แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ป.พ.พ. มาตรา 68 บัญญัติว่า “ภูมิลำเนาของนิติบุคคลได้แก่ถิ่นอันเป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่หรือถิ่นอันเป็นที่ตั้งที่ทำการ…” และ ป.รัษฎากร มาตรา 8 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “หมายเรียก หนังสือแจ้งให้เสียภาษีอากรหรือหนังสืออื่นซึ่งมีถึงบุคคลใดตามลักษณะนี้ ให้ส่งโดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับหรือให้เจ้าพนักงานสรรพากรนำไปส่ง ณ ภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่ หรือสำนักงานของบุคคลนั้น… ถ้าไม่พบผู้รับ ณ ภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่หรือสำนักงานของผู้รับ จะส่งให้แก่บุคคลใดซึ่งบรรลุนิติภาวะแล้วและอยู่หรือทำงานในบ้านหรือสำนักงานที่ปรากฏว่าเป็นของผู้รับนั้นก็ได้” ตามหนังสือรับรองของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ตั้งแต่ปี 2543 จนถึงปี 2553 จำเลยมิได้จดทะเบียนเลิกกิจการหรือเปลี่ยนแปลงที่ทำการ จึงถือว่าจำเลยยังคงมีภูมิลำเนาอยู่ที่เดิม เมื่อโจทก์ส่งหนังสือแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ให้แก่จำเลยโดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับภายในประเทศไปยังภูมิลำเนาของจำเลยและมีผู้ลงลายมือชื่อรับไว้ในฐานะเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย ซึ่งจำเลยนำสืบยอมรับว่ามีการจ้างเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยประจำบริษัทจำเลยไว้ จึงต้องถือว่าจำเลยได้ทราบหนังสือแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์โดยชอบด้วยมาตรา 8 แล้ว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยชำระหนี้ภาษีอากรค้าง เบี้ยปรับ และเงินเพิ่มเป็นเงิน 3,257,038.52 บาท แก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้จำเลยชำระหนี้ภาษีอากรค้าง เบี้ยปรับและเงินเพิ่มรวม 3,257,038.52 บาท และให้จำเลยชำระค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันฟังเป็นยุติว่า จำเลยถูกเจ้าพนักงานประเมินประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีธุรกิจเฉพาะ ภาษีเงินได้นิติบุคคลหัก ณ ที่จ่าย และภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2535 ถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2536 และรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2536 ถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2537 กล่าวคือ ประการแรก ภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2535 ถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2536 เป็นภาษีพร้อมเบี้ยปรับและเงินเพิ่ม 1,674,258 บาท ตามหนังสือแจ้งภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ 1001081/2/100118 ลงวันที่ 28 เมษายน 2543 ประการที่สอง ภาษีธุรกิจเฉพาะสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2535 ถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2536 สำหรับเดือนภาษีธันวาคม 2535 เป็นภาษีพร้อมเบี้ยปรับเงินเพิ่มและภาษีส่วนท้องถิ่น 890,744 บาท สำหรับเดือนภาษีกุมภาพันธ์ 2536 เป็นภาษีพร้อมเบี้ยปรับเงินเพิ่มและภาษีส่วนท้องถิ่น 211,185 บาท และสำหรับเดือนภาษีมีนาคม 2536 เป็นภาษีพร้อมเบี้ยปรับเงินเพิ่มและภาษีส่วนท้องถิ่น 138,105 บาท ตามหนังสือแจ้งการประเมินภาษีธุรกิจเฉพาะ ที่ 1001081/6/100085 ถึง 87 ลงวันที่ 28 เมษายน 2543 ประการที่สาม ภาษีเงินได้นิติบุคคลหัก ณ ที่จ่าย สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2535 ถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2536 และรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2536 ถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2537 เป็นภาษีและเงินเพิ่ม 100,591.94 บาท ตามหนังสือแจ้งให้นำส่งภาษีเงินได้นิติบุคคลหัก ณ ที่จ่าย ที่ 1001081/2/100119 ลงวันที่ 28 เมษายน 2543 ประการที่สี่ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2535 ถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2536 และรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2536 ถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2537 เป็นภาษีและเงินเพิ่ม 333,140.58 บาท ตามหนังสือแจ้งให้นำส่งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย ที่ 1001081/1/100966 ลงวันที่ 28 เมษายน 2543 ต่อมาวันที่ 26 พฤษภาคม 2543 จำเลยอุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เฉพาะสำหรับภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีธุรกิจเฉพาะ คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์วินิจฉัยให้ยกอุทธรณ์
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า จำเลยได้รับแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์โดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 68 บัญญัติว่า “ภูมิลำเนาของนิติบุคคลได้แก่ถิ่นอันเป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่หรือถิ่นอันเป็นที่ตั้งที่ทำการ…” และประมวลรัษฎากร มาตรา 8 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “หมายเรียก หนังสือแจ้งให้เสียภาษีอากรหรือหนังสืออื่นซึ่งมีถึงบุคคลใดตามลักษณะนี้ ให้ส่งโดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับหรือให้เจ้าพนักงานสรรพากรนำไปส่ง ณ ภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่ หรือสำนักงานของบุคคลนั้น ในระหว่างพระอาทิตย์ขึ้นถึงพระอาทิตย์ตกหรือในเวลาทำการของบุคคลนั้น ถ้าไม่พบผู้รับ ณ ภูมิลำเนา หรือถิ่นที่อยู่หรือสำนักงานของผู้รับ จะส่งให้แก่บุคคลใดซึ่งบรรลุนิติภาวะแล้วและอยู่หรือทำงานในบ้านหรือสำนักงานที่ปรากฏว่าเป็นของผู้รับนั้นก็ได้” ซึ่งทางพิจารณาได้ความว่า ตามหนังสือรับรองของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ตั้งแต่ปี 2543 จนถึงปี 2553 จำเลยมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ เลขที่ 2 หมู่ที่ 7 ซอยเขียวดี ถนนบรมราชชนนี แขวงศาลาธรรมสพน์ เขตทวีวัฒนา กรุงเทพมหานคร มาโดยตลอด และไม่ปรากฏว่าจำเลยจดทะเบียนเลิกกิจการหรือเปลี่ยนแปลงที่ทำการ จึงถือว่าจำเลยยังคงมีภูมิลำเนาอยู่ที่เดิม เมื่อโจทก์ส่งหนังสือแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ เลขที่ สภ.1 (อธ.1)/2/2546 ลงวันที่ 8 มกราคม 2546 ให้แก่จำเลย โดยส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับในประเทศระบุชื่อจำเลยเป็นผู้รับตามภูมิลำเนาของจำเลย และมีผู้ลงลายมือชื่อรับไว้ในฐานะเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2546 โดยจำเลยก็ให้การและนำสืบยอมรับว่า มีการจ้างเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยประจำบริษัทจำเลยไว้ กรณีจึงต้องถือว่าจำเลยได้ทราบหนังสือแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์โดยชอบตามประมวลรัษฎากร มาตรา 8 ในวันที่ 20 มิถุนายน 2546 แล้ว
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ