แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
พระราชบัญญัติญญัติล้มละลายฯมาตรา14ให้ศาลพิจารณาเอาความจริงตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา9หรือมาตรา10เมื่อปรากฎข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่1เป็นหนี้โจทก์เพียง84,568.29บาทและยังประกอบกิจการมีรายได้อีกทั้งไม่ปรากฎว่าจำเลยที่1เป็นหนี้บุคคลอื่นใดอีกจำเลยที่1จึงอยู่ในฐานะที่สามารถชำระหนี้ให้โจทก์ได้ดังนั้นลำพังแต่ทางนำสืบของโจทก์ซึ่งได้ความตามข้อสันนิษฐานของกฎหมายว่าจำเลยที่1ได้รับหนังสือทวงถามให้ชำระหนี้จากโจทก์แล้วรวม2ครั้งและจำเลยที่1เปลี่ยนชื่อสกุลย้ายที่อยู่โดยไม่ปรากฎข้อเท็จจริงอื่นสนับสนุนแสดงให้เห็นถึงฐานะของจำเลยที่1ว่าตกอยู่ในสภาพมีหนี้สินล้นพ้นตัวอย่างใดรูปคดีจึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่1เป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัวพระราชบัญญัติญญัติล้มละลายฯเป็นกฎหมายพิเศษที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนซึ่งกำหนดให้ศาลมีหน้าที่พิจารณาเอาความจริงให้ได้ว่าจำเลยเป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัวหรือไม่การที่จำเลยที่1เสนอพยานเอกสารต่อศาลเพื่อให้ปรากฎความจริงดังกล่าวแม้ไม่ได้ส่งสำเนาให้แก่โจทก์ก่อนสืบพยานตามกฎหมายก็ไม่เป็นการตัดรอนศาลมิให้รับฟังพยานหลักฐานดังกล่าว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสามมีหนี้สินล้นพ้นตัว ขอให้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยทั้งสามเด็ดขาดและพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลาย
จำเลยทั้งสามไม่ยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้พิทักษ์ทรัพย์จำเลยที่ 2 และที่ 3เด็ดขาดตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 14 ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 1
โจทก์ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483มาตรา 14 ให้ศาลพิจารณาเอาความจริงตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 9หรือมาตรา 10 และการที่ศาลจะมีคำสั่งให้ผู้ใดล้มละลายก็ไม่ใช่อาศัยแต่ลำพังข้อเท็จจริงอันเป็นเงื่อนไขตามข้อสันนิษฐานของกฎหมายอย่างเดียวแต่ยังต้องพิเคราะห์ถึงเหตุผลอื่นมาประกอบที่พอแสดงให้เห็นได้ว่าจำเลยที่ 1 ตกอยู่ในฐานะผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัว เพราะการวินิจฉัยให้บุคคลล้มละลายนั้น ย่อมกระทบถึงสิทธิและเสรีภาพในการดำรงชีวิตตามกฎหมายตลอดจนสถานะบุคคลและสิทธิในทางทรัพย์สินของผู้นั้นโดยตรง เมื่อพิเคราะห์ข้อเท็จจริงในคดีนี้แล้ว จำเลยที่ 1เป็นหนี้โจทก์ 84,568.29 บาท ซึ่งเป็นจำนวนไม่มากนักและจำเลยที่ 1เคยให้ทนายความมีหนังสือขอชำระหนี้แก่โจทก์โดยจะชำระในงวดแรกจำนวน 30,000 บาท ส่วนที่เหลือขอผ่อนชำระเดือนละ 5,000 บาทตามเอกสารหมาย ล.5 แต่โจทก์ไม่ยินยอมโดยจะให้จำเลยที่ 1ชำระหนี้เต็มจำนวนในครั้งเดียว ตามเอกสารหมาย ล.6 ต่อมาจำเลยที่ 1ขอเสนอชำระหนี้แก่โจทก์เพียงครั้งเดียวในจำนวน 60,000 บาทตามเอกสารหมาย ล.7 และ ล.8 โจทก์ก็ไม่ยอมนอกจากนี้จำเลยที่ 1ได้นำเงินไปฝากไว้ที่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด สาขาถนนพระรามที่ 2เพื่อเตรียมจะชำระหนี้ให้โจทก์ ตามเอกสารหมาย ล.9 และ ล.10จึงเห็นได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้กระทำทุกวิถีทางอันแสดงให้เห็นว่ามีความตั้งใจและสามารถชำระหนี้ให้แก่โจทก์ได้ สำหรับเงินฝากแม้จำเลยที่ 1 จะเพิ่งเปิดบัญชีและฝากเงินจำนวน 100,000 บาท ภายหลังจากที่โจทก์ฟ้องคดีนี้แล้วก็ถือเป็นทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ที่โจทก์อาจบังคับชำระหนี้ได้ นอกจากนี้จำเลยที่ 1 ยังเป็นผู้ถือหุ้นอยู่ในบริษัทยูนิพาร์ท จำกัด จำนวน 5,000 หุ้น มูลค่าหุ้นละ 100 บาทโดยจำเลยที่ 1 มีฐานะเป็นกรรมการมีรายได้เดือนละ 20,000 บาทตามเอกสารหมาย ล.2 ถึง ล.4 แสดงว่าจำเลยที่ 1 ยังประกอบกิจการมีรายได้ อีกทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 เป็นหนี้บุคคลอื่นใดอีก จำเลยที่ 1 จึงอยู่ในฐานะที่สามารถชำระหนี้ให้โจทก์ได้ลำพังแต่ทางนำสืบของโจทก์ซึ่งได้ความตามข้อสันนิษฐานของกฎหมายว่า จำเลยที่ 1 เปลี่ยนชื่อสกุลย้ายที่อยู่และจำเลยที่ 1ได้รับหนังสือทวงถามให้ชำระหนี้จากโจทก์แล้วรวม 2 ครั้งโดยไม่ปรากฏข้อเท็จจริงอื่นสนับสนุนแสดงให้เห็นถึงฐานะของจำเลยที่ 1 ว่าตกอยู่ในสภาพมีหนี้สินล้นพ้นตัวอย่างใด รูปคดีฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัวที่โจทก์ฎีกาว่าเอกสารตามที่จำเลยที่ 1 อ้างส่งศาลนั้นจำเลยที่ 1 ไม่ได้ส่งสำเนาให้แก่โจทก์ก่อนสืบพยานตามกฎหมาย จึงรับฟังไม่ได้นั้น เห็นว่าการตัดรอนมิให้ศาลรับฟังพยานหลักฐานดังกล่าวย่อมขัดต่อบทบัญญัติของพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 อันเป็นกฎหมายพิเศษที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนซึ่งกำหนดให้เป็นหน้าที่ของศาลที่จะต้องพิจารณาเอาความจริงให้ได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นบุคคลผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัวจริงหรือไม่ ดังนั้น จำเลยที่ 1 จึงชอบที่จะเสนอพยานเอกสารดังกล่าวเพื่อให้ปรากฏความจริงตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวให้ศาลรับฟังได้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน