาษีอากรดังนั้นอุทธรณ์ฉบับที่สองที่ยื่นต่อจำเลยในนามของโจทก์ซึ่งมีผู้ทำปลอมขึ้นโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายมิใช่อุทธรณ์ของโจทก์แม้คณะกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์และปัญหาราคาจะรับวินิจฉัยให้ก็หามีผลทำให้อุทธรณ์นั้นเป็นอุทธรณ์ที่ชอบด้วยกฎหมายขึ้นมาไม่ถือเท่ากับไม่มีการอุทธรณ์ดังกล่าวคณะกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์และปัญหาราคาจึงไม่มีอำนาจวินิจฉัยให้คืนอากรให้แก่โจทก์ดังนั้นการที่จำเลยมีหนังสือแจ้งผลการพิจารณาให้โจทก์ทราบเพื่อดำเนินการขอคืนค่าภาษีอากรจึงเป็นการแสดงเจตนาโดยสำคัญผิดว่าโจทก์เป็นผู้ยื่นอุทธรณ์ฉบับที่สองเป็นการแสดงเจตนาโดยสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรมกล่าวคือสำคัญผิดในตัวบุคคลซึ่งเป็นคู่กรณีแห่งนิติกรรมจึงเป็นโมฆะหนังสือแจ้งผลการพิจารณาให้โจทก์ทราบดังกล่าวถือไม่ได้ว่าเป็นการรับสภาพหนี้ เมื่อโจทก์ชำระอากรขาเข้าเพิ่มเติมภายหลังจากโจทก์นำของออกจากอารักขาของศุลกากรแล้วไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะจึงต้องใช้อายุความ10ปีนับแต่เมื่อโจทก์ชำระภาษีอากรเพิ่มเติมที่ได้รับแจ้งตามพระราชบัญญัติศุลกากรพ.ศ.2469มาตรา112ทวิวรรคหนึ่งและวรรคสองเมื่อโจทก์ชำระภาษีอากรเพิ่มเติมตามที่ได้รับแจ้งการประเมินตามสำเนาใบเสร็จรับเงินซึ่งระบุว่าจำเลยได้รับชำระอากรแล้วเมื่อวันที่10กันยายน2527สิทธิเรียกร้องของโจทก์ในการขอคืนอากรขาเข้าที่ชำระเกินไปจึงเริ่มนับแต่วันดังกล่าวโจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่30สิงหาคม2538พ้นกำหนด10ปีแล้วคดีโจทก์จึงขาดอายุความ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยคืนเงินค่าอากรขาเข้าภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาล พร้อมดอกเบี้ยรวมทั้งสิ้นจำนวน29,828,963.64 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 12 ต่อปีจากต้นเงิน 14,622,041 บาท นับจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์นำสินค้าหินอ่อนจากประเทศอิตาลีเข้ามาในราชอาณาจักรไทยรวม 2 ครั้ง และได้ยื่นใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้าสำแดงราคาตามที่ซื้อมาแต่พนักงานเจ้าหนาที่ของจำเลยไม่พอใจราคาที่โจทก์สำแดงจึงสั่งให้โจทก์วางเงินประกันซึ่งโจทก์ได้นำหนังสือค้ำประกันของธนาคารมาวางประกันแล้ว ต่อมาพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยเห็นว่าราคาที่โจทก์สำแดงต่ำกว่าราคาอันแท้จริงในท้องตลาดจึงได้ประเมินราคาสินค้าเพิ่มหลังจากโจทก์ชำระภาษีอากรเพิ่มเติมแล้วได้ยื่นอุทธรณ์การประเมินราคาสินค้าต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลย พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยพิจารณาแล้วมีคำวินิจฉัยให้ยืนตามราคาประเมินเดิม โจทก์มิได้ดำเนินการอุทธรณ์ต่อไป แต่มีบุคคลกลุ่มหนึ่งร่วมกันปลอมลายมือชื่อผู้จัดการของโจทก์และรอยตราประทับของโจทก์ลงในเอกสารนำไปยื่นต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยโดยอ้างว่าโจทก์ขอให้ทบทวนราคาสินค้าอีกครั้งซึ่งต่อมาภายหลังโจทก์ก็ยอมรับต่อจำเลยว่าโจทก์มิได้มีส่วนรู้เห็นหรือเกี่ยวข้องในการยื่นอุทธรณ์ครั้งที่สอง เมื่อเป็นเช่นนี้การยื่นอุทธรณ์ในนามของโจทก์ครั้งที่สองจึงเป็นโมฆะเท่ากับไม่มีการอนุมัติคืนอากรให้แก่โจทก์ หนังสือของพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่แจ้งราคาประเมินใหม่จึงไม่มีผลตามกฎหมายและไม่อาจถือเป็นการรับสภาพหนี้ได้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจขอคืนเงินภาษีอากรตามฟ้องโจทก์ฟ้องคดีเกิน 2 ปี นับแต่วันนำเข้าสินค้าตามฟ้องและเกิน10 ปี นับแต่วันชำระภาษีให้แก่จำเลย คดีโจทก์จึงขาดอายุความนอกจากนี้ในส่วนของภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลที่โจทก์ขอคืนจำเลยเพียงแต่เป็นผู้จัดเก็บแทนกรมสรรพากรและกระทรวงมหาดไทยแต่โจทก์มิได้ฟ้องกรมสรรพากรและกระทรวงมหาดไทย เป็นจำเลยทั้งมิได้อุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 30 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องเรียกภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลคืน ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลาง พิพากษายก ฟ้อง
โจทก์ อุทธรณ์ ต่อ ศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่าโจทก์นำสินค้าหินอ่อนตัดเป็นก้อนหยาบชนิดต่าง ๆ จากประเทศเข้ามาในราชอาณาจักรไทยเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2536 และวันที่ 6 เมษายน 2527 ตามลำดับรวม 2 ครั้ง โดยโจทก์ได้ยื่นใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้าสำแดงราคาตามที่ซื้อมาตามสำเนาใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้าเอกสารหมาย จ.1แผ่นที่ 1 ถึง 4 แต่จำเลยไม่ยอมรับราคาและให้โจทก์วางหลักทรัพย์ค้ำประกัน โจทก์ได้ชำระเงินภาษีอากรตามราคาสินค้าที่สำแดงกับนำหนังสือค้ำประกันของธนาคารมาวางประกันค่าภาษีไว้ต่อจำเลยแล้วหลังจากนั้นจำเลยจึงปล่อยสินค้าในโจทก์รับไป ต่อมาพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยได้แจ้งการประเมินราคาสินค้าให้โจทก์ชำระภาษีอากรเพิ่มสำหรับใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้าฉบับแรกคิดเป็นอากรขาเข้า 6,230,683.24 บาท ภาษีการค้า2,508,642.97 บาท ภาษีบำรุงเทศบาล 250,864.29 บาท และตามใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้าฉบับที่สองคิดเป็นอากรขาเข้า 8,245,419.87 บาท ภาษีการค้า 3,288,213.46 บาทภาษีบำรุงเทศบาล 328,821.34 บาท โจทก์นำเงินภาษีอากรเพิ่มดังกล่าวไปชำระให้แก่จำเลยที่แล้ว ตามสำเนาใบเสร็จรับเงิน เอกสารหมาย จ.1แผ่นที่ 5 และ 6 โจทก์ไม่เห็นด้วยกับการประเมินของจำเลยจึงทำหนังสืออุทธรณ์การประเมินต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยตามสำเนาหนังสือขออุทธรณ์ราคาสินค้าหินอ่อน เอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 1 ถึง 3 (ล.1แผ่นที่ 164 ถึง 166 และ จ.1 แผ่นที่ 10 ถึง 12) พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยพิจารณาแล้วมีคำสั่งยืนตามราคาประเมินตามสำเนาบันทึกข้อความเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 13 ถึง 19 โจทก์มิได้ยื่นอุทธรณ์ต่อจำเลยอีกแต่มีผู้ทำเอกสารปลอมลายมือชื่อกรรมการผู้มีอำนาจของโจทก์และรอยตราประทับของโจทก์ยื่นอุทธรณ์ต่อจำเลยในนามของโจทก์เป็นเหตุให้จำเลยหลงเชื่อว่าเป็นอุทธรณ์ของโจทก์จริง และนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์และปัญหาราคาและคณะกรรมการดังกล่าววินิจฉัยให้เปลี่ยนแปลงราคาประเมิน กับมีหนังสือแจ้งผลการพิจารณาให้โจทก์ทราบเพื่อดำเนินการขอคืนค่าภาษีอากรตามสำเนาหนังสือแจ้งผลอุทธรณ์การประเมินอากร เอกสารหมาย จ.1แผ่นที่ 7 (ล.1 แผ่นที่ 33) คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องเรียกภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลคืนจากจำเลยหรือไม่ เห็นว่า เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยประเมินราคาสินค้าให้โจทก์ชำระภาษีอากรเพิ่มสำหรับใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้าทั้งสองฉบับ โจทก์ได้ชำระอากรขาเข้า ภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลเพิ่มให้แก่จำเลยแล้ว แต่โจทก์มิได้อุทธรณ์การประเมินในส่วนภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 3. แต่อย่างใดนายไกรศักดิ์ รุ่งทิวาสุวรรณ พยานโจทก์ซึ่งเป็นกรรมการของโจทก์ก็เบิกความยอมรับว่าโจทก์ไม่ติดใจเรียกร้องภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลที่ถูกจำเลยประเมินเพิ่ม โจทก์จึงมิได้อุทธรณ์โต้แย้ง ดังนั้นโจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องคดีอันเป็นการใช้สิทธิอุทธรณ์ต่อศาลขอให้คืนภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลจากจำเลย ที่โจทก์อุทธรณ์ว่าโจทก์มิได้โต้แย้งการประเมินของพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลย แต่โจทก์ขอเรียกเงินตาที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยส่งคืนให้แห่งโจทก์เนื่องจากเห็นว่าเก็บสูงเกินไป โจทก์มีสิทธิฟ้องคดีได้โดยไม่ต้องอุทธรณ์เสียก่อนนั้น เห็นว่า คดีนี้พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยได้แจ้งการประเมินราคาสินค้าให้โจทก์ชำระภาษีอากรเพิ่มสำหรับใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้าทั้งสองฉบับ โจทก์ได้ชำระอากรขาเข้าภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลเพิ่มให้แก่จำเลยแล้วแต่โจทก์มิได้อุทธรณ์การประเมินในส่วนภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ การประเมินเรียกเก็บภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลเพิ่มดังกล่าวถือเป็นการประเมินตามประมวลรัษฎากรมาตรา 87 (เดิม) ซึ่งอยู่ในบังคับที่จะต้องอุทรณ์ต่อณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตามมาตรา 30 ก่อนจึงจะฟ้องคดีเรียกภาษีอากรที่ชำระเกินไปคืนได้
ปัญหาว่าคดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ ที่โจทก์อุทธรณ์ว่าอายุความเรียกร้องขอคืนเงินอากรขาเข้าของโจทก์ไม่ควรเริ่มนับแต่วันที่โจทก์วางเงินค่าอากรคือในวันที่ 10 กันยายน 2527 นั้น ได้ความว่าหลังจากโจทก์ทำหนังสืออุทธรณ์การประเมินต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยตามสำเนาหนังสือขออุทธรณ์ราคาสินค้าหินอ่อนเอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 1 ถึง 3 พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยพิจารณาแล้วมีคำสั่งยืนตามราคาประเมิน และโจทก์มิได้ยื่นอุทธรณ์ต่อำเลยอีก แต่มีผู้ทำเอกสารปลอมลายมือชื่อกรรมการผู้มีอำนาจของโจทก์และรอยประทับตราของโจทก์ยื่นอุทธรณ์ต่อจำเลยในนามของโจทก์ เป็นเหตุให้จำเลยหลงเชื่อว่าเป็นอุทธรณ์ของโจทก์จริงและนำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์และปัญหาราคา และคณะกรรมการดังกล่าววินิจฉัยให้เปลี่ยนแปลงราคาประเมินกับมีหนังสือแจ้งผลการพิจารณาให้โจทก์ทราบเพื่อดำเนินการขอคืนค่าภาษีอากรตามสำเนาหนังสือแจ้งผลอุทธรณ์การประเมินอากรเอกสารหมาย จ.1แผ่นที่ 7 เห็นว่า อุทธรณ์ฉบับที่สองที่ยื่นต่อจำเลยในนามของโจทก์ซึ่งมีผู้ทำปลอมขึ้นโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย มิใช่อุทธรณ์ของโจทก์แม้คณะกรรมการวินิจฉัยและปัญหาราคาจะรับวินิจฉัยให้ ก็หามีผลทำให้อุทธรณ์นั้นเป็นอุทธรณ์ที่ชอบด้วยกฎหมายขึ้นมาไม่ ถือเท่ากับไม่มีการอุทธรณ์ดังกล่าว คณะกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์และปัญหาราคาจึงไม่มีอำนาจวินิจฉัยให้คืนอากรให้แก่โจทก์ ดังนั้น การที่จำเลยมีหนังสือแจ้งผลการพิจารณาให้โจทก์ทราบเพื่อดำเนินการขอคืนค่าภาษีอากรจึงเป็นการแสดงเจตนาโดยสำคัญผิดว่าโจทก์เป็นผู้ยื่นอุทธรณ์ฉบับที่สอง เป็นการแสดงเจตนาโดยสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรม กล่าวคือ สำคัญผิดในตัวบุคคลซึ่งเป็นคู่กรณีแห่งนิติกรรมจึงเป็นโมฆะ หนังสือแจ้งผลการพิจารณาให้โจทก์ทราบดังกล่าวถือไม่ได้ว่าเป็นการรับสภาพหนี้ เมื่อวินิจฉัยเช่นนี้ ปัญหาต่อไปมีว่าสิทธิเรียกร้องของโจทก์ในการขอคืนอากรขาเข้าที่ชำระเกินไปเริ่มนับแต่เมื่อใด เห็นว่า เมื่อโจทก์ชำระอากรขาเข้าเพิ่มเติมภายหลังจากโจทก์นำของออกจากอารักขาของศุลกากรแล้ว ไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะจึงต้องใช้อายุความ 10 ปี นับแต่เมื่อโจทก์ชำระภาษีอากรเพิ่มตามที่ได้รับแจ้งตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469มาตรา 112 ทวิ วรรคหนึ่งและวรรคสอง ได้ความว่าโจทก์ชำระภาษีอากรเพิ่มเติมที่ได้รบแจ้งการประเมินตามสำเนาใบเสร็จรับเงินเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 5 และ 6 ซึ่งระบุว่าจำเลยได้รับชำระอากรแล้วเมื่อวันที่ 10 กันยายน 2527 สิทธิเรียกร้องของโจทก์ในการขอคืนอากรขาเข้าที่ชำระเกินไป จึงเริ่มนับแต่วันดังกล่าวปรากฎว่าโจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2538 พ้นกำหนด 10 ปีแล้ว คดีโจทก์จึงขาดอายุความ และเมื่อเป็นกรณีขอคืนอากรขาเข้าที่ชำระเกินไปจึงมิใช่การฟ้องเรียกเอาทรัพย์คืนซึ่งไม่มีอายุความดังที่โจทก์อ้างในอุทธรณ์ว่า จำเลยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงมิได้ตรวจสอบลายมือชื่อกรรมการผู้มีอำนาจของโจทก์และรอยประทับของโจทก์ในอุทธรณ์ฉบับที่สองนั้น เห็นว่า ข้อนี้โจทก์มิได้นำสืบให้ประจักษ์ว่าจำเลยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงอย่างไร พิเคราะห์ถึงลายมือชื่อกรรมการผู้มีอำนาจของโจทก์และรอยตราประทับของโจทก์ในอุทธรณ์ฉบับที่สองตามสำเนาหนังสือทบทวนการอุทธรณ์สินค้าหินอ่อน เอกสารหมายจ.1 แผ่นที่ 29 และ 30 แล้วก็รับฟังไม่ได้ว่า ที่เกิดสำคัญผิดขึ้นเพราะพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยไม่ได้ใช้ความระมัดระวังเสียเลย
พิพากษายืน