คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2835/2529

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำซึ่งต้องห้ามตามบทบัญญัติของ ป.วิ.พ.มาตรา 144 จะต้องเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาอันเกี่ยวกับคดีหรือประเด็นที่ศาลได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งวินิจฉัยชี้ขาดแล้ว โจทก์ขอให้ศาลออกหมายบังคับคดีครั้งแรกมีประเด็นว่า จำเลยผิดนัดเพราะมิได้ชำระเงินงวดเดือนธันวาคม 2525 หรือไม่ โจทก์ขอให้ศาลออกหมายบังคับคดีในครั้งหลังมีประเด็นว่า จำเลยผิดนัดเพราะชำระเงินไม่ตรงกับวันที่ระบุไว้ในสัญญาประนีประนอมยอมความหรือไม่ จึงเป็นคนละประเด็นกัน กรณีจึงไม่ใช่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำไม่ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144.

ย่อยาว

คดีนี้สืบเนื่องจากโจทก์จำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันโดยจำเลยยินยอมชำระเงินให้โจทก์ ผ่อนชำระเป็นรายเดือนทุกวันที่ 1 ของเดือน เริ่มแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2525 ผิดนัดงวดหนึ่งงวดใดยอมให้บังคับคดีสำหรับส่วนที่ค้างทั้งหมด ต่อมาวันที่ 20 ธันวาคม2525 โจทก์ขอให้ศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดีอ้างว่าครบกำหนดชำระเงินตามงวดเดือนธันวาคม 2525 แล้ว จำเลยผิดนัดไม่ชำระศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดีให้ จำเลยยื่นคำร้องว่า จำเลยชำระเงินงวดเดือนธันวาคม 2525 แล้ว ขอให้เพิกถอนหมายบังคับคดี ศาลชั้นต้นนัดพร้อมและสอบถามโจทก์จำเลยแล้ว เห็นว่า จำเลยผิดสัญญาประนีประนอมยอมความ โจทก์มีสิทธิขอให้บังคับคดีได้ จำเลยอุทธรณ์คำสั่งศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ตามคำขอบังคับคดีของโจทก์มีประเด็นว่าจำเลยได้ชำระเงินงวดเดือนธันวาคม 2525 หรือไม่ เมื่อได้ความว่าจำเลยได้ชำระเงินงวดดังกล่าวแก่โจทก์แล้ว ข้อเท็จจริงจึงมิได้เป็นไปตามคำขอของโจทก์ การที่|ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จำเลยผิดนัดเพราะจำเลยชำระเงินไม่ตรงตามวันที่ระบุไว้ในสัญญาประนีประนอมยอมความ เป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นตามคำขอ ไม่ชอบด้วยกฎหมายพิพากษายกคำขอของโจทก์ที่ขอให้ออกหมายบังคับคดี คดีถึงที่สุด
วันที่ 25 พฤษภาคม 2527 โจทก์ยื่นคำขอให้ศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดีอีกโดยอ้างว่าโจทก์ได้รับชำระเงินเพียง 7 งวด แต่จำเลยชำระเงินไม่ตรงตามวันที่ระบุไว้ในสัญญาประนีประนอมยอมความ 6 งวดเป็นการผิดสัญญาประนีประนอมยอมความ ศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดีให้
จำเลยยื่นคำร้องลงวันที่ 14 มิถุนายน 2527 ขอให้เพิกถอนหมายบังคับคดีดังกล่าวอ้างว่าโจทก์ขอให้บังคับคดีโดยอาศัยเหตุและพฤติการณ์เดิมที่ศาลอุทธรณ์ได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว คำสั่งของศาลชั้นต้นไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 144, 148
ศาลชั้นต้นเห็นว่า โจทก์อาศัยเหตุคนละอย่างกับคราวแรกไม่เป็นการซ้ำซ้อนให้ยกคำร้อง
จำเลยอุทธรณ์คำสั่ง
ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้ว พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกา วินิจฉัยในปัญหาตามที่จำเลยฎีกาว่า “…การดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำซึ่งต้องห้ามตามบทบัญญัติของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 144 จะต้องเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาอันเกี่ยวกับคดีหรือประเด็นที่ศาลได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งวินิจฉัยชี้ขาดแล้ว แต่กระบวนพิจารณาที่โจทก์ขอให้ศาลหมายบังคับคดีในครั้งหลังมีประเด็นที่ศาลจะต้องวินิจฉัยและมีคำสั่งว่าจำเลยผิดนัด เพราะชำระเงินไม่ตรงกับวันที่ระบุไว้ในสัญญาประนีประนอมยอมความหรือไม่ คนละประเด็นกับคำขอที่โจทก์ขอให้หมายบังคับคดีครั้งแรก ซึ่งมีประเด็นว่าจำเลยผิดนัดเพราะมิได้ชำระเงินงวดเดือนธันวาคม 2525 หรือไม่ กรณีจึงไม่ใช่เป็นการดำเนินพิจารณาซ้ำ ไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 144
พิพากษายืน”.

Share