คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 514/2538

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

เมื่อศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์และได้ส่งสำนวนไปศาลอุทธรณ์คดีจึงอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ศาลชั้นต้นจึงไม่มีอำนาจสั่งคำร้องขอถอนทนายของจำเลยที่1และที่2 จำเลยที่1และที่2มีสิทธิแต่งตั้งทนายความให้ว่าความและดำเนินกระบวนพิจารณาแทนได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา60ซึ่งเป็นการแต่งตั้งตัวแทนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา797และการแต่งตั้งผู้ใดเข้าเป็นทนายความขึ้นอยู่กับความไว้วางใจของจำเลยที่1และที่2เป็นสำคัญฉะนั้นจำเลยที่1และที่2ย่อมมีสิทธิจะขอถอนทนายความซึ่งเป็นตัวแทนเมื่อใดก็ได้ตามมาตรา827วรรคหนึ่งหากทนายจำเลยที่1และที่2เสียหายอย่างไรชอบที่จะว่ากล่าวเอาแก่จำเลยที่1และที่2ตามที่มาตรา827วรรคสองให้สิทธิไว้ บริษัทจำเลยที่1ถูกถอนชื่อออกจากทะเบียนอันถือได้ว่าบริษัทได้เลิกแล้วแต่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1249ให้พึงถือว่ายังคงตั้งอยู่ตราบเท่าเวลาที่จำเป็นเพื่อการชำระบัญชีจำเลยที่2และที่6เป็นกรรมการบริษัทผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่1ย่อมเข้าเป็นผู้ชำระบัญชีและมีอำนาจอยู่เช่นเดิมตามมาตรา1251,1252กับมีอำนาจตามมาตรา1259ตราบใดที่ยังไม่มีการแต่งตั้งผู้ชำระบัญชีจำเลยที่1ขึ้นมาใหม่จำเลยที่2และที่6ในฐานะผู้ชำระบัญชีย่อมมีอำนาจยื่นคำร้องขอถอนทนายความแทนจำเลยที่1ได้

ย่อยาว

คดีนี้สืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอบังคับให้จำเลยที่ 1ถึงที่ 6 ชำระหนี้ และบังคับจำนอง ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งหกชำระหนี้พร้อมดอกเบี้ยและบังคับจำนอง จำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ จำเลยที่ 1 และที่ 2ได้ยื่นคำร้องลงวันที่ 27 สิงหาคม 2533 ว่าไม่ประสงค์จะให้นายโกสุมภ์ ตาละโสภณ เป็นทนายความ ขอถอนนายโกสุมภ์จากการเป็นทนายของจำเลยที่ 1 และที่ 2
นายโกสุมภ์ ตาละโสภณ ยื่นคำคัดค้านว่า การขอถอนทนายความของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ทำให้ทนายจำเลยที่ 1 และที่ 2 เสียเปรียบเพราะจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ทำหนังสือยกผลประโยชน์ใด ๆที่เกิดจากการประนีประนอมยอมความกับธนาคารอาคารสงเคราะห์ไว้ให้กับทนายจำเลยที่ 1 และที่ 2
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ถอนนายโกสุมภ์ ตาละโสภณ ออกจากการเป็นทนายความได้ ส่วนกรณีทนายจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีข้อเรียกร้องกับตัวความอย่างไรให้ไปดำเนินคดีกับตัวความเป็นอีกคดีหนึ่งต่างหาก
ทนายจำเลย ที่ 1 และ ที่ 2 อุทธรณ์ คำสั่ง
ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืน
ทนายจำเลย ที่ 1 และ ที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ทนายจำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกาว่าขณะที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ยื่นคำร้องขอถอนทนายความนั้น ปรากฏว่าสำนวนเรื่องนี้อยู่ในอำนาจของศาลอุทธรณ์แล้ว ผู้มีอำนาจสั่งคำร้องควรเป็นศาลอุทธรณ์ เห็นว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์และได้ส่งสำนวนไปศาลอุทธรณ์ตั้งแต่วันที่ 14 พฤษภาคม 2533ฉะนั้น คดีจึงอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ ศาลชั้นต้นจึงไม่มีอำนาจสั่งคำร้อง ฎีกาทนายจำเลยที่ 1 และที่ 2 ข้อนี้ฟังขึ้นแต่ปรากฏว่าเมื่อทนายจำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำสั่งที่ศาลชั้นต้นสั่งอนุญาตให้จำเลยที่ 1และที่ 2 ถอนทนายความได้ จึงเป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์ได้มีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ถอนทนายความแล้ว ไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะพิพากษาให้ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งเกี่ยวกับเรื่องนี้อีกทนายจำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกาอีกข้อหนึ่งว่า ศาลไม่ควรอนุญาตให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ถอนทนายความ เห็นว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2มีสิทธิแต่งตั้งทนายความให้ว่าความและดำเนินกระบวนพิจารณาแทนได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 60 ซึ่งเป็นการแต่งตั้งตัวแทนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ลักษณะ 15 ว่าด้วยตัวแทนมาตรา 797 และการแต่งตั้งผู้ใดเข้าเป็นทนายความขึ้นอยู่กับความไว้วางใจของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นสำคัญ ฉะนั้นจำเลยที่ 1และที่ 2 ย่อมมีสิทธิจะขอถอนทนายความซึ่งเป็นตัวแทนเมื่อใดก็ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 827 วรรคหนึ่ง หากทนายจำเลยที่ 1 และที่ 2 เสียหายอย่างไร ทนายจำเลยที่ 1 และที่ 2ชอบที่จะว่ากล่าวเอาแก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ตามที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 827 วรรคสอง ให้สิทธิไว้ ฎีกาทนายจำเลยที่ 1และที่ 2 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น ทนายจำเลยที่ 1 และที่ 2ฎีกาข้อสุดท้ายว่า ขณะที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ยื่นคำร้องขอถอนทนายความเป็นเวลาที่บริษัทจำเลยที่ 1 ถูกนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกลางถอนชื่อออกจากทะเบียนแล้ว จำเลยที่ 2 และที่ 6ไม่สามารถกระทำการใด ๆ ในนามจำเลยที่ 1 ได้ เห็นว่าแม้บริษัทจำเลยที่ 1 จะถูกถอนชื่อออกจากทะเบียนอันถือได้ว่าบริษัทได้เลิกแล้วก็ตาม แต่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1249ก็บัญญัติว่าให้พึงถือว่ายังคงตั้งอยู่ตราบเท่าเวลาที่จำเป็นเพื่อการชำระบัญชี จำเลยที่ 2 และที่ 6 เป็นกรรมการบริษัทผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 ย่อมเข้าเป็นผู้ชำระบัญชีและมีอำนาจอยู่เช่นเดิมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1251, 1252 กับมีอำนาจตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1259 ทั้งเป็นผู้ลงลายมือและประทับตราจำเลยที่ 1 แต่งตั้งทนายจำเลยที่ 1 เป็นทนายความตราบใดที่ยังไม่มีการตั้งผู้ชำระบัญชีจำเลยที่ 1 ขึ้นมาใหม่ จำเลยที่ 2 และที่ 6 ในฐานะผู้รับชำระบัญชีย่อมมีอำนาจยื่นคำร้องขอถอนทนายความแทนจำเลยที่ 1 ได้ฎีกาทนายจำเลยที่ 1 และที่ 2 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นเดียวกัน”
พิพากษายืน

Share