คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2845/2548

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

การที่ศาลฎีกาในคดีก่อนพิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมการฝากขายที่ดินและนิติกรรมซื้อขายที่ดินพิพาทอันมีผลให้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทกลับคืนไปยังเจ้าของที่แท้จริง กรณีเช่นนี้ถือได้ว่าเจ้าของที่ดินพิพาทที่แท้จริงมารบกวนสิทธิของโจทก์ทั้งสองผู้ซื้อให้จำต้องคืนที่ดินพิพาทให้แก่เจ้าของที่ดินที่แท้จริงตามคำพิพากษาศาลฎีกา โจทก์ทั้งสองจึงถูกรอนสิทธิซึ่งจำเลยผู้ขายมีหน้าที่ต้องรับผิดในผลแห่งการรอนสิทธินั้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 475 เมื่อที่ดินพิพาทได้หลุดไปจากโจทก์ทั้งสองผู้ซื้อ จำเลยผู้ขายจึงต้องรับผิดชำระราคาที่ดินพิพาทคืนให้แก่โจทก์ทั้งสองตามมาตรา 479 ดังนั้น ค่าเสียหายที่จำเลยต้องรับผิดคือราคาที่ดินพิพาทที่โจทก์ทั้งสองได้ชำระแก่จำเลยไปแล้วอันเป็นค่าเสียหายโดยตรงที่โจทก์ทั้งสองเสียหายไปจริง แต่ในส่วนค่าเสียหายที่เกิดจากการไม่สามารถขายที่ดินพิพาทได้นั้น เป็นเพียงการคาดคะเนของโจทก์ทั้งสองเอง หาใช่ค่าเสียหายโดยตรงที่โจทก์ทั้งสองต้องเสียหายไปตามความจริงไม่ ทั้งนี้ โจทก์ทั้งสองได้เกิดสิทธิเรียกร้องในเงินค่าที่ดินพิพาทเอาจากจำเลยนับแต่วันที่โจทก์ทั้งสองทราบคำพิพากษาศาลฎีกา จำเลยจึงต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยนับแต่วันดังกล่าว อนึ่งจำเลยให้การต่อสู้คดีไว้เฉพาะเรื่องขาดอายุความฟ้องร้องเรื่องการรอนสิทธิเท่านั้น การกล่าวอ้างเรื่องขาดอายุความฐานลาภมิควรได้ขึ้นในชั้นอุทธรณ์ จึงเป็นเรื่องที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 3 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทั้งสองซื้อที่ดินพิพาทจากจำเลยในราคา 112,000 บาท หลังจากนั้นโจทก์ทั้งสองได้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทและชำระภาษีบำรุงท้องที่ทุกปีโจทก์ทั้งสองเสียค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาและบำรุงสภาพที่ดินเป็นเงินปีละไม่น้อยกว่า 30,000 บาท ทำให้ที่ดินมีราคาสูงขึ้น ต่อมานายเฉลือยเจ้าของที่ดินพิพาทคนเดิมเป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายเผื่อเป็นจำเลยที่ 1 จำเลยเป็นจำเลยที่ 2 โจทก์ที่ 1 เป็นจำเลยที่ 3 และโจทก์ที่ 2 เป็นจำเลยที่ 4 ต่อศาลชั้นต้นตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 175/2535 ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาที่ 6556/2539 ให้เพิกถอนนิติกรรมขายฝากที่ดินพิพาทระหว่างนายเผื่อ ในฐานะผู้รับมอบอำนาจจากนายเฉลือยกับจำเลย และนิติกรรมซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยกับโจทก์ทั้งสอง อันเป็นผลให้โจทก์ทั้งสองเสียกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทไปโดยการรอนสิทธิ โจทก์ทั้งสองซื้อที่ดินพิพาทมาโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน โจทก์ทั้งสองเสียหายคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 114,800 บาท นับแต่วันที่ 11 มิถุนายน 2531 ถึงวันฟ้องเป็นเงิน 83,859.04 บาท และต้องเสียค่าขาดประโยชน์จากราคาที่ดินซึ่งเพิ่มขึ้นจากการที่โจทก์ทั้งสองร่วมกันปรับปรุงที่ดินพิพาทไร่ละ 5,000 บาท เป็นเงิน 139,500 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 338,159.04 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 114,800 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง
จำเลยให้การว่า โจทก์ทั้งสองฟ้องคดีเป็นเวลาเกินกว่า 1 ปี นับแต่ทราบถึงเหตุแห่งการรอนสิทธิ คดีจึงขาดอายุความ จำเลยซื้อฝากที่ดินพิพาทมาโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน ได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่โจทก์ทั้งสองตามกฎหมายโดยสุจริต โจทก์ทั้งสองครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทและรับผลตอบแทนเกินกว่าราคาที่ดินที่โจทก์ทั้งสองชำระให้แก่จำเลย ค่าขาดประโยชน์ตามฟ้องเป็นค่าเสียหายในกรณีพิเศษซึ่งจำเลยไม่อาจคาดหมายได้ อีกทั้งมิใช่ความเสียหายอันเกิดจากการกระทำของจำเลย จำเลยจึงมิต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งสอง นอกจากนี้โจทก์ทั้งสองยังไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 21 มิถุนายน 2531 เนื่องจากขาดอายุความ เพราะกฎหมายกำหนดให้เรียกร้องเอาดอกเบี้ยที่ผิดนัดได้ไม่เกิน 5 ปี โจทก์ทั้งสองคงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยอัตราดังกล่าวตั้งแต่วันฟ้องเป็นต้นไปเท่านั้น ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 250,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินจำนวน 112,000 บาท นับแต่วันที่ 24 ธันวาคม 2539 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง แต่ดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 20 มีนาคม 2541) ต้องไม่เกิน 83,859.04 บาท ตามที่โจทก์ขอ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งสอง
โจทก์ทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองว่า การที่โจทก์ทั้งสองต้องส่งมอบที่ดินพิพาทคืนให้แก่นายเฉลือยเจ้าของที่ดินพิพาทที่แท้จริงตามคำพิพากษาศาลฎีกาจะเป็นการรอนสิทธิตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 475 หรือไม่ เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 475 บัญญัติว่า “หากว่ามีบุคคลผู้ใดมาก่อการรบกวนขัดสิทธิของผู้ซื้อในอันจะครองทรัพย์สินโดยปกติสุขเพราะบุคคลผู้นั้นมีสิทธิเหนือทรัพย์สินที่ได้ซื้อขายกันนั้นอยู่ในเวลาซื้อขายก็ดี เพราะความผิดของผู้ขายก็ดี ท่านว่าผู้ขายจะต้องรับผิดในผลอันนั้น” การที่ศาลฎีกาพิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมการขายฝากที่ดินพิพาทระหว่างนายเผื่อในฐานะผู้รับมอบอำนาจจากนายเฉลือยกับจำเลยเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2516 และนิติกรรมการซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์ทั้งสองกับจำเลยเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2531 อันมีผลให้โจทก์ทั้งสองต้องส่งมอบที่ดินพิพาทคืนให้แก่นายเฉลือยเจ้าของที่ดินพิพาทที่แท้จริง ทำให้โจทก์ทั้งสองผู้ซื้อไม่อาจครอบครองใช้ประโยชน์ในที่ดินพิพาทโดยปกติสุขเฉพาะนายเฉลือยเจ้าของที่ดินพิพาทที่แท้จริงมาก่อการรบกวนขัดสิทธิของโจทก์ทั้งสองผู้ซื้อทั้งนี้เพราะนายเฉลือยมีสิทธิเหนือที่ดินพิพาทในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ในเวลาที่โจทก์ทั้งสองกับจำเลยซื้อขายกัน แม้จำเลยจะได้จดทะเบียนรับซื้อฝากเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2516 โดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน แต่คดีได้ความว่าโจทก์ทั้งสองก็รับซื้อที่ดินพิพาทไว้โดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนเช่นกัน ดังนั้น เมื่อศาลฎีกาพิพากษาเพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายระหว่างโจทก์ทั้งสองกับจำเลยเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2531 มีผลให้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทกลับคืนไปยังเจ้าของที่แท้จริง กรณีเช่นนี้ต้องถือว่านายเฉลือยเจ้าของที่ดินพิพาทที่แท้จริงมารบกวนสิทธิโจทก์ทั้งสองผู้ซื้อและโจทก์ทั้งสองจำต้องคืนที่ดินพิพาทให้แก่เจ้าของที่แท้จริงไปแล้วตามคำพิพากษาศาลฎีกา โจทก์ทั้งสองจึงถูกรอนสิทธิซึ่งจำเลยผู้ขายมีหน้าที่ต้องรับผิดในผลแห่งการรอนสิทธินั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 475 เมื่อที่ดินพิพาทได้หลุดไปจากโจทก์ทั้งสองผู้ซื้อ จำเลยผู้ขายจึงต้องรับผิดชำระราคาที่ดินพิพาทคืนให้แก่โจทก์ทั้งสองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 479 ซึ่งบัญญัติว่า “ถ้าทรัพย์สินซึ่งซื้อขายกันหลุดไปจากผู้ซื้อทั้งหมดหรือแต่บางส่วนเพราะเหตุการรอนสิทธิ…ท่านว่าผู้ขายต้องรับผิด” ดังนั้น ค่าเสียหายที่จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งสองคือราคาค่าที่ดินพิพาทที่โจทก์ทั้งสองชำระให้แก่จำเลยไปแล้วจำนวน 112,000 บาท อันเป็นค่าเสียหายโดยตรงที่โจทก์ทั้งสองเสียหายไปจริง ส่วนที่โจทก์ทั้งสองนำสืบเรียกร้องค่าเสียหายอ้างว่าการที่ต้องเสียกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทไปจนไม่สามารถขายที่ดินพิพาทให้แก่บุคคลภายนอกได้ โดยเรียกร้องค่าเสียหายส่วนนี้ไร่ละ 5,000 บาท นั้น เห็นว่า การที่โจทก์ทั้งสองจะขายที่ดินพิพาทได้ราคาดังกล่าวจริงหรือไม่นั้น เป็นเพียงการคาดคะเนของโจทก์ทั้งสองเองเท่านั้น ค่าเสียหายส่วนนี้จึงหาใช่ค่าเสียหายโดยตรงที่โจทก์ทั้งสองต้องเสียหายไปตามความจริงไม่ จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายส่วนนี้ให้แก่โจทก์ทั้งสอง และนอกจากนี้เมื่อจำเลยต้องคืนเงินค่าที่ดินพิพาทจำนวน 112,000 บาท ให้แก่โจทก์ทั้งสอง โดยที่โจทก์ทั้งสองได้เกิดสิทธิเรียกร้องในเงินจำนวนดังกล่าวเอาจากจำเลยนับแต่วันที่ 24 ธันวาคม 2539 อันเป็นวันที่โจทก์ทั้งสองทราบคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6556/2539 จำเลยจึงต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 24 ธันวาคม 2539 จนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์ทั้งสอง ส่วนที่จำเลยอุทธรณ์อ้างว่าจำเลยจะต้องคืนเงินค่าที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ทั้งสองในฐานลาภมิควรได้แต่โจทก์ทั้งสองฟ้องคดีนี้เกินกว่า 1 ปี จึงขาดอายุความนั้น ความข้อนี้แม้ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ยังไม่ได้วินิจฉัย แต่ศาลฎีกาเห็นว่าจำเลยให้การต่อสู้คดีไว้เฉพาะขาดอายุความฟ้องร้องเรื่องการรอนสิทธิเท่านั้น การกล่าวอ้างเรื่องขาดอายุความฐานลาภมิควรได้ขึ้นในชั้นอุทธรณ์ จึงเป็นเรื่องที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 3 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้”
พิพากษากลับ ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 112,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ 24 ธันวาคม 2539 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง

Share