คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2820/2531

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยเป็นตัวแทนของบริษัท ซ. ซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ต่างประเทศจำเลยได้ทำสัญญาว่าจ้างโจทก์แทนบริษัทดังกล่าวซึ่งเป็นนายจ้างเพื่อส่งโจทก์ไปทำงานที่ต่างประเทศ จำเลยย่อมอยู่ในฐานะเป็นนายจ้างด้วย การที่จำเลยได้รับอนุญาตให้เป็นผู้จัดหาคนงานตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 หาทำให้ฐานะของจำเลยเปลี่ยนไปโดยไม่เป็นนายจ้างของโจทก์ตามกฎหมายไม่เมื่อบริษัท ซ. ผิดสัญญาไม่สามารถให้จำเลยทำงานต่อไปจนครบกำหนดตามสัญญาและโจทก์มาฟ้องจำเลยซึ่งอยู่ในฐานะเป็นนายจ้างด้วยเพื่อเรียกเงินค่าบริการและค่าใช้จ่ายที่ให้จำเลยไปคืน จึงเป็นคดีพิพาทและหน้าที่ตามสัญญาจ้างแรงงานหรือข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 มาตรา 8(1) อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแรงงานกลาง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นตัวแทนของบริษัทไซเพม เอจี จำกัดซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ที่เมืองซูริค ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ในการจัดหาคนงานไปทำงานต่างประเทศจำเลยได้ทำสัญญาจัดหางานและสัญญาปฏิบัติงานแทนบริษัทดังกล่าวจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างไปทำงานที่ต่างประเทศ ต่อมาในระหว่างที่ยังไม่ครบกำหนดระยะเวลาการจ้างบริษัทนายจ้างได้เลิกจ้างโจทก์โดยอ้างเหตุว่าหมดงานแล้ว เป็นการผิดสัญญาทำให้โจทก์เสียหาย จำเลยในฐานะตัวแทนของบริษัทดังกล่าวและในฐานะส่วนตัวต้องรับผิดต่อโจทก์ ขอให้พิพากษาให้จำเลยใช้เงินรวมทั้งสิ้น 45,831 บาท แก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่ได้เป็นลูกจ้างของจำเลยเนื่องจากจำเลยเป็นเพียงได้รับมอบอำนาจจากบริษัทไซเพม เอจี จำกัดซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ต่างประเทศ ให้เป็นผู้แทนในการจัดส่งคนงานไปทำงานต่างประเทศ
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 12,500 บาทแก่โจทก์ คำขอนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “จำเลยอุทธรณ์ว่า สัญญาจัดหางานเพื่อให้คนงานไปทำงานต่างประเทศ ซึ่งจำเลยทำกับโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.2 แผ่นแรก มีข้อความระบุไว้ที่ตอนต้นของสัญญาว่า”สัญญาจัดหางานเพื่อให้คนหางานไปทำงานในต่างประเทศตามมาตรา 23และมาตรา 47 แห่งพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางานพ.ศ. 2528” เป็นสัญญาจัดหางานตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2518 มิใช่เป็นสัญญาจ้างแรงงานตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 575 ที่โจทก์ฟ้องเรียกเงินค่าบริการและค่าใช้จ่ายคืนเป็นคดีพิพาทเกี่ยวด้วยสิทธิหรือหน้าที่ตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 โดยตรงมิใช่เป็นคดีพิพาทเกี่ยวด้วยสิทธิหรือหน้าที่ตามสัญญาจ้างแรงงานโจทก์จะนำคดีมาฟ้องยังศาลแรงงานไม่ได้ พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงได้ความตามคำวินิจฉัยของศาลแรงงานกลางว่า จำเลยเป็นตัวแทนของบริษัทไซเพม เอจี จำกัด ซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ต่างประเทศ จำเลยได้ทำสัญญาว่าจ้างโจทก์แทนบริษัทดังกล่าวซึ่งเป็นนายจ้าง เพื่อส่งโจทก์ไปทำงานที่ต่างประเทศ เห็นว่า ตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน 2515 ข้อ 2 ได้ให้ความหมายของคำว่า “นายจ้าง” ไว้ว่า หมายความว่า ผู้ซึ่งตกลงรับลูกจ้างเข้าทำงานโดยจ่ายค่าจ้างให้และหมายความรวมถึงผู้ซึ่งได้รับมอบหมายให้ทำงานแทนนายจ้าง เมื่อจำเลยเป็นตัวแทนผู้ได้รับมอบหมายจากบริษัทไซเพม เอจี จำกัด ผู้เป็นนายจ้างให้ทำสัญญาจ้างโจทก์ไปทำงานกับริษัทดังกล่าว จำเลยจึงอยู่ในฐานะเป็นนายจ้างด้วย การที่จำเลยได้รับอนุญาตให้เป็นผู้จัดกาคนงานตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 ก็หาทำให้ฐานะของจำเลยเปลี่ยนไปโดยไม่เป็นนายจ้างของโจทก์ตามกฎหมายไม่เมื่อบริษัทไซเพม เอจี จำกัด ผิดสัญญาไม่สามารถให้จำเลยทำงานต่อไปจนครบกำหนดตามสัญญา และโจทก์มาฟ้องจำเลยซึ่งอยู่ในฐานะเป็นนายจ้างด้วยเพื่อเรียกเงินค่าบริการและค่าใช้จ่ายที่ให้จำเลยไปคืน จึงเป็นคดีพิพาทด้วยสิทธิและหน้าที่ตามสัญญาจ้างแรงงาน หรือข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 8 (1)อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแรงงานกลาง อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
จำเลยอุทธรณ์อีกข้อหนึ่งว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 824 บัญญัติว่า “ตัวแทนคนใดทำสัญญาแทนตัวการซึ่งอยู่ต่างประเทศและมีภูมิลำเนาในต่างประเทศ ท่านว่าตัวแทนคนนั้นจะรับผิดตามสัญญานั้นแต่ลำพังตนเอง แม้ทั้งชื่อของตัวการจะได้เปิดเผยแล้ว เว้นแต่ข้อความแห่งสัญญาจะแย้งกันกับความรับผิดของตัวแทน” ซึ่งเมื่อพิจารณาสัญญาจัดหางานเพื่อให้คนหางานไปทำงานต่างประเทศและสัญญาจ้างแรงงานตามเอกสารหมาย จ.1และ จ.2 แล้ว ตามสัญญาข้อ 20 มีข้อความว่า “หากมีกรณีพิพาทใด ๆอันเกิดขึ้นเกี่ยวเนื่องกับสัญญาฉบับนี้ ให้ส่งเรื่องเพื่อการประนีประนอมการชี้ขาดตามครรลองของกฎหมายแรงงานในประเทศนั้น ๆการตัดสินชี้ขาดให้ถือว่าสิ้นสุดและมีผลบังคับผูกพันคู่สัญญาทั้งสองฝ่าย” อันเป็นเงื่อนไขให้มีการตีความตามกฎหมายของประเทศนั้นซึ่งหมายถึงประเทศที่โจทก์ไปทำงาน จากข้อสัญญาดังกล่าวถือได้ว่าตัวการมีเจตนาที่จะให้สัญญามีผลผูกพันตัวการโดยตรง มิได้มีเจตนาจะให้จำเลยในฐานะตัวแทนรับผิดตามสัญญาด้วย ข้อความในสัญญาจึงแย้งกับความรับผิดของตัวแทน โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยให้รับผิดในฐานะส่วนตัว ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ข้ออุทธรณ์ของจำเลยดังกล่าว เป็นข้อที่จำเลยไม่ได้ให้การต่อสู้ไว้ จึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลแรงงานกลาง ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522มาตรา 31 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย”
พิพากษายืน

Share