คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2839/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องจำเลยที่1ผู้ทำละเมิดจำเลยที่3ในฐานะนายจ้างหรือตัวการและจำเลยที่3ในฐานะผู้รับประกันภัยรถยนต์ของจำเลยที่2คันที่จำเลยที่1ขับให้ร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ระหว่างพิจารณาจำเลยที่2ขาดนัดยื่นคำให้การแต่โจทก์มิได้ร้องขอให้ศาลมีคำสั่งว่าจำเลยที่2ขาดนัดยื่นคำให้การศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งจำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่2ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา198วรรคสองดังนี้คำสั่งจำหน่ายคดีของศาลชั้นต้นคงมีผลเพียงว่าจำเลยที่2ไม่มีฐานะเป็นคู่ความในคดีและศาลไม่สามารถบังคับคดีแก่จำเลยที่2ได้เท่านั้นหามีผลทำให้หนี้หรือความรับผิดของจำเลยที่2ระงับสิ้นไปดังนั้นแม้ศาลชั้นต้นจะสั่งจำหน่ายคดีสำหรับจำเลยที่2ผู้เอาประกันภัยจำเลยที่3ผู้รับประกันภัยค้ำจุนรถยนต์ของจำเลยที่2ก็อาจถูกพิพากษาให้รับผิดได้ ปัญหาว่าคดีสำหรับจำเลยที่2ขาดอายุความแล้วหรือไม่ไม่มีจำเลยคนใดให้การต่อสู้ไว้จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 4ช-3925 กรุงเทพมหานคร จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างหรือตัวแทนของจำเลยที่ 2 ได้ขับรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 71-4091กรุงเทพมหานคร ของจำเลยที่ 2 ที่ได้เอาประกันภัยไว้แก่จำเลยที่ 3ไปในทางการที่จ้างและเพื่อประโยชน์ในกิจการของจำเลยที่ 2 ด้วยความประมาทเลินเล่อชนรถยนต์คันที่โจทก์รับประกันภัยได้รับความเสียหาย โจทก์จ่ายเงินค่าซ่อมจำนวน 62,830.50 บาท ไปแล้วจึงรับช่วงสิทธิเรียกเงินจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันหรือแทนกันชดใช้เงินดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ไม่ยื่นคำให้การภายในกำหนด แต่โจทก์ไม่ขอให้ศาลสั่งว่าจำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การ ศาลชั้นต้นสั่งจำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 2
จำเลยที่ 3 ให้การว่า ผู้ขับรถยนต์คันที่โจทก์รับประกันภัยเป็นผู้ก่อเหตุละเมิด จำเลยที่ 3 รับประกันภัยรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 71-4091 กรุงเทพมหานคร ไว้จากผู้มีชื่อ จำเลยที่ 1มิใช่ลูกจ้างและกระทำละเมิดในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2จำเลยที่ 3 จึงไม่ต้องรับผิดและโจทก์เรียกค่าเสียหายสูงเกินจริงขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 62,830.50 บาทให้โจทก์พร้อมดอกเบี้ย ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 3
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 3 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งจำหน่ายคดีจำเลยที่ 2 คงมีผลเพียงว่าจำเลยที่ 2 ไม่มีฐานะเป็นคู่ความในคดี และศาลไม่สามารถบังคับคดีแก่จำเลยที่ 2 ได้ แต่หาทำให้หนี้หรือความรับผิดของจำเลยที่ 2 ระงับสิ้นไปไม่ ดังนั้นแม้ศาลชั้นต้นจะสั่งจำหน่ายคดีสำหรับจำเลยที่ 2 ผู้เอาประกันภัยจำเลยที่ 3 ผู้รับประกันภัยก็อาจถูกพิพากษาให้รับผิดได้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในส่วนนี้ชอบแล้ว ฎีกาจำเลยที่ 3 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น แต่เมื่อวินิจฉัยดังนี้แล้ว คดีจึงมีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยตามคำให้การต่อสู้ของจำเลยที่ 3 ว่า จำเลยที่ 2 ผู้เอาประกันภัยต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 เพราะจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างและกระทำละเมิดในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 อันจะเป็นเหตุให้จำเลยที่ 3 ผู้รับประกันภัยค้ำจุนจะต้องร่วมรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์หรือไม่ ซึ่งศาลชั้นต้นยังมิได้วินิจฉัยปัญหานี้มา และการที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยที่ 3 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 โดยไม่วินิจฉัยปัญหาดังกล่าวก่อนเป็นการไม่ชอบ แต่ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวไปโดยไม่จำต้องย้อนสำนวนให้ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์วินิจฉัยก่อน แล้ววินิจฉัยข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ผู้เอาประกันภัย และได้ขับรถยนต์ไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 3 ผู้รับประกันภัยค้ำจุนจึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ ที่จำเลยที่ 3 ฎีกาต่อไปว่าศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า การที่ศาลชั้นต้นสั่งจำหน่ายคดีสำหรับจำเลยที่ 2 ความรับผิดของจำเลยที่ 2ยังคงมีอยู่ตลอดไปภายในอายุความ แต่ขณะนี้คดีสำหรับจำเลยที่ 2ขาดอายุความแล้ว จำเลยที่ 3 จึงไม่ต้องรับผิดนั้น เห็นว่าปัญหาว่าคดีสำหรับจำเลยที่ 2 ขาดอายุความแล้วหรือไม่ไม่มีจำเลยคนใดให้การต่อสู้คดีไว้ จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายืน

Share