คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5461/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยให้การว่า ค่าจ้างค้างจ่ายตามฟ้องโจทก์ทั้งสามสิบเอ็ดสำนวนจำเลยได้จ่ายให้แล้ว จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชดใช้เงินจำนวนใด ๆ ให้แก่โจทก์ทั้งสามสิบเอ็ดสำนวน อันแสดงถึงข้อต่อสู้ของจำเลยไว้อย่างชัดแจ้งแล้วว่าเมื่อจำเลยไม่ค้างจ่ายค่าจ้างตามฟ้องโจทก์ทั้งสามสิบเอ็ดสำนวน จำเลยก็ไม่ต้องรับผิดจ่ายเงินเพิ่มให้แก่โจทก์ร้อยละสิบห้าของเงินค้างชำระทุกระยะเวลา 7 วัน ตามฟ้องโจทก์ทั้งสามสิบเอ็ดสำนวนด้วย
ศาลแรงงานวินิจฉัยข้อเท็จจริงที่ว่าจำเลยไม่ได้นำสืบว่าจำเลยประสบภาวะซบเซาทางเศรษฐกิจจริงหรือไม่จากคำแถลงรับของโจทก์ทั้งสามสิบเอ็ดกับจำเลยตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลแรงงานที่ว่า ก่อนที่จำเลยจะไม่จ่ายเงินค่าจ้างให้แก่โจทก์ทั้งสามสิบเอ็ดนั้น มีการประชุมระดับผู้บริหารว่าบริษัทจำเลยขาดสภาพคล่องจำเป็นต้องลดพนักงานลง ประกอบคำเบิกความของพยานจำเลยซึ่งเป็นการวินิจฉัยไปตามข้อต่อสู้และการนำสืบของจำเลย รวมตลอดทั้งข้อเท็จจริงตามที่คู่ความแถลงรับกันโดยถูกต้องชอบด้วยกฎหมายแล้ว จึงมิใช่เป็นการวินิจฉัยที่ขัดต่อกฎหมาย
เมื่อโจทก์ทั้งสามสิบเอ็ดจะมีสิทธิได้รับค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าก็ต่อเมื่อโจทก์ทั้งสามสิบเอ็ดพ้นสภาพจากการเป็นพนักงานหรือลูกจ้างของจำเลยโดยถูกจำเลยเลิกจ้างเสียก่อน ในปัญหานี้ศาลแรงงานได้วินิจฉัยไว้ในตอนต้นว่า จำเลยมิได้เลิกจ้างโจทก์ทั้งสามสิบเอ็ด อันหมายถึงว่าโจทก์ทั้งสามสิบเอ็ดไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าการที่ต่อมาศาลแรงงานวินิจฉัยว่า จำเลยให้การต่อสู้คดีว่าโจทก์ทั้งสามสิบเอ็ดไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า โดยไม่ได้ให้การว่าเลิกจ้างหรือไม่ และทางพิจารณาปรากฏว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์ 19 คน ส่วนอีก12 คน ไม่ได้เลิกจ้าง โดยมิได้วินิจฉัยว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์คนใดบ้าง แต่กลับพิพากษาให้ยกคำขอในส่วนนี้ของโจทก์ทั้งสามสิบเอ็ดและกำหนดให้สิทธิแก่โจทก์ทั้งสามสิบเอ็ดซึ่งรวมทั้งโจทก์ที่ไม่ปรากฏว่าถูกเลิกจ้าง ยังไม่มีสิทธิที่จะเรียกค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจากจำเลยได้ ให้กลับมีสิทธินำคดีมาฟ้องใหม่ภายในกำหนดอายุความด้วยเช่นนี้ ย่อมเป็นการวินิจฉัยข้อเท็จจริงที่ขัดกันเอง ไม่อาจรับฟังได้ว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสามสิบเอ็ดคนหรือเลิกจ้างโจทก์คนใดบ้าง ถือได้ว่าศาลแรงงานยังไม่ได้วินิจฉัยตามข้อหาทุกข้อ ขัดต่อ ป.วิ.พ.มาตรา 142 ประกอบพ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31จึงเป็นการมิชอบ ศาลฎีกาให้ยกคำพิพากษาศาลแรงงานในส่วนนี้แล้วย้อนสำนวนไปให้ศาลแรงงานวินิจฉัยในประเด็นนี้ใหม่ ตาม ป.วิ.พ.มาตรา 243 (1) ประกอบพ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31
ค่าจ้างเดือนมีนาคม เมษายน และพฤษภาคม 2540 ตามฟ้องของโจทก์ที่ 2 และที่ 28 เป็นเงินรวม 24,570 บาท และ 87,540 บาท แต่จำเลยชำระให้แก่โจทก์ที่ 2 และที่ 28 ไปแล้ว 10,200 บาท และ 8,500 บาทจึงยังคงเหลือค่าจ้างค้างจ่ายแก่โจทก์ที่ 2 และที่ 28 เป็นเงิน 14,370 บาท และ79,040 บาท ตามลำดับ แต่ศาลแรงงานพิพากษาให้จำเลยชำระเงินค่าจ้างค้างจ่ายแก่โจทก์ที่ 2 และที่ 28 เป็นเงิน 143,370 บาท และ 108,220 บาท จึงเป็นการไม่ถูกต้องและเป็นข้อผิดพลาดเล็กน้อย แม้จำเลยไม่อุทธรณ์ในปัญหานี้ ศาลฎีกาก็มีอำนาจแก้ไขข้อผิดพลาดดังกล่าวให้ถูกต้องได้ ตาม ป.วิ.พ.มาตรา 143 ประกอบพ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31

Share