คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1611/2530

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

พระราชบัญญัติ คุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พุทธศักราช 2518 ไม่ได้บังคับให้นายจ้างซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจจะต้องจ้างลูกจ้างซึ่งเป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจตลอดไปจนกว่าลูกจ้างจะมีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ ดังนั้น ในระหว่างการจ้างหากมีเหตุการณ์อันใดเกิดขึ้นที่นายจ้างจำเป็นต้องเลิกจ้างคนใดแล้ว นายจ้างย่อมแสดงเจตนาเลิกจ้างก่อนที่ลูกจ้างจะมีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ได้เสมอ.(ที่มา-ส่งเสริม)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขฟ้องว่า โจทก์ได้ทำงานเป็นลูกจ้างประจำของจำเลยเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2521 ต่อมาเมื่อปลายเดือนพฤศจิกายน2528 จำเลยได้มีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์ตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2528เป็นต้นไป เป็นการปฏิบัติผิดสัญญาจ้างแรงงานทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ในปี พ.ศ. 2518 โจทก์ยังมิได้หยุดพักผ่อนประจำปีจำนวน 15วัน ซึ่งจำเลยยังมิได้จ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้แก่โจทก์ ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าทดแทน (ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี) จำนวน 15 วัน เป็นเงิน 1,575 บาท ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมเป็นเงิน 1,896,600 บาท เงินบำเหน็จและค่าชดเชยที่จะได้รับเมื่อออกจากงานเพราะเกษียณอายุเป็นเงิน 274,900 บาท กับดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันเลิกจ้างจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยกับบริษัทกรุงเทพคลังสินค้า จำกัด ได้ร่วมดำเนินกิจการท่าเรือและคลังสินค้าเป็นกิจการอีกแผนกหนึ่ง ซึ่งแยกออกมาเป็นส่วนสัดต่างหากโดยใช้ชื่อว่าท่าเรือบริษัทไทยเดินเรือทะเล จำกัด โจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยโดยไม่มีสัญญาจ้างแรงงาน ข้อตกลง หรือเงื่อนไขสภาพการจ้าง ไม่มีหลักประกันว่าโจทก์จะต้องทำงานตลอดไปจนเกษียณอายุ จำเลยได้เลิกจ้างโจทก์เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม2528 โดยมิได้กลั่นแกล้งหรือไม่เป็นธรรม แต่เป็นเพราะในปี พ.ศ. 2527ถึงปี พ.ศ. 2528 เรือสินค้าเข้าเทียบท่ามีจำนวนน้อยลงไปมากอันเป็นเหตุให้รายได้ลดลงแต่รายจ่ายหาได้ลดลงไม่ กิจการจึงตกในสภาพขาดทุนที่ไม่อาจรับภาระต่อไปได้ บริษัทกรุงเทพคลังสินค้า จำกัด จึงขอเลิกสัญญาความร่วมมือดำเนินกิจการท่าเรือและคลังสินค้าตั้งแต่วันที่31 ธันวาคม 2528 เป็นต้นไป จำเลยจึงเลิกจ้างพนักงานของจำเลยจำนวน47 คน ซึ่งรวมทั้งโจทก์ด้วย จำเลยได้จ่ายค่าชดเชยและเงินบำเหน็จจำนวน 44,100 บาทให้แล้ว โจทก์จึงไม่ได้รับความเสียหาย และค่าเสียหายที่โจทก์เรียกร้องเป็นเรื่องอนาคตซึ่งไม่แน่นอนทั้งเป็นจำนวนสูงเกินความเป็นจริง ส่วนวันหยุดพักผ่อนประจำปีนั้นโจทก์ไม่ใช้สิทธิหยุด จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องเอาค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีได้ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า โจทก์เป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจ จำเลยมีความจำเป็นที่จะต้องปรับปรุงกิจการเพื่อหลีกเลี่ยงสภาวะการขาดทุน จึงจำต้องเลิกจ้างพนักงานของจำเลยเพื่อลดค่าใช้จ่าย การเลิกจ้างโจทก์พร้อมกับพนักงานอื่นของจำเลยจึงเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม โจทก์ไม่ได้รับความเสียหาย แต่โจทก์มิได้หยุดพักผ่อนประจำปีจำนวน 15 วันจริง จำเลยต้องจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้แก่โจทก์ พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีเป็นเงิน 1,575 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาตามอุทธรณ์ของโจทก์เพียงข้อเดียวว่า โจทก์มีสิทธิทำงานกับจำเลยจนกว่าโจทก์จะมีอายุครบหกสิบปีหรือไม่ โจทก์อุทธรณ์ว่า โจทก์เป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจซึ่งตามพระราชบัญญัติและคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2518 มาตรา 4(3) กำหนดให้พนักงานรัฐวิสาหกิจทำงานได้จนอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์ และความในมาตรา 11 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2520 มาตรา 3 เป็นการกำหนดให้พนักงานรัฐวิสาหกิจพ้นจากตำแหน่งเมื่อตาย ลาออกหรือขาดคุณสมบัติหรือต้องห้ามตามมาตรา 9 เท่านั้น เมื่อโจทก์ไม่ได้ตายหรือลาออกหรือขาดคุณสมบัติหรือต้องห้ามดังกล่าวจำเลยจะเลิกจ้างโจทก์ไม่ได้ กรณีจึงเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม พิเคราะห์แล้วเห็นว่าความในมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2518 ได้กำหนดหลักเกณฑ์ของบุคคลผู้ที่จะเป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจไว้ 6 ประการ ซึ่งรวมถึงกรณีที่บุคคลผู้นั้นจะต้องมีอายุไม่เกินหกสิบปีบริบูรณ์ไว้ด้วย หลักเกณฑ์เหล่านี้ถือเป็นคุณสมบัติของผู้ที่จะเป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจเท่านั้น ดังนั้นหากบุคคลใดขาดคุณสมบัติข้อหนึ่งข้อใด เช่นมีอายุเกินหกสิบปีบริบูรณ์แล้ว บุคคลนั้นจะได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจมิได้เท่านั้น และถ้าบุคคลใดมีคุณสมบัติดังกล่าวครบถ้วนและได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจแล้ว แต่ต่อมามีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์ บุคคลนั้นก็จะต้องพ้นจากตำแหน่งตามพระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2518 มาตรา 11แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2520 มาตรา 3 ซึ่งบัญญัติว่า
“นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามที่กำหนดไว้สำหรับรัฐวิสาหกิจนั้น ๆแล้ว พนักงานพ้นจากตำแหน่งเมื่อ
ฯลฯ
(1) เป็นผู้ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 9 หรือมาตรา 10
สำหรับการพ้นจากตำแหน่งของพนักงานซึ่งมีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์ให้พ้นเมื่อสิ้นปีงบประมาณตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณของปีที่พนักงานผู้นั้นมีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์”
จากบทกฎหมายดังกล่าวย่อมเห็นได้ว่ามิใช่เป็นบทบังคับนายจ้างซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจจะต้องจ้างลูกจ้างที่เป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจตลอดไปจนกว่าลูกจ้างจะมีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์ดังข้ออุทธรณ์ของโจทก์ ดังนั้น ในระหว่างการจ้างหากมีเหตุการณ์อันหนึ่งอันใดเกิดขึ้นที่นายจ้างจำเป็นจะต้องเลิกจ้างลูกจ้างคนใดแล้ว นายจ้างก็ย่อมแสดงเจตนาเลิกจ้างก่อนที่ลูกจ้างจะมีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์ได้เสมอดังเช่นกรณีของโจทก์จำเลยในคดีนี้เป็นต้น ซึ่งมิใช่เป็นเรื่องอันเกี่ยวกับคุณสมบัติของโจทก์แต่อย่างใด
ที่โจทก์อุทธรณ์ว่าตามระเบียบข้อบังคับการทำงานของพนักงานท่าเรือบริษัทไทยเดินเรือทะเล จำกัด (ท่าเรือบางปะกอก) เอกสารหมายจ.6 หมวดที่ 10 ข้อ 10.2 จ.(2) และหมวดที่ 11 ข้อ 11.4(1) ก็ได้กำหนดเกี่ยวกับเลิกจ้างเมื่อพนักงานเกษียณอายุครบหกสิบปี ศาลฎีกาเห็นว่า ตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของพนักงานท่าเรือบริษัทไทยเดินเรือทะเล จำกัด (ท่าเรือบางปะกอก) หมวดที่ 10 ข้อ10.2 (ข)(6) เป็นบทบังคับในกรณีที่มีการเลิกจ้างโดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยเมื่อพนักงานของจำเลยมีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์และในหมวดที่ 11 ข้อ 11.4(1) เป็นเรื่องที่จำเลจะจ่ายเงินบำเหน็จให้แก่พนักงานที่ออกจากงานเมื่อครบเกษียณอายุเมื่อมีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์เท่านั้น มิใช่เป็นบทที่เป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างว่าจำเลยจะจ้างโจทก์ตลอดไปจนกว่าโจทก์จะมีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์แต่อย่างใดอีกเช่นกัน อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน.

Share