คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2841/2538

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

การที่ผู้คัดค้านขอให้ศาลสั่งแสดงว่าผู้คัดค้านเป็นบุตรบุญธรรมย่อมเป็นทายาทโดยธรรมที่ชอบด้วยกฎหมายของผู้ตาย นอกจากมิได้มีกฎหมายบัญญัติรองรับให้ผู้คัดค้านใช้สิทธิร้องขอต่อศาลได้แล้ว กรณีก็มิใช่ความจำเป็นที่จะต้องใช้สิทธิทางศาล เพราะหากผู้คัดค้านเป็นบุตรบุญธรรมและทายาท โดยธรรมที่ชอบด้วยกฎหมายของผู้ตาย ผู้คัดค้านย่อมมีสิทธิ และหน้าที่ตามกฎหมายในฐานะเช่นนั้นอยู่แล้ว หากมีผู้ใดโต้แย้งว่า ผู้คัดค้านมิใช่บุตรบุญธรรมและทายาทที่ชอบด้วยกฎหมายของ ผู้ตาย ผู้คัดค้านย่อมมีสิทธิฟ้องเป็นคดีมีข้อพิพาทได้ ผู้คัดค้าน ไม่มีสิทธิเสนอคดีต่อศาลโดยทำเป็นคำร้องขอได้

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของนางเช็ง เชื้อสำราญ ผู้ตาย เมื่อวันที่25 พฤศจิกายน 2535 ผู้คัดค้านซึ่งเคยยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย แต่ได้ถอนคำร้อง และยื่นคำร้องคัดค้านเข้ามาในคดีนี้เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2535 ภายหลังจากที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งในคดีนี้แล้วโดยอ้างว่า ผู้คัดค้านเดิมชื่อนางวราภรณ์ วรรณนรันทร์ แต่ได้เปลี่ยนชื่อเป็นนางฉลองรัตน์ วรรณนรันทร์ ผู้คัดค้านเป็นบุตรบุญธรรมของผู้ตาย จึงเป็นทายาทโดยธรรมที่ชอบด้วยกฎหมายเช่นเดียวกับผู้ร้องและนางสาวทิพวรรณ เชื้อสำราญ เกี่ยวกับทรัพย์มรดกของผู้ตายตามที่ปรากฏในคำร้องของผู้ร้องยังไม่ถูกต้องเนื่องจากยังมีพระเลี่ยมทองหรือกรอบเก็บไว้ในตู้นิรภัยที่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด สาขานนทบุรี ในนามของผู้คัดค้านและนางสุกัญญา แดงเลิศ ภรรยาของผู้ร้องเป็นผู้เช่า และมีสัญญาเช่าอาคารพาณิชย์ และบันทึกข้อตกลงต่อวัดบางขวางที่ผู้ร้องปกปิดความจริงไว้ ผู้คัดค้านผู้เป็นผู้มีส่วนได้เสียในกองมรดกของผู้ตาย และมีคุณสมบัติครบถ้วนตามกฎหมาย ขอให้ตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกเพื่อแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ทายาทตามกฎหมายและป้องกันมิได้ทรัพย์มรดกสูญหาย
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้องคัดค้าน
ต่อมาวันที่ 25 ธันวาคม 2535 ผู้คัดค้านยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งแสดงว่า ผู้คัดค้านซึ่งเป็นบุตรบุญธรรมของผู้ตายเป็นทายาทชั้นบุตร จึงเป็นทายาทโดยธรรมที่ชอบด้วยกฎหมายของผู้ตายมีสิทธิในกองมรดกของผู้ตาย
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้อง ผู้คัดค้านอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ผู้คัดค้านฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ส่วนที่ผู้คัดค้านฎีกาว่า ผู้คัดค้านเป็นบุตรบุญธรรมของผู้ตาย ย่อมมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งว่า ผู้คัดค้านเป็นทายาทโดยธรรมที่ชอบด้วยกฎหมายของผู้ตายนั้น เห็นว่า การเสนอคดีต่อศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 นั้นต้องทำเป็นคำฟ้องในเมื่อมีผู้โต้แย้งสิทธิเป็นคดีมีข้อพิพาทประการหนึ่งหรือทำเป็นคำร้องในเมื่อมีความจำเป็นต้องใช้สิทธิทางศาลโดยมีบทบัญญัติกฎหมายสนับสนุนไว้ชัดแจ้งเป็นคดีไม่มีข้อพิพาทอีกประการหนึ่งการที่ผู้คัดค้านขอให้ศาลสั่งแสดงว่าผู้คัดค้านเป็นบุตรบุญธรรมย่อมเป็นทายาทโดยธรรมที่ชอบด้วยกฎหมายของผู้ตาย นอกจากมิได้มีกฎหมายบัญญัติรองรับให้ผู้คัดค้านใช้สิทธิร้องขอต่อศาลได้ในกรณีเช่นนี้แล้ว กรณีก็มิใช่ความจำเป็นที่จะต้องใช้สิทธิทางศาล เพราะหากผู้คัดค้านเป็นบุตรบุญธรรมและทายาทโดยธรรมที่ชอบด้วยกฎหมายของผู้ตายจริงดังกล่าวแล้วผู้คัดค้านย่อมมีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมายในฐานะเช่นนั้นอยู่แล้วหากมีผู้ใดโต้แย้งว่า ผู้คัดค้านมิใช่บุตรบุญธรรมและทายาทที่ชอบด้วยกฎหมายของผู้ตายผู้คัดค้านย่อมมีสิทธิฟ้องเป็นคดีมีข้อพิพาทได้ ที่ศาลล่างทั้งสองยกคำร้องของผู้คัดค้านนั้นชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย”
พิพากษายืน

Share