คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2068/2529

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ธนาคารจำเลยกำหนดให้ผู้ยื่นใบสมัครเข้าทำงานแสดงรายการในใบสมัครว่าเคยต้องคดีใด ๆ มาก่อนหรือไม่ เพื่อจะได้คัดเลือกผู้ที่มีความซื่อสัตย์หรือไม่มีประวัติด่างพร้อยมาก่อนให้เข้าทำงานกับจำเลย โจทก์ยื่นใบสมัครเข้าทำงานกับจำเลยโดยแสดงข้อความอันเป็นเท็จ ทำให้จำเลยหลงเชื่อคุณสมบัติของโจทก์และยอมรับโจทก์เข้าทำงาน ซึ่งอาจทำให้กิจการของจำเลยได้รับความเสียหาย เมื่อจำเลยทราบความจริงในภายหลังย่อมมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์ได้ การเลิกจ้างเพราะเหตุนี้ไม่ใช่เป็นการเลิกจ้างเพราะโจทก์กระทำผิดในระหว่างที่เป็นลูกจ้างของจำเลย แต่เป็นเหตุที่เกิดขึ้นก่อนที่จำเลยจะรับโจทก์เข้าทำงาน จึงมิใช่เป็นการกระทำผิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583 เมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยมิได้บอกกล่าวล่วงหน้า จึงต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า
จำเลยจ่ายค่าจ้างเดือนละสองครั้งคือทุกวันที่ 15 และวันสิ้นเดือนจำเลยเลิกจ้างโจทก์เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ จึงต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นเวลา 23 วัน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างประจำของจำเลย จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่มีความผิด ไม่บอกกล่าวล่วงหน้า เป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม จำเลยจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์แล้ว ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าเสียหาย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า พร้อมดอกเบี้ยและออกใบสำคัญผ่านงานให้โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะโจทก์ได้ยื่นใบสมัครเข้าทำงานกับจำเลยโดยปกปิดข้อเท็จจริงด้วยการระบุในใบสมัครเข้าทำงานว่า โจทก์ไม่เคยต้องคดีใด ๆ มาก่อนอันเป็นความเท็จ เพราะโจทก์ถูกกรมที่ดินมีคำสั่งให้ออกจากราชการและฟ้องเรียกเงินค่าธรรมเนียมจดทะเบียนจำนองที่ขาดไปคืนจากโจทก์ หากจำเลยทราบความจริงแต่แรกก็จะไม่รับโจทก์เข้าทำงาน การที่จำเลยทราบความจริงภายหลังย่อมมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์ได้ และการกระทำของโจทก์ถือได้ว่ามีพฤติการณ์อันไม่สมควรแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปได้โดยถูกต้องและสุจริต จำเลยจึงเรียกค่าเสียหายและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจากโจทก์ไม่ได้ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยออกใบสำคัญผ่านงานให้โจทก์คำขออื่นให้ยก
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยในปัญหาเรื่องเหตุเลิกจ้างและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าว่า จำเลยเป็นธนาคารซึ่งดำเนินกิจการและธุรกิจด้านการเงิน กิจการของจำเลยจะดำเนินไปด้วยความราบรื่น มั่นคงหรืออยู่ในความเลื่อมใสศรัทธาของประชาชนหรือลูกค้านั้น ย่อมขึ้นอยู่กับความซื่อสัตย์สุจริตและความประพฤติของพนักงานเป็นสำคัญ การที่จำเลยกำหนดให้ผู้ยื่นใบสมัครเข้าทำงานกับจำเลยแสดงรายการในใบสมัครเข้าทำงานว่าเคยต้องคดีใด ๆ มาก่อนหรือไม่ ก็เพื่อจะได้คัดเลือกผู้ที่มีความซื่อสัตย์หรือไม่มีประวัติด่างพร้อยมาก่อนให้เข้าทำงานกับจำเลย เมื่อโจทก์ยื่นใบสมัครเข้าทำงานกับจำเลยโดยแสดงข้อความอันเป็นเท็จ ทำให้จำเลยหลงเชื่อในคุณสมบัติของโจทก์และยอมรับโจทก์เข้าทำงานนั้น อาจทำให้กิจการของจำเลยได้รับความเสียหาย การที่จำเลยทราบความจริงในภายหลังจำเลยย่อมมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์ได้อย่างไรก็ตามการที่จำเลยเลิกจ้างเพราะเหตุที่โจทก์ยื่นใบสมัครเข้าทำงานโดยแสดงข้อความอันเป็นเท็จนั้น ไม่ใช่เป็นการเลิกจ้างเพราะโจทก์กระทำผิดในระหว่างที่เป็นลูกจ้างของจำเลย แต่เป็นเหตุที่เกิดขึ้นก่อนที่จำเลยจะรับโจทก์เข้าทำงาน กรณีจึงไม่ใช่เป็นการกระทำผิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๘๓ เมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้า จำเลยต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า สำหรับจำนวนสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้านั้น ข้อเท็จจริงซึ่งศาลแรงงานกลางรับฟังได้ความว่า จำเลยจ่ายค่าจ้างเดือนละสองครั้งคือทุกวันที่ ๑๕ และวันสิ้นเดือน จำเลยเลิกจ้างโจทก์เมื่อวันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๒ ฉะนั้น จำเลยต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นเวลา ๒๓ วัน
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง

Share