แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เดิม ท. กับจำเลยเป็นผู้ครอบครองที่ดินพิพาทร่วมกันถือได้ว่าต่างมีสิทธิครอบครองคนละครึ่ง เมื่อ ท. ตายสิทธิครอบครองในส่วนของ ท.ย่อมเป็นมรดกตกทอดแก่ว. ผู้เป็นบุตร แม้ ว. จะมิได้เข้าครอบครองก็ตามก็ถือได้ว่าจำเลยเป็นผู้ครอบครองแทน ว.ตลอดมาการที่ส.ค.1มีชื่อท.ถือสิทธิครอบครองเพียงผู้เดียว ก็จะถือว่า ท. ตลอดทั้งว. ผู้สืบสิทธิทางมรดกมีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทแต่ผู้เดียวหาได้ไม่ เมื่อ ว. มีสิทธิครอบครองเพียงครึ่งหนึ่งแต่ไปขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) สำหรับที่ดินพิพาททั้งแปลงเป็นของ ว. ผู้เดียว จึงไม่ชอบ การจดทะเบียนสิทธิใด ๆ ใน น.ส.3 ก. ที่ทำขึ้นย่อมไม่มีผลในกฎหมายแม้โจทก์ทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทมาจาก ว. โดยจดทะเบียนใน น.ส.3 ก. ก็ตาม ก็ไม่ทำให้ได้สิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทจึงไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยผู้ครอบครองที่ดินพิพาทนั้นอยู่.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดิน น.ส.3 ก. เลขที่ 294เนื้อที่ 1 ไร่ 2 งาน 60 ตารางวา อยู่ที่ตำบลบุ่งคล้า อำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์โดยซื้อมาจากนายวัน จันเกิด เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2525 จำเลยได้อาศัยอยู่ในที่ดินแปลงดังกล่าว เมื่อโจทก์จะเข้าใช้ประโยชน์ในที่ดิน จำเลยไม่ยอมรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและออกไปจากที่ดินของโจทก์ เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย เป็นการละเมิดสิทธิของโจทก์โจทก์ประสงค์ที่จะสร้างตึกแถว แต่ไม่สามารถกระทำได้ ขอให้ศาลบังคับให้จำเลยและบริวารออกไปจากที่ดินตามฟ้องโจทก์ ห้ามเกี่ยวข้องใด ๆ อีกต่อไปและให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายจำนวนเงิน 10,000 บาท และปีต่อไปปีละ 10,000 บาท จนกว่าจำเลยจะออกไปจากที่ดินโจทก์
จำเลยให้การว่า ที่ดินพิพาทตามฟ้องเป็นของจำเลยซึ่งได้รับเป็นมรดกจากบิดามารดา คือ นายจันและนางนาค จันเกิดประมาณ 50 ปี แล้วและจำเลยได้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินแปลงดังกล่าวโดยสงบและเปิดเผย และแสดงเจตนาเป็นเจ้าของในที่ดินแปลงพิพาทจนถึงปัจจุบันโดยไม่มีบุคคลใดมารบกวนสิทธิของจำเลย นายวัน จันเกิด ไม่ใช่เจ้าของที่ดินและไม่เคยครอบครองหรือเกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาท จึงไม่มีสิทธิให้เจ้าพนักงานที่ดินออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์เป็นชื่อของตนได้ และไม่มีสิทธิที่จะนำที่ดินพิพาทของจำเลยไปขายให้โจทก์ การซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างนายวันจันเกิด กับโจทก์จึงไม่มีผลผูกพันที่ดินพิพาทและตัวจำเลย จำเลยและบุตรหลานได้ปลูกสร้างบ้านเรือนในที่ดินพิพาทมาประมาณ 50 ปีแล้ว เป็นการครอบครองทรัพย์สินของตนเอง มิได้ละเมิดต่อโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า คดีมีปัญหาว่า โจทก์หรือจำเลยมีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท ปัญหานี้ข้อเท็จจริงที่คู่ความนำสืบรับกันและไม่โต้เถียงกันฟังได้ว่า เดิมทีนายทองซึ่งเป็นบิดานายวันและจำเลยซึ่งเป็นน้องนายทองได้สร้างเรือนคนละหลังอยู่ในที่ดินพิพาท เมื่อประมาณ14-15 ปี ที่แล้วมานายทองถึงแก่กรรม บ้านเรืองของนายทองได้ผุพังไป ส่วนนายวันซึ่งอายุเพียง 7 ปี ในตอนนั้นนายปั่นได้รับไปเลี้ยและไม่ได้กลับเข้าไปอยู่ในที่พิพาทอีกเลย ต่อมานายวันทราบว่านายทองบิดาได้แจ้งการครอบครองที่ดินตามแบบ ส.ค.1 ไว้ จึงไปยื่นคำร้องต่อนายอำเภอหล่มสักให้ออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ให้โดยอ้างว่าได้ครอบครองทำประโยชน์ต่อจากนายทองบิดาซึ่งนายบุญถม กึนสีกำนันตำบลบุ่งคล้า อำเภอหล่มสัก ได้รับรองแนวเขต และรับรองว่านายวันได้ครอบครองทำประโยชน์ตลอดมา ทางราชการจึงได้ออกหนังสืบรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) ให้นายวัน นายวันได้ขายสิทธิครอบครอง น.ส.3 ก. ดังกล่าวหรือที่ดินพิพาทให้โจทก์ จำเลยอยู่ในที่พิพาทตลอดมาตั้งแต่อายุ 20 ปี จนปัจจุบันอายุ 70 ปี ส่วนนายวันไม่เคยเข้าครอบครอง พิเคราะห์แล้วโจทก์เบิกความว่า ก่อนซื้อที่ดินพิพาท โจทก์ได้ไปพบจำเลยและสอบถามจำเลย จำเลยบอกว่าอยู่ในที่ดินพิพาทโดยอาศัยนายทอง โจทก์บอกว่าจะซื้อที่ดินแปลงนี้ จำเลยก็ว่าแล้วแต่นายวันเพราะที่ดินเป็นของนายวัน จำเลยเบิกความเป็นพยานตอบคำถามค้านของทนายโจทก์ว่า จำเลยไม่ยอมให้ที่ดินพิพาทแก่นายวันบุตรนายทอง เพราะจำเลยไม่ชอบนายวัน และเมื่อกำนันไปรังวัดที่ดกินพิพาทเพื่อออก ส.ค.1 จำเลยไม่ได้คัดค้านการที่ออก ส.ค.1 เป็นชื่อของนายทองคนเดียว เพราะว่านายทองเป็นพี่ชายจำเลย และจำเลยคิดว่านายทองจะแบ่งที่ดินพิพาทให้จำเลย นายปั่น พรมพ้วย พยานจำเลยซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินข้างเคียงเบิกความว่า ที่ดินพิพาทในคดีนี้ พยานไม่ทราบว่าเป็นของใครแน่นอนแต่ทราบว่านายทองกับจำเลยอยู่ด้วยกันตลอดมา นายทองอยู่บ้านเดียวกับจำเลยเป็นครอบครัวเดียวกัน คำเบิกความของพยานจำเลยดังกล่าวเจือสมคำเบิกความของโจทก์ เชื่อได้ว่า เดิมนายทองกับจำเลยเป็นผู้ครอบครองที่ดินพิพาทร่วมกันจึงถือได้ว่าต่างมีสิทธิครองครองที่ดินพิพาทคนละครึ่ง เมื่อนายทองตายสิทธิครอบครองในส่วนของนายทองย่อมเป็นมรดกตกทอดแต่นายวันผู้เป็นบุตร และแม้นายวันจะมิได้เข้าครอบครองเลยก็ตามก็ถือได้ว่าจำเลยผู้ถือสิทธิครองครองร่วมอยู่นั้นเป็นผู้ครอบครองที่ดินพิพาทแทนนายวันตลอดมา อย่างไรก็ตามแม้ ส.ค. 1จะมีชื่อนายทองถือสิทธิครองครองเพียงผู้เดียว ก็จะถือว่านายทองตลอดทั้งนายวันผู้สืบสิทธิทางมรดกมีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทแต่ผู้เดียวหาได้ไม่ เมื่อนายวันมีสิทธิครองครองที่ดินพิพาทเพียงครึ่งหนึ่ง แต่ไปขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส.3 ก.) สำหรับที่ดินพิพาททั้งแปลงเป็นของนายวันแต่เพียงผู้เดียว จึงเป็นการไม่ชอบ การจดทะเบียนสิทธิใด ๆ ในน.ส.3 ก. ที่ทำขึ้นย่อมไม่มีผลในกฎหมาย แม้โจทก์ทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทมาจากนายวัน และจดทะเบียนใน น.ส.3 ก.ก็ตาม ก็ไม่ทำให้ได้สิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท จึงไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยผู้ครอบครองที่ดินพิพาทนั้นอยู่ที่ศาลทั้งสองพิพากษายกฟ้องโจทก์ ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.