แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
โจทก์เป็นยามรักษาความปลอดภัยของจำเลยมิได้เข้าเวรตามวัน เวลาที่กำหนด แต่โจทก์ได้ตกลงแลกเปลี่ยนเวรกับผู้อื่นแล้ว และโจทก์ลงเวลาทำงานเป็นหลักฐานเพื่อเบิกค่าจ้างก็โดยเข้าใจว่าตน มีสิทธิจะได้รับค่าจ้างดังนี้ การกระทำของโจทก์ยังไม่ถึงกับเป็นการละทิ้งหน้าที่และลงเวลาทำงานเป็นหลักฐานเพื่อเบิกค่าจ้างก็โดยเข้าใจว่าตนมีสิทธิจะได้ กระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 47(3)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่าโจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลย จำเลยไล่โจทก์ออกจากงานโดยกลั่นแกล้งกล่าวหาว่าโจทก์ขาดเวรยาม ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชยและคืนเงินประกัน แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย จำเลยให้การว่าโจทก์ละทิ้งหน้าที่และลงเวลาอันเป็นเท็จ ทำให้จำเลยจ่ายค่าจ้างโจทก์ และต่อมาจำเลยสั่งย้ายหน่วยงานโจทก์ โจทก์ขัดคำสั่งเป็นการทุจริตหรือกระทำผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้าง หรือจงใจทำให้นายจ้างเสียหาย หรือฝ่าฝืนข้อบังคับในกรณีร้ายแรง จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย และจำเลยมีสิทธิริบเงินประกันขอให้ยกฟ้อง ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยและคืนเงินประกันแก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ย จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ข้อที่จำเลยอุทธรณ์ว่าโจทก์มีหน้าที่อยู่เวรในวันที่ 18 กรกฎาคม 2530 ตั้งแต่เวลา14 นาฬิกา ถึงเวลา 22 นาฬิกา แต่ในวันนั้นโจทก์ไปอยู่ที่สถานีตำรวจนครบาลเตาปูนตั้งแต่เวลา 18 นาฬิกาถึงเวลา 21 นาฬิกาและได้เข้าเวรเมื่อเวลา 24 นาฬิกาจนถึงเวลา 16 นาฬิกาของวันรุ่งขึ้นโจทก์ลงเวลาเข้าเวรอันเป็นเท็จเป็นการหลอกลวงจำเลยและได้ไปซึ่งค่าจ้าง ถือว่าโจทก์ทุจริตและเป็นเหตุให้จำเลยต้องจ่ายค่าจ้างให้นายสอง หลีกเลี่ยง เพิ่มขึ้นอีกในวันที่ 14 กรกฎาคม 2530เห็นได้ว่าโจทก์ได้กระทำความผิดอย่างร้ายแรงนั้นข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติตามที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าโจทก์ตกลงแลกเปลี่ยนเวรกับนายสอง หลีกเลี่ยง โจทก์ลงเวลาทำงานเป็นหลักฐานเพื่อเบิกค่าจ้างโดยเข้าใจว่าตนมีสิทธิจะได้รับค่าจ้าง โจทก์ไม่ได้ละทิ้งหน้าที่และลงเวลาทำงานอันเป็นเท็จโดยทุจริต พิเคราะห์แล้วเห็นว่าแม้โจทก์มิได้เข้าเวรตามวันเวลาที่กำหนด แต่โจทก์ก็ได้ตกลงแลกเปลี่ยนเวรกับผู้อื่นแล้ว การที่โจทก์ลงเวลาทำงานเป็นหลักฐานเพื่อเบิกค่าจ้างก็โดยที่เข้าใจว่าตนมีสิทธิจะได้รับค่าจ้าง การกระทำของโจทก์ไม่ถึงกับเป็นการละทิ้งหน้าที่และลงเวลาทำงานอันเป็นเท็จโดยทุจริต เช่นนี้การกระทำของโจทก์จึงไม่เป็นการกระทำความผิดร้ายแรงดังที่จำเลยอุทธรณ์…”
พิพากษายืน